วันที่ 26 สิงหาคม 2557 ภาคีเครือข่ายสื่อเพื่อเด็กตบเท้า เข้าพบผู้ใหญ่ กสทช. เด็กวิงวอนขอกฎเหล็กคุมเข้มโฆษณาอาหาร พิทักษ์สิทธิเด็กและเยาวชนไทย
นายอำนาจ แป้นประเสริฐ กลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครอง กล่าว โฆษณาอาหารและเครื่องดื่มในรายการสำหรับเด็ก ทางฟรีทีวี ในปัจจุบัน โฆษณาอย่างไม่เป็นธรรมต่อเด็ก เพราะมีโฆษณาที่เป็นโฆษณาอาหาร ที่ไม่เหมาะสมต่อสุขภาพของเด็กเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังใช้เทคนิคการโฆษณาสารพัดรูปแบบ เพื่อจูงใจให้บริโภค เช่น ใช้พรีเซ็นเตอร์ดารา คนดัง ตัวการ์ตูน เน้นเรื่องรสชาติ การกระตุ้นให้บริโภคเกินจำเป็น การโน้มนำว่ามีคุณค่า ราคาถูก บริโภคแล้วจะเด่น หากไม่บริโภคแล้วจะด้อยกว่าคนอื่น ทั้งมีเนื้อหาส่อไปในทางเพศซึ่งไม่เหมาะสมกับเด็ก และยังพบโฆษณาแฝงทุกรูปแบบอีกด้วย ซึ่งโฆษณาอาหารดังกล่าวจงใจนำเสนอให้แก่กลุ่มเป้าหมายเด็กเป็นหลัก เพื่อกระตุ้นความต้องการบริโภคโดยเฉพาะอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการไม่เหมาะสม หวั่นใจว่าเด็กเล็กและเยาวชนไม่รู้เท่าทันการโฆษณาที่ทำให้มีผลกระทบต่อพฤติกรรมและสุขภาพของตัวเด็กเอง
ด้าน นายสุขวิชัย อิทธิสุนคนธ์ ตัวแทนเยาวชน มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา กล่าวว่า โฆษณาทุกวันนี้ ล่อใจเด็ก หลอกลวงให้เด็กหลงเชื่อซื้อหรือบริโภคขนมที่มีผลต่อสุขภาพ เด็กและเยาวชนในฐานะที่เป็นผู้บริโภค ควรได้รับความคุ้มครองเป็นพิเศษกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากยังไร้เดียงสา หรือยังไม่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ ความคิด ความรู้ ประสบการณ์ที่อ่อนด้อยกว่าผู้ใหญ่ ไม่สามารถคิดวิเคราะห์ข้อมูลได้รอบคอบและเพียงพอในการตัดสินใจ และถูกชักจูงได้ง่ายจากการโฆษณา ทำให้ตกเป็นเหยื่อของการบริโภคอาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย อย่าปล่อยให้เด็กไทยเผชิญกับมหันตภัยตามลำพัง จึงอยากขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยหาแนวทางในการป้องกันการโฆษณาที่หลอกลวงให้เด็กหลงเชื่อบริโภคหรือซื้อขนมโดยไม่ควรด้วย
นายรังสรรค์ ชื่นประเสริฐ ประธานชุมชนวัดอัมพวา ย้ำว่า การโฆษณาอาหารในรายการทางทีวีสำหรับเด็ก มีผลกระทบต่อการบริโภคและสุขภาพของเด็ก โดยเฉพาะอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการไม่เหมาะสม ในขณะที่กฎหมายควบคุมการโฆษณาที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไม่ครอบคลุมรูปแบบ เนื้อหา ความถี่ และปริมาณงานโฆษณาที่ปรากฏในรายการสำหรับเด็ก รวมทั้ง กลไการกำกับดูแลและการติดตามตรวจสอบยังไม่เข้มแข็งหรือมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ดังนั้น กสทช. ต้องออกกฎระเบียบเรื่องการโฆษณา ทั้งโฆษณาตรง โฆษณาแฝงในช่วงเวลารายการสำหรับเด็กให้ชัดเจน และมีข้อบังคับที่กำหนดให้ ไม่มีการโฆษณาอาหารและเครื่องดื่ม ในรายการสำหรับเด็ก หรือ กำหนดให้ผลิตภัณฑ์เดียวกัน จัดทำโฆษณาแยกกัน คือ โฆษณาที่มีเนื้อหาไม่เป็นพิษภัยต่อเด็กเพื่อเผยแพร่ในช่วงเวลา/รายการสำหรับเด็ก และโฆษณาที่มีเนื้อหาสำหรับคนทั่วไป เพื่อลดแรงกระตุ้นหรือแรงสนับสนุนให้เด็กเกิดความต้องการบริโภค เน้นการกำกับดูแลการสื่อสารการตลาดทางโทรทัศน์ อย่างคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้บริโภคโดยเฉพาะพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เหมาะสมของเด็กและเยาวชน
(ผลการศึกษาเรื่อง “การโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มในรายการสำหรับเด็ก ทางฟรีทีวี ช่อง 3, 5, 7 และ ช่อง9” โดย มีเดียมอนิเตอร์ ร่วมกับ แผนงานวิจัยนโยบายอาหารและโภชนาการ เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ (FHP))