รากชู สู่รากเรา ชาวอาข่า บ้านป่าเกี๊ยะ

ชาวอาข่า เป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยแพร่กระจายอยู่ตั้งแต่เขตสิบสองปันนา ประเทศจีน ประเทศพม่า จนถึงตอนเหนือของไทยโดยเฉพาะจังหวัดเชียงราย และเชียงใหม่ ซึ่งมีพี่น้องชาวอาข่ากระจายอยู่ทั่วทุกดงดอย วิถีชีวิตของชาวอาข่าอิงแนบกับธรรมชาติอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกินที่เป็นไปตามฤดูกาล ประเพณี วัฒนธรรม จริต ความเชื่อ และภูมิปัญญาที่สืบทอดจากบรรพบุรุษรุ่นแล้วรุ่นเล่า จนกลายเป็นวิถีชีวิตประจำวัน โดยมีประเพณีและพิธีกรรมต่างๆ ตั้งแต่เกิดจนตายไม่น้อยกว่า 20 พิธี ซึ่งล้วนยึดโยงวิถีชีวิตกับธรรมชาติเข้าด้วยกันอย่างแนบแน่น ทว่าด้วยกระแสโลกไร้พรมแดนที่เปิดกว้างและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ย่อมหลีกไม่ผลที่จะมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตชาวอาข่าเช่นกัน 

บ้านป่าเกี๊ยะ ชุมชนที่โอบล้อมด้วยขุนเขา

บ้านป่าเกี๊ยะ ตั้งอยู่ในอำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย เป็นหมู่บ้านที่ล้อมรอบด้วยผืนป่าและขุนเขา มีชุมชนของพี่น้องชาวอาข่าและลาหู่ อาศัยอยู่ร่วมกัน มีกฎของชุมชนที่เข้มแข็ง และมีโรงเรียนอยู่ไม่ไกลจากชุมชน ทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่มีโอกาสได้รับการศึกษาอย่างดี และมีโอกาสเล่าเรียนไปถึงขั้นอุดมศึกษา จนถึงไปทำงานต่างถิ่น กอปรกับการเข้ารีตนับถือคริสต์ศาสนา แม้จะเป็นเรื่องดีที่คนรุ่นใหม่ได้รับโอกาส ทว่าผลกระทบที่ตามมาคือ เด็ก เยาวชนต้องห่างไกลจากรากวิถีชีวิต ประเพณี และวัฒนธรรมชนเผ่าของตนเองออกไปเรื่อยๆ

กระทั่งหลายปีก่อน คุณแอน-ศศิธร คำฤทธิ์ และ คุณน้ำ-กัลยา เชอมื่อ ซึ่งทำงานเกี่ยวกับการพัฒนา ชุมชน วิถีเกษตรอินทรีย์ และอาหารเด็กในโรงเรียน ได้เข้าไปทำงานร่วมกับผู้ใหญ่ในชุมชนป่าเกี๊ยะ และมีโปรเจกต์ Seed Journey การศึกษาเก็บเมล็ดพันธุ์พืชท้องถิ่น และการท่องเที่ยวชุมชน ทำให้เห็นถึงปัญหาการขาดช่วงการสืบต่อองค์ความรู้ระหว่างคนรุ่นพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย กับเด็กและเยาวชน เธอทั้งคู่จึงมีโครงการทำงานฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นก่อนที่จะมีโครงการ Young Food เข้าไป และเมื่อได้เข้าโครงการ Young Food ก็ยิ่งช่วยกระชับความสัมพันธ์ของคนระหว่างวัยในชุมชนป่าเกี๊ยะ นอกจากนี้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังทำให้เยาวชนป่าเกี๊ยะที่ไปศึกษาต่อหรือทำงานนอกชุมชน ยิ่งเห็นความสำคัญของรากชุมชน จนมีแนวโน้มว่าอยากกลับมาทำงานที่บ้านเกิดมากขึ้น                 

อาหารกับชาวอาข่า เป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิตและประเพณี ในยามปกติชาวอาข่านิยมบริโภคอาหารง่ายๆ จากผักพื้นบ้านที่ปลูกเอง พืชพันธุ์ที่ได้จากป่า เปลือกไม้ ไปจนถึงสิ่งที่หากเราคนเมืองมองผาดๆ ก็อาจคิดไปได้ว่าคือวัชพืช ทว่าแท้จริงแล้วคือพืชอาหาร สมุนไพร ที่ชาวบ้านเก็บกินตามฤดูกาล พืชผักมากมายที่ชาวอาข่าปลูกไว้รับประทานมีทั้งผักกาดเขียว รากชู (หรือหอมชู) น้ำเต้า ฟักทอง มะเขือ พริก แตง  ถั่ว นำมาปรุงเป็นน้ำพริก ผักต้ม หรือนึ่ง ปิ้ง ย่าง นอกจากนี้อาหารดั้งเดิมของอาข่าจะปรุงรสแค่เกลือ ไม่มีสารปรุงรส รสชาติหวาน เปรี้ยว มาจากพืชผักเป็นหลัก จึงเป็นอาหาร คลีน ในแบบฉบับที่คนเมืองให้ความสนใจและหันมาบริโภคมากขึ้น

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า เมื่อเด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่ มีวิถีชีวิตแบบคนเมือง อาหารที่เกี่ยวกับประเพณี วัฒนธรรมจึงเหลือเพียงภูมิปัญญาคนรุ่นเก่าที่ยังสืบสานอยู่ เมื่อคุณแอน และคุณน้ำพาเชฟจากร้านอาหารที่ประเทศอังกฤษขึ้นไปยังบ้านป่าเกี๊ยะ เพื่อเรียนรู้พืชอัตลักษณ์ และวิธีทำอาหารอาข่า จึงเป็นจุดสนใจให้คุณแอนและคุณน้ำเห็นความไม่ปกติที่เด็กไม่รู้จักอาหารพื้นถิ่น และเริ่มกระบวนการสืบสานภูมิปัญญาอาหารอาข่า

คุณแอน ได้เริ่มที่มาของเส้นทางสืบสานวัฒนธรรมอาหารของบ้านป่าเกี๊ยะว่า

ตอนแรกๆ เด็กจะกลับบ้าน ปิดเทอมมาครั้งหนึ่ง หรือหลายๆ เดือนกลับบ้านครั้งหนึ่ง พี่เคยพาเชฟแอนดี้ โอลิเวอร์ (Andy Oliver) ร้านส้มซ่า (SOM SAA)จากลอนดอน ประเทศอังกฤษ ไปบ้านป่าเกี๊ยะ เพราะเขาอยากรู่ว่าอาหารชนเผ่าอาข่าเป็นไง อยากมาชิม อาหารไทยที่มากกว่าอาหารไทยภาคกลาง

ช่วงนั้นมีเด็กๆ อยู่พอดี ปกติเด็กจะลงมาเรียนหนังสือที่โรงเรียนคริสต์เตียนด้านล่าง และพูดภาษาอังกฤษเก่งมากตอนเชฟไป เด็กก็เลยไปเป็นล่าม แปลภาษา และไปเที่ยวตามพ่อไปป่า พาเชฟเที่ยวกับพี่ และมันก็เป็นครั้งแรกที่เขาได้ไปป่าเหมือนกัน น้องไม่เคยขึ้นไปบนเขาหาของป่าเพราะเรื่องหาของป่าเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ ไม่ใช่เด็กๆ

เปลือกไม้บางชนิดเป็นทั้งอาหารและยา ซึ่งผู้อยู่กับวิถีธรรมชาติ รู้จัก รักษา และบริโภค

พอช่วงตอนเย็นทำอาหาร เชฟเขาถามว่า อาหารของเธอเป็นสิ่งที่ดีมาก ฉันยังไม่เคยกินอาหารที่มาจากธรรมชาติแบบนี้ เชฟก็ถามเด็กว่าอันนี้ทำมาจากอะไร อันนี้มาจากไหน เด็กตอบไม่ได้สักคน…เด็กก็ถามพ่อแล้วก็ตอบ ถามแม่แล้วก็ตอบ เชฟเลยถามไปว่า เธอเป็นคนอาข่าหรือเปล่าเนี้ย ตอบไม่ได้เลยเหรอ…. ทุกอย่างที่ฉันถาม เธอเป็น ทรานสเลเตอร์ อย่างเดียวเลยเหรอ? เด็กก็โกรธมาก…บอกว่าคุณมีสิทธิอะไรมาวิจารณ์ฉันแบบนี้ ฉันเกิดมาอายุ 8-9 ขวบ พ่อก็ส่งไปเรียนโรงเรียนคริสต์ข้างล่างแล้ว ที่ฉันพูดภาษาอังกฤษได้ เพราะฉันไปเรียนข้างล่าง อาหารที่ฉันคุ้นเคยก็ข้าวผัดกระเพรา ผัดซีอิ๊ว ข้าวผัดที่อยู่ในหอพักนั้น เออ…มันผิดปกตินิหว่า ซึ่งที่น้องๆ ไม่รู้ก็เพราะพอน้องเข้ารีตเป็นคริสต์เตียนแล้วจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับอาหารพิธีกรรม คือ อาหารอาข่า เป็นอาหารที่มีความเกี่ยวข้องกับพิธีกรรม เช่น งานโล่ชิงช้า การจะล้มหมู ฆ่าไก่ ต้องเป็นงานที่เกี่ยวกับคนเยอะๆ ซึ่งเขาก็ไม่ได้กินลาบกันตลอด หมู่บ้านเองก็ห่างไกลจากตลาด พ่อแม่ก็คิดว่าเด็กกินไม่ได้ก็ทำอาหารแบบข้างล่างให้กิน

อาหารแบบนี้เด็กจึงเข้าไม่ถึง ไม่รู้เรื่อง เราก็จัดกระบวนการสืบค้นกับเยาวชนขึ้นมา น้ำก็ไปลงพื้นที่ป่าเกี๊ยะกับพี่อีกครั้ง และน้ำเองในฐานะเด็กอาข่าก็ชวนแม่ๆ ชวนน้องๆ จัดกระบวนการเรียนรู้อาหารท้องถิ่น และมีการจดบันทึกไว้

จริงๆ หมู่บ้านป่าเกี๊ยะ เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว มีโฮมสเตย์ มีแบรนด์กาแฟ แต่เป็นผู้ใหญ่เป็นคนทำหมดเลย มีเมล็ดกาแฟที่ดี แต่ทำกาแฟยังไม่อร่อย น้ำก็ชวนน้องๆ ไปเรียนคั่วกาแฟกับพี่ลี (อายุ จือปา) แบรนด์กาแฟอาข่าอาม่าก่อนจะทำเด็กก็เคยบอก กาแฟเป็นโปรเจกต์ของพ่อ ของคนแก่ในหมู่บ้าน หนูไม่ได้อยากทำซะหน่อย ส่งหนูไปเรียนไอทีข้างล่างจะให้หนูมาทำกาแฟเหรอ

เราต้องอธิบายว่า มันมีการทำธุรกิจแบบนี้ มีคุณค่ามากกว่าการขาย การผลิตและขายออกไป มีเส้นทางอาหาร มีผลลัพธ์อีกแบบ พอดีกับเส้นทางอาหารวัฒนธรรมอาข่า มาจากการสืบค้น มาจากระบบนิเวศแบบไหน แต่ก่อน พ่อแม่ ไม่มีใครมาถาม รากชู ทำอะไร ทำไง ทำไมมีกินตลอดทั้งปีพ่อแม่ก็ไม่มีเวลาอธิบายกับลูกหลาน บริบทก็เปลี่ยนไป พอเด็กกลับมาบ้าน ต่างคนก็ต่างอยู่กับโทรศัพท์ของตัวเองแม่ก็ทำกับข้าวให้กิน กินเสร็จก็แยกย้ายกันออกไปเมื่อเด็กเขาเข้าใจก็หันมามองตรงนี้มากขึ้น

การกลับมาให้ความสำคัญเรื่องอาหาร เรื่องวัตถุดิบอาหาร จึงทำให้พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ใกล้ชิดกับเด็กกันมากขึ้น แล้วก็ทำอาหารร่วมกันเป็นจุดเริ่มต้นเส้นทางการสืบสานวัฒนธรรมอาหารอาข่าบ้านป่าเกี๊ยะ

วัตถุดิบต่างๆ ของเมนูหมกปลาสิหมะ

ก่อนที่เราจะเข้า Young Food เราทำเรื่ององค์ความรู้เรื่องอาหารอยู่แล้ว แต่ต้องบอกว่าความรู้แต่ละชุด ไม่ได้เป็นชุดเดียวกันทั้งหมด และก่อนหน้าที่เราเข้าไป เราเห็นว่า ชาวบ้านในชุมชนมีการเก็บเมล็ดพันธุ์พืชไว้ปลูกปีต่อๆ ไป แต่ละคนเขาเก็บของใครของมันไม่มีการแบ่งปันกันในเมล็ดพันธุ์ท้องถิ่น และไม่มีมุมที่จะมาสร้างความตระหนักว่าส่งต่อในเมล็ดพันธุ์ ก็เป็นการคุยกันในวงของผู้ใหญ่ในชุมชน ทุกคนก็ไม่คิดว่า อ๊ะ…นี่ต้องมาแบ่งปันกันด้วยเหรอ เพื่อขยายพันธุ์รวมกัน

พอเราเข้าไปก็มีการทำ บทบาทผู้รู้  มีผู้รู้เรื่องสมุนไพร ชุมชนก็เริ่มมีบทบาทชัดเจนและเริ่มรู้แล้วว่าตัวเยาวชนอยากรู้เรื่องสมุนไพรต้องไปหาใคร ไปพูดคุยเรื่องเมล็ดพันธุ์อาหาร แล้วทุกคนเห็นร่วมกันคือ อันหนึ่งที่เยาวชนคุย หรือผู้รู้คุยแลกเปลี่ยน อันหนึ่งคือ เยาวชนคืออยู่ในวิถีการกินแบบนี้มาค่อนข้างเป็นเรื่องปกติ เพราะฉะนั้น เขาเลยไม่ได้คิดว่าจะต้องส่งต่อ หรือจะต้องปลูกเป็นหรือต้องเก็บเมล็ดพันธุ์เป็น คือ เขาไม่ได้ตระหนักถึงคุณค่าในสิ่งที่อยู่ใกล้ๆ ตัว

เราเห็นต้นทุนในหมู่บ้านป่าเกี๊ยะที่เรามาสื่อสารเรื่องอาหาร เราให้เด็กๆ เยาวชนพูดถึงเมนูพื้นบ้านของตนเอง แล้วเราพบว่าต้นทุนในชุมชน ในหมู่บ้านดีมากเลย ผู้นำในชุมชน ผู้รู้ในชุมชน เขามีแนวคิดเหมือนที่เรากำลังคิด เราคิดว่าคนรุ่นใหม่ห่างไกลจากองค์ความรู้ส่งต่อในช่วงวันที่เหมาะสม เพราะไปใช้ชีวิตอยู่ในเมืองทั้งหมด

เลยคิดว่าถ้ามีโอกาสอยากกลับมาทำเรื่องภูมิปัญญา ความรู้ทางอาหารที่นี่ ป่าเกี๊ยะ ทำให้เราคิดถึงเมนูของคุณยายเรา อาหารแบบที่เราเคยกินตอนเด็กๆ เป็นความผูกพันที่ผ่านทางอาหาร หลังจากนั้นจึงเป็นพื้นที่ที่ประทับใจมาตลอด เมื่อพี่ห่วน (คุณวัลลภา แวน วิลเลียนส์วาร์ด) ถามว่าสนใจอยากทำกิจกรรม Young Food ไหม อยากส่งหมู่บ้านไหน เราจึงเลือกบ้านป่าเกี๊ยะเป็นพื้นที่กิจกรรม

สำหรับโครงการ Young Food บ้านป่าเกี๊ยะ สิ่งที่แกนนำเลือกมานำเสนอ คือ พืชอัตลักษณ์ ที่อยู่ในวัฒนธรรมอาหารของชาวอาข่า ได้แก่ รากชู หรือ ต้นหอมชู เป็นพืชล้มลุกตระกูลเดียวกับกุยช่าย พบเรื่อยมาจากตอนใต้ของจีน ตอนเหนือของพม่า และภาคเหนือของไทย ตัวรากชูช่วยเพิ่มรสชาติอาหารให้กลมกล่อม เป็นเครื่องชูรสอูมามิจากธรรมชาติ ใช้ปรุงอาหารได้ทุกส่วนตั้งแต่ใบถึงราก ซึ่งรากจะกรอบแต่เหนียวกว่าถั่วงอก และประกอบอาหารได้ทั้งต้ม ผัด ทำน้ำพริก และดอง หรือกินสดๆ ก็ได้

ชาวอาข่าบ้านป่าเกี๊ยะ มักปลูกรากชูไว้ทุกบ้าน ทั้งเพื่อบริโภค และจำหน่าย

วัฒนธรรมการกิน รากชู ได้รับอิทธิพลส่งต่อมาจากสิบสองปันนา มณฑลยูนานทางตอนใต้ของประเทศจีนพร้อมการอพยพของพี่น้องชาติพันธุ์ต่างๆ รากชู จึงเป็นผักสวนครัวที่มีปลูกไว้แทบทุกบ้านชาวอาข่า ลาหู่ และจีนยูนานในไทย ซึ่งนอกจากกินเป็นอาหาร หมอยาพื้นบ้านอาข่ายังใช้ รากชู เป็นสมุนไพรเข้าตำรับยา ซึ่งมีการศึกษาพบว่า สารสกัดน้ำมันหอมระเหยในรากชู มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อราที่เป็นตัวก่อโรคติดเชื้อในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ และช่วยยับยั้งการอักเสบ มีสารต้านอนุมูลอิสระด้วย 

คุณน้ำ ได้บอกถึงความสำคัญของ รากชู ในวัฒนธรรมอาหารของชาวอาข่าไว้ว่า

กลุ่มชาติพันธุ์อื่นก็กินรากชูแต่สำหรับชาวอาข่า รากชู เหมือนเป็นเส้นเลือดใหญ่ของอาหารอาข่า จะผัดก็ใส่ ต้ม แกงผักกาด ทุกอย่างใส่รากชูตำน้ำพริกก็ใส่ หรือไม่ปรุงกับอะไร แค่พริกกับรากชู ตำรวมกันเอาไปกินกับข้าวก็ได้แล้ว เหมือนทุกคนจะรู้ว่า คนอื่นก็กินนะ แต่ไม่ถึงกับขาดไม่ได้ แต่อาข่าจะมีทุกบ้าน ถึงไปอยู่ในเมืองก็ต้องมี รากชู ติดไปด้วย ต้องอยู่ในทุกอย่าง เห็นได้ในทุกเมนูสำรับ และเป็นอาหารทางพิธีกรรมด้วย

ชาวอาข่าบ้านป่าเกี๊ยะ มักปลูกรากชูไว้ทุกบ้าน ทั้งเพื่อบริโภค และจำหน่าย

รากชู เชื่อมโยงกับอาหารทุกๆ อย่าง เพราะทำให้อาหารมีความหวานและกลมกล่อม ตัวรากเอาไปเจียวไข่ก็ได้ ผัดกับไข่ก็ได้ เวลาใส่ราก หรือใบรากชู เราไม่ต้องใส่กระเทียมแล้ว เพราะกลิ่นมันแทนกันได้ ทำให้ตัวอาหารเหมือนใส่กระเทียมเลย ส่วน Food Menu หลัก คือ น้ำพริกรากชู เรายก ‘น้ำพริก’ ขึ้นมา เพราะว่าน้ำพริกของชาวอาข่าเปลี่ยนไปตามฤดูกาลมีทั้งมะเขือเทศ ถั่วดิน หรือรากชู อยู่ตรงนั้น ทั้งใบหรือราก มันบ่งบอกถึงความหลากหลายของฤดูกาล และน้ำพริกคือสิ่งที่ขาดไม่ได้ในทุกๆ มื้อในความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่เรากินอาหารร่วมกัน เลยเลือกน้ำพริกขึ้นมา

คุณน้ำ – กัลยา เชอมื่อ
ผู้ใหญ่ต้นเรื่องบ้านป่าเกี๊ยะ
เจ้าของโปรเจกต์ Seed Journey

ในด้านกระบวนการเรียนรู้ คุณน้ำได้ขยายความให้ฟังถึงกระบวนการทำงานว่า

เราใช้กระบวนการเมล็ดพันธุ์ท้องถิ่นมาเชื่อม คือ รากชู เป็นหนึ่งในพืชอัตลักษณ์ ที่เราอยากให้เยาวชนสืบต่อจากผู้รู้ ผู้เฒ่าจับคู่กับเด็ก และเดินไปกับคุณยาย ไปหาพืชผักรอบบ้าน ในหลังบ้าน ในสวน ลำห้วย ไปตามหาพืชที่ไม่รู้จัก เพื่อที่จะบอกว่า อะไรกินได้บ้าง กินยังไง 

ตัวเยาวชนก็ต้องมีการสื่อสารกับคุณยาย คุณลุง ว่าส่วนนี้กินส่วนไหนบ้าง ตัวรากชู ก็ต้องเป็นส่วนหนึ่งที่เราคิดว่ามีองค์ความรู้จริงๆ ที่จะนำมาจับคู่กับคุณยาย คุณลุง เป็นข้อมูลที่เราจัดกระบวนการเรียนรู้ขึ้นมา ว่าจะกินอย่างไร เก็บอย่างไร และต่อยอดขึ้นมาว่าจะขยายพันธุ์ต่อยังไง ปลูกส่วนไหน เป็นการประกบคู่กัน เวลาเข้าไปในพื้นที่ 

ทุกครั้งที่เข้าไปในชุมชนก็เป็นการร่วมมือร่วมกัน คุยวัตถุประสงค์ร่วมกัน และด้วยความที่เราเป็นอาข่าเหมือนกัน เวลาที่น้ำสื่อสารก็จะใช้ภาษาอาข่าในการคุยกับผู้ใหญ่ ก็เลยชัดเจนตั้งแต่แรก จึงไม่เห็นการต่อต้าน หรือปะทะกัน ส่วนใหญ่มีความร่วมมือได้แบบนี้ๆ ได้เท่าไร อะไร อย่างไรบ้าง และเราทำงานกับแม่ๆ ที่เขามีแนวคิดร่วมกับเราด้วย คนที่ไม่ได้เห็นด้วยกับเราก็ไม่ได้มาทำตั้งแต่แรก เพราะฉะนั้นกลุ่มที่จะทำก็คือ กลุ่มที่อยากให้ลูกๆ กลับมาสานต่อ มันก็เลยง่าย 

จริงๆ ในตอนแรกที่เข้าไป ชาวบ้านไม่ถึงกับต่อต้าน แต่เราก็ต้องยอมรับการทำงาน ไม่ว่าเรื่องอาหารและการเข้ามาของ Young Food แรกๆ คนทั้งหมู่บ้านจะมาร่วมกันและเปลี่ยนแปลงทั้งหมู่บ้านไม่สามารถชี้วัดได้เลย วันที่เราไปก็มีคนมาฟัง แต่อันที่เราเข้าไปเริ่มต้น คือ เรายังเป็นคนรุ่นใหม่ที่อยากสานต่อองค์ความรู้เหล่านี้ ผู้ใหญ่ที่มีองค์ความรู้ในการที่จะทำให้เยาวชนในหมู่บ้านมีจุดเด่นเรื่องอาหารขึ้นมา เราบอกผู้ใหญ่ตรงๆ ตั้งแต่แรกว่าเราไม่ได้มีเงินมาจ้างนะ แต่เรามาทำเพื่อมาสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ ในเยาวชนที่สนใจเรื่องนี้ 

เราไม่ได้คาดหวังว่าเยาวชนทั้งหมดจะมาทำเรื่องนี้ และตอนนี้เราก็ไม่ได้มีเยาวชนเยอะ แต่เด็กๆ ที่ร่วมกิจกรรมกับเราอยู่ตลอดหลักๆ ก็มี 6-7 คน ในหมู่บ้านมี 10 กว่าครัวเรือนที่ทำกิจกรรมร่วมกัน และมี 4 ครอบครัวที่ทำหลักๆ ทำงานร่วมกันตลอด ที่เป็นสมุนไพร และเมล็ดพันธุ์ เราไม่ได้ไปฐานพอเพียง ปลูกแบบจริงจังอะไรขนาดนั้น เพราะการปลูกแบบชุมชนไม่เป็นเรื่องยาก เขาปลูกผักกินเป็นชีวิตปกติอยู่แล้ว

หลังที่เข้าร่วมกิจกรรม คุณยายท่านหนึ่ง อายุ 80 ปีกว่า ก็บอกเราคำหนึ่งในวันที่จัดกิจกรรม ก็เรียกว่ามีน้ำตาเลยนะ คือ คุณยายเขาไม่คิดว่าจะมีคนรุ่นใหม่มาเดินคู่กับเขา หาองค์ความรู้จากเขา คุณยายบอกว่า เออ ยายตายตาหลับแล้ว ไม่คิดว่าจะมีคนมาสนใจเรื่องผลไม้ เรื่องผักแบบนี้ น้ำ ดีใจมาก ดีใจแบบมีน้ำตา เป็นโมเม้นท์ที่เราเจอกันในชุมชน

ด้านการถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องวัฒนธรรมอาหารอาข่าสู่ภายนอก บ้านป่าเกี๊ยะ เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวโฮมสเตย์อยู่แล้ว จึงมีกิจกรรมท่องเที่ยว เรียนรู้วัฒนธรรมอาหาร และวิถีชีวิตชาวอาข่าบ้าง ทว่าเมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 มีการปิดหมู่บ้าน ไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าหมู่บ้าน จึงทำให้ต้องจำกัดการทำกิจกรรมตามไปด้วย

ปี 2564 มีข้อจำกัดค่อนข้างเยอะ ความถี่ของเราก็น้อยลง และหลายๆ ครั้ง เราก็ต้องให้เด็กเป็นตัวขับเคลื่อนเอง ซึ่งก็ลงลึกบ้าง น้อยบ้าง ตามที่สามารถปรับตามสถานการณ์ ถ้าเป็นตัวของ Young Food เลย กิจกรรมไม่ได้ขับเคลื่อนทุกๆ วัน แต่ประเด็นของ Young Food กับอาหารการกินอยู่ในวิถีชีวิตของเขาในทุกๆ วันอยู่แล้ว แต่ถามว่ามีกิจกรรมในทุกเดือนไหม ไม่ได้ทำขนาดนั้น แต่เราจะจัดกิจกรรม หรืองานร่วมกัน นัดกัน เพราะประเด็นอาหารในเรื่องของ Young Food เป็นเรื่องของอาหารในวิถีชีวิตประจำวัน ที่อยู่ในวิถีชุมชนอยู่แล้ว การตำน้ำพริกเป็น ทำอาหารเป็น เด็กทุกคนทำได้ ทำเป็นอยู่แล้ว มันเป็นวิถีประจำวันของเขาอยู่แล้ว 

อย่างไรก็ตามนอกจากการสื่อสารในชุมชน เยาวชนบ้านป่าเกี๊ยะ ยังมีโอกาสนำเสนออาหารให้คนเมืองได้รับประทานที่ สตูดิโอห่อจย่ามา (Studio Horjhama) แม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นร้านอาหารและร้านขายของชำของคุณแอนที่เปิดเมื่อต้นปีพ.ศ.2564 และเป็นสถานที่เปิดโอกาสให้เกิดการสื่อสารเฉพาะกิจของน้องๆ บ้านป่าเกี๊ยะ และชุมชนอื่นๆ ที่คุณแอน และ คุณน้ำ ทำงานร่วมด้วย 

ห่อจย่ามา เป็นภาษาอาข่า แปลว่ากินข้าวกัน ร้านเปิดเฉพาะวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ มีผัก ผลไม้จากชุมชน เพื่อมาออกแบบอาหารตามฤดูกาล ซึ่งพี่แอนดูแลอยู่ เป็นพื้นที่ในการสื่อสารแลกเปลี่ยน และให้น้องๆ ในชุมชนเป็นตัวขับเคลื่อนกลับมาในพื้นที่สาธารณะตรงนั้น
จริงๆ ร้านนี้ เกิดจากความตั้งใจของพี่แอนกับน้ำอยากจะทำพื้นที่สื่อสาร คือ ไม่ว่าเยาวชนที่ไหน อยากจะมาออกอีเว้นท์ หรือมีกิจกรรมร่วมกันร่วมกันได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกศุกร์ เสาร์ จะมีเด็กๆ น้องเยาวชนไป 
แต่ถ้าคนไหนสนใจในเดือนไหนก็ไปจอยกัน ทำอะไรร่วมกัน เป็นพื้นที่สื่อสาร เป็นเหมือนฐานทัพที่อยู่ตรงนั้น เหมือนเป็นพื้นที่ให้สื่อสารกับสาธารณะ 

คุณแอนได้เสริมในประเด็นนี้ว่า

Young Food เป็นโปรเจกต์ที่ให้น้องๆ ในหมู่บ้านอาข่ามาให้เรียนรู้อาหารบ้านตัวเอง เรียนรู้นิเวศอาหารในระบบบ้านตัวเอง ในจุดๆ หนึ่งที่เขาต้องพรีเซนต์ว่าเขากินแบบนี้ เขาเชื่อแบบนี้ เขาสื่อสารแบบนี้ ห่อจย่ามา ก็เป็นพื้นที่เปิดให้น้องได้มาสร้างสรรค์อาหารอันเป็นอัตลักษณ์อาข่าของเขา ให้กับคนในเมืองได้กิน ได้วิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งตอนนี้ถึงปลายเดือนมีนาคม ที่ห่อจย่ามา ก็มีนิทรรศการเกี่ยวกับพืชอัตลักษณ์ของอาข่า เป็นนิทรรศการที่กินได้ เป็นนิทรรศการที่เอาไปปลูกที่บ้านได้ด้วย

คุณน้ำ ได้เล่าถึงสิ่งที่สัมผัสได้จากน้องๆ เยาวชนไว้ว่า

เด็กมีสนใจไปทำเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องอาหาร เด็กๆ มีความสนใจในอาหารบ้านตนเองอย่างเห็นได้ชัด เขามีการเสนอโครงการ ให้คนรุ่นใหม่กลับบ้านด้วยตนเอง มีการทำเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง มีการไปฝึกงานเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกผักอินทรีย์ เพื่อกลับมาต่อสู้เรื่องการปลูกผักเคมี เด็กๆ มีแนวคิดเรื่องการทำอินทรีย์มากขึ้นกว่าเดิมเยอะ เขาพูดถึงการเข้าไปคุยกับพ่อแม่ตนเอง

สิ่งที่เราเห็นได้ชัดว่าเปลี่ยนไป คือ ตัวเขาเองค่อนข้างจะกลับมาและสนใจที่จะกินอาหารของบ้านตนเองมากขึ้น อยากเป็นส่วนหนึ่งในการสื่อสารให้คนรู้จักบ้านของเขามากขึ้น และพยายามให้คิดว่า ถ้าวันหนึ่งเขาต้องกลับมาจริงๆ เขาสามารถที่จะอยู่ในชุมชนตรงนี้ได้อย่างไรด้วย อันนี้เป็นโจทย์สำคัญมากที่เราได้พูดคุยกัน อาจจะดูเหมือนไม่มีแผนที่มั่นคงเลยในสถานการณ์โควิดแบบนี้ มันยากมากเลย แผนที่วางไป 2-3 ปี ต้องเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ และสิ่งที่ชัดเจนก็คือ เวลาเราขอความร่วมมือ

เรื่องต่างๆ เขาค่อนข้างที่จะเข้าใจเร็วมาก เรารู้สึกว่ามันเป็นจังหวะที่ทำให้เขาได้คุยกับแม่กับครอบครัวเยอะขึ้น ได้ใช้โอกาส โครงการ Young Food ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เยาวชนเคลื่อนงานได้จริง

สิ่งที่ดีอย่างหนึ่งที่น้ำถอดบทเรียนได้ คือ มันดีนะแม้น้ำจะไม่ได้เข้าไปต่อเนื่อง แต่น้ำก็ได้คุยกับน้องมากขึ้น ได้ให้น้องทำกระบวนการที่เคยทำร่วมกันมาและให้เขาได้ทำซ้ำ ในกระบวนการที่จะให้เขาทำกับแม่ของน้อง หรือคุณลุง ผู้ใหญ่ ในครอบครัว อย่างหนึ่ง เรารู้สึกว่า Young Food ทำให้เราขับเคลื่อนสิ่งที่คนรุ่นใหม่อยากทำในที่ที่ไม่ลำบากตัวเรา แต่เป็นสิ่งที่อยู่ในตัวน้องๆ อยู่แล้ว Young Food ทำให้เราได้คุยกับเขา ทำให้น้องได้คุยกับแม่ กับพ่อ ได้คุยกับลุง ได้ทำกับข้าวร่วมกัน กินข้าวร่วมกัน ได้ทำคลิปตลกๆ เรื่องอาหาร ได้อร่อยด้วยกัน และทำให้เกิดวิธีการทำงานใหม่ๆ ที่เปลี่ยนไป ซึ่งปีที่ผ่านมา Young Food ก็ท้าทายและเด็กก็ได้อยู่กับบ้านเยอะขึ้น ได้เคลื่อนตรงนี้เยอะด้วย

ที่มา : หนังสือ YOUNG food : เยาวชนกับอาหาร สร้างสรรค์ชุมชน https://www.childmedia.net/archives/2391

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • ประเภทยินยอม

    คุ้กกี้สำหรับวิเคราะห์การใช้งานเว็บไซต์เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของเว็บไซต์ (Google Analytics)

บันทึกการตั้งค่า