วันที่ 31 พฤษภาคม – 3 มิถุนายน 2567 ณ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จำนวน 30 คน
การอบรมครั้งนี้ได้พาแกนนำเยาวชนจากหลายหลากพื้นที่มาเรียนรู้พื้นที่หาดใหญ่ สงขลา โดยมีเครือข่ายของเยาวชน MIDL for Inclusive Cities สงขลาและเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น มาร่วมส่งต่อบทเรียนและการดำเนินงานสื่อสารที่ผ่านมา ในวันแรกของการอบรม ทีมสมรมย์ ซิตี้ ได้พาเดินเมืองเรียนรู้เรื่องช่างซ่อมใต้สะพาน (ซ่อม สรรค์ เมือง) ซึ่งเป็นการนำเรื่องราวของช่างซ่อมที่รวมตัวกันเป็นชุมชนมานำเสนอให้ได้เห็นคุณค่าของพวกเขา และเป็นการเรียนรู้วิถีชีวิตและความสำคัญของอาชีพช่างซ่อม รวมถึงการถอดบทเรียนสร้างการสื่อสารของกลุ่มสมรมย์ซิตี้ ร่วมพูดคุยถึงนิทรรศการซ่อม สรรค์ เมือง พร้อมกับ Workshop ที่ขั้นหนังสือจากเศษผ้าที่มาจากพี่ ๆ ช่างซ่อม
.
ช่วงบ่าย มาเรียนรู้เครือข่าย “จะนะรักษ์ถิ่น” ทำความรู้จักกับอาชีพ ดูหลำ หรือคนฟังเสียงปลา และการสื่อสารของชุมชนผ่านกระบวนการ Gyotaku เป็นการพิมพ์ลายจากปลาในพื้นที่ของจะนะ โดยใช้ปลาที่จับได้จากการประมงและใช้หมึกจากธรรมชาติเพื่อพิมพ์เอกลักษณ์ของปลา เป็นอีกหนึ่งการสื่อสารของกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น ที่จะสื่อสารกับผู้คนภายนอกว่า พื้นที่และทะเลจะนะอุดมสมบูรณ์เพียงใด และได้ชวนเยาวชนถอด Key Take Away สิ่งสำคัญในการสื่อสารของทั้ง 2 พื้นที่ เพื่อให้ได้เห็นว่า สิ่งสำคัญที่ควรยึดถือตลอดการสื่อสารมีอะไรบ้าง
.
และอีก 2 วันที่เหลือ แกนนำเยาวชนได้ออกแบบโครงการการสื่อสารของตัวเอง ผ่านการนำเครื่องมือที่ได้ และร่วมกับออกแบบเสนอแนะให้กันและกัน โดยมีทั้งหมด 8 โปรเจ็กต์ 8 พื้นที่ในระยะ 3 เดือนหลังจากนี้ ได้แก่ พื้นที่หาดใหญ่ พื้นที่เมืองปัตตานี พื้นที่โคราช พื้นที่อุดรธานี พื้นที่ระยอง พื้นที่อยุธยา พื้นที่แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน พื้นที่ อ.กรงปินัง จ.ยะลา เพื่อให้แกนนำเยาวชนได้นำทักษะ กระบวนการ และเครื่องมือจากการเข้าร่วมหลักสูตรไปปรับใช้กับพื้นที่ของตนเอง