บันทึกจากพัทลุงยิ้มถึงปีนัง เมืองมรดกโลก

งานพัทลุงยิ้ม

การเดินทางศึกษาดูงานครั้งนี้เปรียบเหมือนหนังสั้นที่วางโครงเรื่องและเขียนบทตอนต้นไว้แล้ว หลังจากนั้นก็ปล่อยไว้ให้คนดูสร้างบทเองตามเรื่องราวที่ได้พบเจอ พัทลุงยิ้มตอน”เรียนนอกห้อง คิดนอกกรอบ” ให้ภาพงานกิจกรรมเด็กและเยาวชนที่น่าประทับใจ เราได้เห็นงานใหญ่ระดับจังหวัดที่เด็กและเยาวชนเป็นผู้จัดอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะโผล่ไปที่ซุ้มกิจกรรมไหนทั้งงานเวที งานลงทะเบียน งานสวัสดิการ เราจะเห็นเยาวชนเป็น staff เป็นหัวหน้าซุ้มเป็นกำลังหลักที่ทำให้งานทุกส่วนดำเนินไหลเลื่อนไปได้ตลอดทั้งวัน แม้งานจะหนักเพราะมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมนับพันคนแต่ดูเหมือนเด็กๆจะสนุกจนลืมเหนื่อย เมื่อมีโอกาส(…ตอนเข้าห้องน้ำเวลาอื่นเด็กๆ ดูยุ่งมาก)เราได้คุยกับเยาวชนหญิงกลุ่มยังยิ้มที่เดินทางไกลมาจากนราธิวาส เปิดซุ้มกิจกรรมเล่าเรื่องป่าฮาลา-บาลาให้เพื่อนเยาวชนพัทลุงได้รู้จัก เราจึงได้รู้ว่าเจ้าหน้าที่น้อยประจำซุ้มได้กินข้าวเที่ยงตอน 4 โมงเย็น…”ไม่หิวเหรอ”…”เด็กๆ มาทำกิจกรรมเต็มซุ้มตลอดลืมหิวเลยค่ะ”. .”สนุกมั๊ยคะ”..”สนุกมากค่ะ”..เยาวชนหญิงยังยิ้มได้..สมชื่อกลุ่ม

นอกจากการเห็นภาพงานระดับจังหวัดที่ขับเคลื่อนโดยเด็กแล้ว เรายังเห็นมือของผู้ใหญ่หลายส่วนที่เข้ามาช่วยโอบอุ้ม ทั้งจากชุมชน จากเทศบาล จากอบต. จากมูลนิธิ จากหน่วยราชการ จากเพื่อนภาคีเครือข่ายดีจังที่เดินทางไกลมาจากเพชรบุรีและที่อื่นๆ ได้มีโอกาสคุยกับพมจ.หนึ่งในผู้ร่วมจัดด้วยการผนวกท้ายชื่องานว่า งานพัทลุงยิ้ม-วันเยาวชนแห่งชาติ ด้วยเหตุผลที่ว่า …ก็ในเมื่อกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กเยาวชนเหมือนกัน ทำไมจึงต้องจัดแยกกัน เอา 2งานมารวมกันไม่ดีกว่าหรือ.. หัวหน้าพมจ.พัทลุงยังบอกอีกด้วยว่า เป็นเรื่องยากที่เด็กเยาวชนและเครือข่ายจากอำเภอนอกๆ จะสามารถเข้ามาร่วมงานที่จัดในเมืองได้อย่างพัทลุงยิ้ม

วันรุ่งขึ้นที่สวนยางยิ้ม นอกจากอาหารเช้าพื้นบ้านแสนอร่อยแล้ว ป้าป้อมได้พาพวกเราย้อนอดีตกลับไปในวันวานเล่าถึงจุดเริ่มต้นและการเติบโตของกิจกรรมเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนบ้านเกาะทัง ตำบลนาโหนด ทำให้เราพบว่าป้าป้อมเดินทางยาวนานมาเป็นเวลากว่า 15 ปี ที่กิจกรรมจากใต้ถุนบ้านสวนยางยิ้มค่อยๆ เติบใหญ่อย่างเป็นธรรมชาติแต่ไม่หยุดยั้งและยังคงขยายตัวต่อไปอีก ด้วยหัวใจที่มุ่งมั่นและพลังแรงผลักดันขับเคลื่อนของป้าป้อมและทีมงาน (…เราได้พบ 2 คน คือครูแจ้และป้าเหน่ง)

วันนั้นเราจากสวนยางยิ้มมาด้วยความรู้สึกดีๆ และด้วยความเข้าใจในพัทลุงยิ้มอย่างคนที่ได้มาสัมผัส”ของจริง”ไม่ใช่ความเข้าใจจากการอ่านรายงานเหมือนที่เคย แถมด้วยลองกองถุงใหญ่น้ำใจไมตรีจากสวนยางยิ้มเป็นเสบียงกรังในการเดินทางต่อไปยังเมืองปีนัง

George Town ปีนังเมืองมรดกโลก

เราเริ่มต้นทำความรู้จักกับ George Town ด้วยการเดินชมเมืองบนถนนเพียงเส้นเดียวก็สามารถฉายภาพเมืองแห่งความหลากหลายได้ชัดเจน เราได้เห็นวิถีชีวิตของผู้คนต่างเชื้อชาติ เห็นพิธีกรรมที่สะท้อนความเชื่ออันแตกต่าง รวมไปถึงอาคารศาสนสถานทั้งโบสถ์คริสต์ สุเหร่ามุสลิม ศาสนสถานของฮินดู และศาลเจ้าของชาวจีน เรียงรายอยู่บนถนนเส้นเดียวกันจากการเดินเท้าด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 กลิ่นเครื่องเทศร้อนแรงในย่านLittle Indiaกลิ่นควันธูปโขมงจากกระถางทองเหลืองใบใหญ่หน้าศาลเจ้าจีน กลิ่นกำยานเครื่องหอมบูชาเทพเจ้าของชาวฮินดู(…เราสูดดมกลิ่นต่างๆตลอดทางและแอบตั้งชื่อในใจว่าGeorge TownAroma) ทำให้เราตระหนักได้ว่าวัฒนธรรมวิถีชีวิตของคนปีนังนั่นเองคือมรดกสำคัญตกทอดจากบรรพบุรุษที่เดินทางไกลมาตั้งรกรากในปีนัง

เราเริ่มต้นทำความรู้จักกับ George Town ด้วยการเดินชมเมืองบนถนนเพียงเส้นเดียวก็สามารถฉายภาพเมืองแห่งความหลากหลายได้ชัดเจน เราได้เห็นวิถีชีวิตของผู้คนต่างเชื้อชาติ เห็นพิธีกรรมที่สะท้อนความเชื่ออันแตกต่าง รวมไปถึงอาคารศาสนสถานทั้งโบสถ์คริสต์ สุเหร่ามุสลิม ศาสนสถานของฮินดู และศาลเจ้าของชาวจีน เรียงรายอยู่บนถนนเส้นเดียวกันจากการเดินเท้าด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 กลิ่นเครื่องเทศร้อนแรงในย่านLittle Indiaกลิ่นควันธูปโขมงจากกระถางทองเหลืองใบใหญ่หน้าศาลเจ้าจีน กลิ่นกำยานเครื่องหอมบูชาเทพเจ้าของชาวฮินดู(…เราสูดดมกลิ่นต่างๆตลอดทางและแอบตั้งชื่อในใจว่าGeorge TownAroma) ทำให้เราตระหนักได้ว่าวัฒนธรรมวิถีชีวิตของคนปีนังนั่นเองคือมรดกสำคัญตกทอดจากบรรพบุรุษที่เดินทางไกลมาตั้งรกรากในปีนัง

เมื่อสองร้อยกว่าปีที่แล้วปีนังคือเมืองท่าใหญ่ในแหลมมลายู แต่วันนี้เมื่อปีนังได้กลายมาเป็นเมืองมรดกโลกGeorge Town จุดกำเนิดของปีนังจึงเต็มไปด้วยโรงแรมที่พัก คาเฟ่(..ที่ปีนังหมายถึงร้านอาหาร) และร้านค้าของที่ระลึกเพื่อตอบสนองlifestyleของผู้มาเยือนมรดกโลก ถนนหลายสายในGeorge Townรองรับชัตเตอร์นักท่องเที่ยวด้วยงานศิลปะStreet Artsภายในอาคารสถาปัตยกรรมชิโน-โปรตุกีสถูกปรับแต่งให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตยุคดิจิตัลในแบบHipsterที่เห็นได้ตามเมืองท่องเที่ยวทั่วไป(…wifiร้านกาแฟ ร้านของที่ระลึกชิคๆ สินค้าวินเทจฯ)จากเมืองท่าค้าขายสินค้าเครื่องเทศในอดีต George Townปรับเปลี่ยนมาค้าขายความคลาสสิคของอาคารสถานที่และความหลากหลายทางวัฒนธรรมให้กับนักท่องเที่ยวทั่วโลก แน่นอน George Town ต้องเปลี่ยนตามกาลเวลาและกระแสอันเชี่ยวกรากของโลกยุคปัจจุบัน แต่จะเปลี่ยนอย่างไรให้งดงามมีคุณค่าไม่เป็นแค่เพียงพื้นที่ของธุรกิจการท่องเที่ยวแต่เป็นพื้นที่ ๆ ชุมชนชาวปีนังจะอยู่อาศัยใช้ชีวิตอย่างภาคภูมิเพื่อทำหน้าที่สานต่ออนาคตของอดีตตนเอง

Art Ed

ด้วยความที่เมือง George Town เต็มไปด้วยงานศิลปะพบเห็นได้ทั่วไปตามตรอกซอกซอย ทำให้เราเข้าใจเอาเองว่าจะได้พบปะพูดคุยกับศิลปินที่นำเอาศิลปะมาสร้างสรรค์เมือง(City) แต่ผู้ที่เราพบกลับเป็นนักกิจกรรมทางสังคมผสมนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญในการนำศิลปะมาสร้างสรรค์ความเป็นพลเมือง (Citizen)JanetPillai Founder ของ Art Edทำให้เราเห็นมุมมองในการเอาศิลปะออกมาทำหน้าที่ใหม่นอกแกลลอรี ด้วยการใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือเรียนรู้ของเยาวชนเพื่อทำความรู้จักและรับใช้ชุมชน(Community-based Art&Culture Education) แนวคิดที่สำคัญของ Art Edตั้งอยู่บนฐานคิดที่ว่า วิถีวัฒนธรรมไม่ได้หมายความถึงเฉพาะสิ่งที่มีอยู่เดิม แต่หมายถึงการสร้างสรรค์สิ่งใหม่จากสิ่งเดิมเป็นการนำเอาองค์ความรู้เดิม วิถีวัฒนธรรมเดิม สิ่งเดิมที่มีอยู่มาผสมผสานกับความคิดใหม่(new idea) เทคนิควิธีการใหม่(new technic)เพื่อใช้ Art Project สืบต่อวัฒนธรรมอย่างมีชีวิต

สำหรับเราความน่าสนใจอยู่ตรงที่กระบวนการทำงานของ Art Edเป็นกระบวนวิธีการสืบค้น(inquiry method)ที่ไม่มีคำตอบสำเร็จรูปรออยู่เบื้องหน้า ไม่มีใครรู้ว่ากระบวนการจะพาไปค้นพบคำตอบอะไรในชุมชนบ้าง คงเหมือนการดูหนังถ้าเรารู้ตอนจบอรรถรสก็กร่อยไปทันที ยิ่งสำหรับเยาวชนด้วยแล้วการได้ผจญภัยทางความคิดผ่านการลงมือทำเพื่อค้นหาคำตอบที่ยังเป็นปริศนาคงน่าสนุกไม่น้อย กรอบของกระบวนการมีเพียงแค่การกำหนดพื้นที่(the site&the community)และการเลือกเนื้อหาเรื่องราว (content/theme) ที่มีอยู่แล้วในชุมชน อาจเป็นวัฒนธรรมวิถีชีวิตหรือประวัติศาสตร์ชุมชน หรืออาจเป็นปัญหาที่ซ่อนตัวอยู่ในชุมชน

ในการสืบค้นกระบวนการทางศิลปะจะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการทำวิจัย เพราะกระบวนทางศิลปะต้องใช้ทักษะการสังเกต การจดบันทึก การเก็บข้อมูล การคิดวิเคราะห์ และการนำเสนอซึ่งก็คือทักษะการวิจัยนั่นเอง Janet อธิบายกระบวนการนี้ว่า visual as a research ..camera as a research tool ภาพถ่าย คืองานวิจัย รูปภาพคือกระบวนการคิดการมองปัญหาชุมชนการที่เด็กๆได้บันทึกภาพชุมชนตามประเด็นที่ศึกษาเด็กจะเกิดทักษะทางการวิจัยที่ติดตัวไปตลอดหากได้ทำในช่วงเวลที่นานพอ ซึ่งJanet บอกว่าควรเป็นเวลานาน 3-6 เดือนขึ้นไป มันทำให้เรามองเห็นเครื่องมือที่จะเอาไปใช้แก้จุดอ่อนของงานไม่ว่าจะเป็นงานโครงการหรืองานสอน เรามักพูดเสมอว่าพยายามสอนและจัดกระบวนการเรียนรู้ให้เด็ก”คิดเป็น วิเคราะห์แก้ปัญหาเป็น” แต่ในความเป็นจริงไม่ต้องไปไกลถึงเรื่องกระบวนคิดแบบงานวิจัยซึ่งรวมทักษะหลายอย่างไว้ด้วยกันเลยแค่การคิดวิเคราะห์เพียงทักษะเดียวเราก็ยังไม่แน่ใจว่าพาเด็กไปถึงได้จริงหรือไม่

เป้าหมายในการทำงานของArt Edก็เพื่อให้เด็กเกิดทักษะและองค์ความรู้ในการจัดการสภาพแวดล้อมของตน (we want them to know their community well) ทุกโครงการจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชน ดังนั้นจึงต้องมีกระบวนการการคืนข้อค้นพบที่เป็นประโยชน์สู่ชุมชน ศิลปะได้ทำหน้าที่อีกครั้งในการนำเสนอบอกเล่าสิ่งที่ค้นพบเจอในชุมชนในรูปแบบที่สร้างสรรค์ต่างๆ เช่น นิทรรศการภาพถ่าย การแสดง การเต้นรำ งานจัดแสดง3 มิติ งานออกแบบสิ่งพิมพ์ รวมไปถึงงานออกแบบเสื้อยืด และรูปแบบงานศิลปะอื่นๆอย่างไรก็ตามสำหรับ Art Edกระบวนการคือสิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ใช่ผลลัพธ์ การออกแบบกระบวนการจึงเป็นขั้นตอนที่ต้องทำงานอย่างหนักก่อนการลงมือปฏิบัติจริง

แม้กระบวนการที่Janet เล่าให้ฟังอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ทั้งหมด ถ้าจะว่าไปก็เปรียบเหมือนอาหารเมนูเดิมที่เรารู้จักส่วนผสมและขั้นตอนการทำอยู่บ้างแล้ว แต่แม่ครัวฝีมือดีก็มักมีเคล็ดลับการเลือกสรรวัตถุดิบและเทคนิคการปรุงที่ทำให้อาหารเมนูนั้นโดดเด่นกว่าใคร

George Town World Heritage Inc (GTWHI)

วันสุดท้ายที่ปีนังแม้จะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ แต่คุณจุงเหว่ยเจ้าหน้าที่ของ GTWHI ก็ทำให้เราเห็นและเข้าใจภาพงานของ GTWHIได้ชัดเจน ทั้งจากการบรรยาย สื่อหนังสั้น และพรีเซนเทชั่นที่เล่าถึงภาพงานHeritage Celebration 2015 ซึ่งเพิ่งจัดไปเมื่อเดือนกรกฎาที่ผ่านมาTheme ของงานมีชื่อว่า Eat Riteหรืออาหารในพิธีกรรม รูปแบบการจัดงานก็เหมือนงาน Festival โดยทั่วไปมีการเฉลิมฉลองด้วยกิจกรรมเกี่ยวกับอาหารในพิธีกรรมที่น่าสนใจและน่าสนุกสนานเพราะผู้เข้าร่วมงานได้ทั้งรับประทานได้มีโอกาสลงมือทำแถมยังมีสูตรอาหารให้ติดมือกลับไปอีกด้วย สำหรับคนทำงานอย่างเราสิ่งที่น่าสนใจของเทศกาลนี้คงอยู่ตรงกระบวนการก่อนและหลังงาน GTWHIได้ใช้งานครั้งนี้สร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนเชื่อมต่อกับผู้คนหลากหลายในปีนังทั้งสมาคมเชื้อชาติต่างๆ กลุ่มศาสนากลุ่มโรงเรียน รวมถึงกลุ่มอาสาสมัครนับร้อยคนให้เข้ามาเป็นตัวละครที่มีบทบาทสำคัญในการคืนมรดกกลับสู่เมืองทำให้Heritage Celebration 2015 เป็นงานของชุมชนปีนังอย่างแท้จริง ทั้งยังมีการใช้สื่ออย่างชาญฉลาด ไม่ว่าจะเป็นงานillustration รูปอาหารที่สวยงาม การประกวดหนังสั้น การใช้Facebook เพื่อสื่อสารกับกลุ่มคนต่างๆให้ขับเคลื่อนงานร่วมกันได้อย่างทันท่วงที

การได้ฟังเรื่องราวเกี่ยวกับ Heritage Celebration2015 ทำให้เราอดนึกถึงพัทลุงยิ้มไม่ได้แม้จะต่างพื้นที่ต่างบริบทและมีกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน แต่Themeของทั้ง2งานต่างมุ่งสะท้อนคุณค่าที่แท้จริงของพื้นที่ให้ปรากฎ รูปแบบกิจกรรมสร้างสรรค์ที่อยู่บนฐานศิลปะและวัฒนธรรมเช่นเดียวกันดูน่าสนุกสนานชักชวนให้ผู้คนอยากมาร่วมงานโดยผู้จัดไม่ลืมที่จะสร้างการเรียนรู้ในเวลาเดียวกันที่สำคัญทั้ง 2 งานต่างให้ความสำคัญกับกระบวนการทำงานเพื่อพัฒนาและสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้องGTWHI อาจโดดเด่นในด้านการผลิตสื่อได้ครบถ้วนและมีรูปแบบสะดุดตาสะดุดใจแต่พัทลุงยิ้มก็ยอดเยี่ยมที่สามารถปลุกพลังสร้างสรรค์ความเป็นพลเมืองของเด็กเยาวชนพัทลุงให้ลุกขึ้นมาทำกิจกรรมใหญ่ระดับจังหวัดเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของพื้นที่ได้ด้วยตนเอง

การเรียนรู้ดูงาน 5 วัน 4 คืนครั้งนี้เป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่าประกายความคิดของเราค่อยๆ ก่อตัว กลายเป็นกองไฟในใจเพราะได้เชื้อเพลิงจากเรื่องราวที่ผ่านเข้ามาให้พบเห็นได้ยินได้ฟังในแต่ละวัน จนถึงการเดินทางวันสุดท้ายเราก็พร้อมที่จะเป็นเชื้อไฟส่งประกายยังผู้อื่นต่อไป

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • ประเภทยินยอม

    คุ้กกี้สำหรับวิเคราะห์การใช้งานเว็บไซต์เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของเว็บไซต์ (Google Analytics)

บันทึกการตั้งค่า