นิทานมีความเป็นมาที่ยาวนานร่วมกับอารยธรรมของมนุษย์ โดยในระยะแรกนิทานเป็นเรื่องเล่าปากต่อปาก มีเนื้อหาสะท้อนค่านิยม สังคม วัฒนธรรมของมนุษย์ผ่านการเล่าเรื่องทั้งเรื่องเสมือนจริงและเรื่องแฟนตาซี นิทานจึงมีพัฒนาการ ความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเพื่อสะท้อนอารยธรรมของมนุษย์ทั่วโลก
การเกิดขึ้นของนิทานและวรรณกรรมเด็กหลังจากการรวบรวมนิทานในยุโรปช่วงศตวรรษที่ 18 ส่งผลให้นิทานกลายมาเป็นสื่อทางวัฒนธรรมที่สำคัญ และถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายในวัฒนธรรมอื่น ๆ นอกยุโรป ทั้งในสหรัฐอเมริกา และเอเชีย ซึ่งมีการดัดแปลงเนื้อเรื่องและตัวละครของนิทานและวรรณกรรมเหล่านี้เพื่อปลูกฝังและสร้างค่านิยมทางวัฒนธรรมของตนลงไป
ความสำเร็จของการรวบรวมนิทานยุโรปได้ปรากฏชัดที่สุดในแผ่นดินสหรัฐอเมริกา เมื่อดิสนีย์ได้นำเทพนิยายเหล่านั้นมาสร้างเป็นการ์ตูนของตนเอง เช่น กษัตริย์อาร์เธอร์ เทพนิยายเจ้าหญิงต่าง ๆ ทั้งซินเดอเรลล่า สโนว์ไวท์ เจ้าหญิงเงือกน้อย ที่ถูกปรับให้เนื้อหามีความแฟนตาซี และเป็นอเมริกันมากขึ้น ซึ่งความสำเร็จของดิสนีย์เห็นได้ชัดจากการเรียกนิทานของดิสนีย์ว่าเทพนิยายดิสนีย์ หรือการเรียกเจ้าหญิงในเทพนิยายว่าเป็นเจ้าหญิงดิสนีย์จนสามารถสร้างแบรนด์ตัวละครของตนเองออกมาได้โดยมีพื้นฐานจากบรรดานิทานยุโรป
นอกจากดิสนีย์แล้วตัวละครและเรื่องราวในนิทานยุโรปยังไปปรากฏอยู่บนสื่อ หรือการ์ตูนอื่น ๆ เช่น บาร์บี้ การ์ตูนญี่ปุ่นต่าง ๆ เช่น เมลเฮฟเว่น ขบวนการนักรบ 12 ราศี ซึ่งการรับเอานิทานเหล่านี้ไปใช้ก็ได้มีการสอดแทรกวัฒนธรรมและค่านิยมของประเทศนั้น ๆ ลงไปด้วยเสมอ เช่น บุคลิกของบาร์บี้ที่เป็นสาวอเมริกันยุคใหม่ หรือชื่อของตัวละครที่ถูกเปลี่ยนเป็นภาษาญี่ปุ่น เป็นต้น
เราจะเห็นได้ชัดว่าการปรากฏของตัวละครหรือนิทานในการ์ตูนและสื่อต่าง ๆ นั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาตลอด นอกจากการ์ตูนหรือสื่อเด็กที่มุ่งสื่อสารกับเด็กโดยตรงแล้ว ในห้วงที่เกิดวัฒนธรรมป๊อบหรือวัฒนธรรมสมัยนิยมในปัจจุบันได้มีการเอานิทานเหล่านี้มาตีความใหม่สร้างเป็นภาพยนตร์และทีวีซีรีส์ตะวันตก เช่น Grimm, Maleficent, Snow White Into the Woods, Once up on a time ซึ่งในหลายเรื่องมีการนำเสนอมุมมองที่ต่างออกไปจากต้นฉบับอย่างมาก รวมไปถึงซีรีส์ตะวันออกอย่างเรื่อง It’s okay to not be okay ที่มีการผสมผสานระหว่างนิทานคลาสสิคและนิทานที่สร้างขึ้นใหม่ในเรื่องด้วย เนื่องจากนิทานเหล่านี้เป็นนิทานที่คนส่วนใหญ่รู้จัก เข้าถึงได้ไม่ยาก การตีความนิทานใหม่ยังทำให้นิทานปรับตัว สะท้อนค่านิยม และภาพของสังคมที่ไม่หยุดนิ่ง ทั้งนี้ในการตีความใหม่ของนิทาน นิทานกลับไปมีความสมจริงและมีเนื้อหาที่เป็นผู้ใหญ่มากขึ้นเสมือนแรกเริ่มที่นิทานได้กำเนิดมาบนโลกนี้ร่วมกับอารยธรรมของมนุษย์
แม้นิทานจะมีการพัฒนาไปอยู่ในสื่อต่าง ๆ มากขึ้น แต่ทว่าการอ่านหรือเล่านิทานนั้นก็เป็นสิ่งพื้นฐานที่ขาดไม่ได้สำหรับชีวิตของมนุษย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเด็ก เช่น หมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ และเพจเลี้ยงลูกต่าง ๆ เช่น เข็นเด็กขึ้นภูเขา ตามใจนักจิตวิทยาเองก็ได้ออกมาให้ข้อมูลแก่พ่อแม่ผู้ปกครองอยู่เป็นระยะถึงการอ่านนิทานให้เด็ก ๆ ฟัง เพื่อเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้แก่เด็ก ๆ และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเด็ก ๆ และผู้ปกครอง
ดังที่กล่าวไปแล้วว่านิทานเป็นส่วนหนึ่งของอารยธรรมและวัฒนธรรมของมนุษย์ เมื่อเกิดวัฒนธรรมแบบใหม่ร่วมสมัย นิทานก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งหรือเป็นสื่อสะท้อนวัฒนธรรมป๊อบร่วมสมัย จากการตีความนิทานใหม่ไปปรากฏบนสื่อต่าง ๆ ที่หลากหลายมากขึ้น และไม่ได้สื่อสารหรือเป็นแค่เรื่องสำหรับเด็กอีกต่อไป นิทานได้กลับไปเป็นเรื่องราวสะท้อนสังคมเหมือนเมื่อครั้งที่ได้ถือกำเนิดมาพร้อมอารยธรรมมนุษย์อีกครั้ง แน่นอนว่าการตีความนิทานใหม่หรือการทำให้นิทานกลับมาเป็นของคนทุกวัยตามกระแสวัฒนธรรมป๊อบจนเป็นกระแสนิทานเช่นนี้ ก็อาจนำมาสู่ความเห็นที่หลากหลายต่อตัวนิทานเช่นกันว่านิทานควรจะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาหรือไม่ นิทานที่ถูกตีความใหม่ควรเคารพต้นฉบับมากแค่ไหน นิทานยังจำเป็นต่อชีวิตพวกเราหรือไม่ท่ามกลางสื่อที่หลากหลาย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้อ่านแล้วว่าจะมองนิทานอย่างไร
อ้างอิง
https://www.pookpress.co.uk/project/fairy-tales-from-around-the-world/
https://www.facebook.com/showmetheseries/photos/pcb.153471023007366/153468029674332/?type=3&theater
ภาพประกอบปก