กิจกรรม “อาหารจานชุมชน” ตามหาคนรุ่นใหม่ร่วมสร้างสรรค์จานอาหาร พบปะ แลกเปลี่ยน เชื่อมโยงสู่มิติการดำรงอยู่ร่วมกับชุมชน ต่อยอดมิติการสื่อสารขับเคลื่อนงานของคนรุ่นใหม่คืนถิ่น
.
มูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน(สสย.)ร่วมกับมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม(มอส.) จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ “อาหารจานชุมชน” ระหว่างวันที่ 9-11 พฤศจิกายน 2565 ณ พันพิศาข์รีสอร์ท ต.สามชุก อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี
กิจกรรมครั้งนี้เป็นการต่อยอดการทำงานกับเครือข่ายภาคกลางในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีและจังหวัดใกล้เคียงโดยเน้นกลุ่มเป้าหมายไปที่เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีอายุตั้งแต่ 20-35 ปีโดยประมาณ มาร่วมกันสร้างสรรค์จานอาหารจากความหลากหลายทั้งในด้านผู้คน ถิ่นที่อยู่ ภาษา วัฒนธรรม ชาติพันธุ์ ผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างคนรุ่นใหม่ด้วยกันเองจากประสบการณ์เดิมที่เคยพบเจอด้านอาหารกับประสบการณ์ใหม่ที่แต่ละคนได้รับระหว่างกิจกรรม ผ่านเครื่องมือการเรียนรู้แบบ Young Food การขับเคลื่อนสื่อสารประเด็นความมั่นคงทางอาหารโดยเยาวชนใน 3 ใจความสำคัญหลักคือ Food Menu(นิเวศอาหาร) Bridge(การเชื่อมร้อยผู้คนระหว่างวัย) และ Food Cafe(พื้นที่ปะทะสังสรรค์ของคนทุกวัย)
.
กิจกรรมมีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 20 คน เป็นผู้เข้าร่วมทั้งจากจังหวัดสุพรรณบุรีและจังหวัดใกล้เคียงได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดราชบุรี กรุงเทพมหานคร โดยผู้เข้าร่วมเป็นคนที่ทั้งอยู่ในวงการอาหารตั้งแต่วงการผลิต วงการประกอบอาหาร วงการจำหน่าย รวมถึงกลุ่มที่ไม่ได้อยู่ในวงการอาหารแต่มีความสนใจในด้านอาหารเช่นกัน โดยมีวิทยากรคือคุณทิวา สัมฤทธิ์ หรือเชฟทิวา เจ้าของร้านอาหาร Decandra ต.เขาพระ อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในวงการอาหาร เส้นทางสู่การเป็นเชฟ และความมุ่งมั่นตั้งใจในการกลับมาสร้างตัวตนในธุรกิจร้านอาหารที่บ้านเกิด กับการอยู่ร่วมกับชุมชนและสนับสนุนเกื้อกูลกันอย่าง “อยู่รอด อยู่ร่วม” รวมทั้งแนวคิดการนำความเป็นท้องถิ่นมาสร้างสรรค์จานอาหารอย่างร่วมสมัย
.
ในวันสุดท้ายของกิจกรรม เป็นกระบวนการเชื่อมโยงชุดประสบการณ์ของผู้เข้าร่วมเข้ากับประเด็นของ Young Food ว่าด้วยเรื่องอาหาร 1 จานมีความเกี่ยวข้องกับใครบ้าง ผ่านโจทย์ที่แต่ละคนรับบทเป็นตัวละครต่างๆในระบบอาหาร ตั้งแต่คนผลิต พ่อค้าคนกลาง ผู้ประกอบการ ผู้บริโภค บริษัทรายใหญ่ การเมืองท้องถิ่น จนถึงรัฐบาล และความสำคัญของสื่อต่อการปลูกฝังแนวคิดเรื่องการบริโภคของผู้คนในสังคม ซึ่งผู้เข้าร่วมได้ร่วมกันวิเคราะห์บทบาทและอำนาจของตัวละครเหล่านี้ รวมถึงหาวิธีการที่จะทำให้ผู้บริโภคหันมาใส่ใจถึงนิเวศของอาหารหนึ่งจานที่เชื่อมโยงกับชุมชน ผู้คนและสังคม เพื่อบริโภคอย่างปลอดภัย เป็นธรรม และยั่งยืน ก่อนจะร่วมกันวางแผนนำเครื่องมือที่ได้เรียนรู้ไปพัฒนาต่อยอดกับพื้นที่การทำงานของตนและกิจกรรมที่เพื่อนเครือข่ายอาจได้มีร่วมกันในภายภาคหน้าต่อไป
.
กิจกรรมครั้งนี้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากทุกฝ่าย เนื่องจากเป็นการทำงานที่เน้นกลุ่มผู้เข้าร่วมกลุ่มใหม่ ไม่เคยทำกิจกรรมร่วมกันมาก่อน ผู้เข้าร่วมมีความสนใจเป็นอย่างมากและพร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำกระบวนการไปต่อยอดสร้างสรรค์กับการทำงานในพื้นที่จังหวัดของตนและเชื่อมร้อยเครือข่ายการทำงานเรียนรู้ร่วมกันไม่ว่าจะเป็นประเด็นด้านอาหาร วัตถุดิบ หรือการอยู่รอดอยู่ร่วมกับผู้คนในชุมชน
![](https://www.childmedia.net/wp-content/uploads/2024/12/31-4-1024x683.jpg)
![](https://www.childmedia.net/wp-content/uploads/2024/12/32-4-1024x683.jpg)
![](https://www.childmedia.net/wp-content/uploads/2024/12/33-4-1024x683.jpg)
![](https://www.childmedia.net/wp-content/uploads/2024/12/34-4-1024x683.jpg)
![](https://www.childmedia.net/wp-content/uploads/2024/12/35-1-1024x683.jpg)
![](https://www.childmedia.net/wp-content/uploads/2024/12/36-1-1024x768.jpg)