สถาบันสื่อเด็กและเยาวชนจัดการอบรมเท่าทันสื่อ ในงานสัมมนาการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง เพื่อให้ศึกษานิเทศก์ได้มองเห็นความสำคัญของเท่าทันสื่อ มองเห็นบทบาทของตนเองในการกระตุ้นให้ครูมองเห็นความสำคัญ และเกิดความเข้าใจถึงทักษะของการเท่าทันสื่อ และการสร้างการเรียนรู้เรื่องเท่าทันสื่อให้กับนักเรียน
การจัดงานครั้งนี้จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท และกลุ่ม Thai Civic Education ณ โรงแรมโนโวเทล แพล็ททินัม

นางสาวเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน กล่าวถึงสถานการณ์สื่อปัจจุบันว่า คนได้อยู่ในยุคสื่อหลอมรวม สื่อต่างๆ อยู่ใกล้เรามากขึ้น ในขณะเดียวกันคนเราก็เป็นผู้ผลิตสื่อ และสื่อสารได้อย่างรวดเร็ว
“สื่อใหม่ เข้ามามีอิทธิพลอย่างมาก เข้าถึงทุกคนและทุกวัย ทั้งโซเชียลมีเดีย Line Facebook ที่ทำให้ทุกคนมีโลกส่วนตัวมากขึ้น บริโภคสื่อได้มากขึ้น และทำให้คนขาดการปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น ไม่คุยกัน ซึ่งทำให้บางคนเกิดโรคต่างๆเกี่ยวกับสื่อตามมาทั้งโลกละเมอแชท โรคโมโนโฟเบีย หรือ โรคห่างโทรศัพท์มือถือไม่ได้ กลัวที่จะตกข่าว กระวนกระวายเมื่อแบ็ตโทรศัพท์หมด หรือไม่มีคลื่น
ในต่างประเทศมีการใช้สื่อออนไลน์ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ทั้งการประณามเหยียดหยามกัน ทำให้ผู้ถูกประณามฆ่าตัวตาย ตามข่าวที่เกิดขึ้น เราห้ามการสื่อสารไม่ได้ ที่สำคัญคือเราจะต้องใช้สื่อต่างๆ ให้เกิดประโยชน์ โดยต้องรู้เท่าทันสื่อ รู้เท่าทันตัวเองเพื่อเราจะได้สื่อได้อย่างเกิดประโยชน์” ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน กล่าว
นอกจากนี้ยังแนะ 5 หลักคิดในการเท่าทันสื่อ นั่นคือ 1. ใครเป็นคนสร้างและผลิตสื่อ 2.มีวิธีการสร้างเนื้อหาสื่อแต่ละแบบเอง 3.ผู้รับสื่อมีความรับรู้สื่อ แม้จะเป็นเนื้อหาเดียวกัน 4.เนื้อหาสื่อแฝงค่านิยม ทัศคติบางอย่างเสมอ 5.เนื้อหาของสื่อหวังประโยชน์บางอย่างเสมอ
พร้อมทั้งนำเสนอ 4 มิติการรู้ทันสื่อ นั่นคือ 1.การรับรู้ ความเข้าใจ มีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง 2. อารมณ์ ความรู้สึก ทำความเข้าใจ กับเนื้อหานั้นและมีอารมณ์และความรู้สึกต่างๆ ร่วมไปกับเนื้อหา 3.สุนทรียศาสตร์ ความงาม มีความรู้และความสามารถที่จะเข้าใจเบื้องหลังการผลิตและนำเสนอมีทักษะสนการชื่นชมความงามและศิลปะ 4.ศีลธรรม จริยธรรม นั่นคือสามารถ วินิจฉัยในเชิงกฎหมาย ระเบียบ จริยธรรม จรรยาบรรณและตัดสินเชิงคุณค่าถูกผิดกับความรับผิดชอบต่อสังคม
“การเรียนรู้การเท่าทันสื่อมีความจำเป็นและส่งเสริมความเป็นพลเมือง การรู้เท่าทันจะทำให้เรามีอำนาจต่อรอง และสามารถสร้างสิ่งใหม่ใช้สื่อได้อย่างมีประโยชน์ และที่สำคัญอีกอย่างก็คือการรู้เท่าทันตัวเอง สามารถจัดการความต้องการของตัวเองได้ สื่อต่างๆ ที่มากระทบจึงทำอะไรเราไม่ได้” ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชนกล่าว

นายจิตร ตัณฑะเสถียร นักโฆษณา ได้บรรยายหัวข้อรู้เท่าทันโฆษณาว่า โฆษณานั้นเป็นการให้ข้อมูลสินค้า แต่ไม่ได้ให้ข้อมูลสินค้าทั้งหมด ซึ่งเป็นสิ่งที่นักโฆษณา ผู้ผลิตสินค้า เล่นกับความอยากของคน โดยใช้สื่อโฆษณาต่างๆ ทั้งออนแอร์ ออนไลน์ และกิจกรรมพื้นที่ เช่นการใช้เสียงและภาพโฆษณาดึงดูด ใช้ป้ายโฆษณาต่างๆ ทั้งที่ถนน ห้างสรรพสินค้า ที่จอดรถ เพื่อนำเสนอข้อมูลต่างๆ ให้ผู้บริโภคได้เห็น ซึ่งซึมเข้าไปข้างในใจและเป็นข้อมูลในการทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้าต่างๆ โดยนำเสนอเทคนิคการเท่าทันโฆษณา เพื่อกระตุกให้ฉุกคิดเวลาดูโฆษณาต่างๆ ไม่ให้เผลอไปตามแรงกระตุ้นความอยาก
4 เทคนิคการถอดรหัสโฆษณานั่นคือ 1.ใครคือเจ้าของโฆษณาชิ้นนี้2.ใครคือกลุ่มเป้าหมายของโฆษณาชิ้นนี้ 3.โฆษณาชิ้นนี้ต้องการทำให้คุณรู้สึกอย่างไรต่อสินค้า 4.โฆษณาชิ้นนี้พยายามให้คุณเชื่อ หรือทำอะไร
13 เทคนิคโฆษณาที่นักโฆษณาใช้
- ใช้สัญลักษณ์ ภาพ ตัวละคร การ์ตูน เพื่อส่งผ่านความรู้สึกที่ต้องการไปยังผลิตภัณฑ์
- ข้อดี ทำให้เราทราบว่าผลิตภัณฑ์ดีอย่างไร ใช้แล้วจะได้อะไร หรือรู้สึกอย่างไร
- เกมส์และกิจกรรม นำผลิตภัณฑ์เข้าไปร่วมกับกิจกรรมที่กลุ่มเป้าหมายสนใจ เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย
- อารมณ์ขัน ใช้อารมณ์ขัน เพื่อให้โฆษณาน่าสนใจ และเป็นที่จดจำ
- ต้องมี ทำให้รู้สึกว่าต้องใช้สินค้าจึงจะมีความสุข โดดเด่นหรือเป็นที่ยอมรับ
- ของขวัญ รางวัลยั่วใจ นำของขวัญ รางวัลมาดึงดูดความสนใจ ให้ซื้อสินค้า
- ตอกย้ำ ตอกย้ำซ้ำๆ เพื่อให้เกิดการคุ้นเคยหรือจดจำ
- แรงดดึงดูดทางสัมผัส กระตุ้นให้ความรู้สึกด้วยรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่โดนใจ
- คำยืนยันจากคนดังหรือผู้ใช้ นำบุคคลที่มีชื่อเสียงมายืนยันว่าใช้แล้วดีอย่างไร เพื่อให้เราเชื่อ
- กระตุ้นให้ตัดสินใจ กระตุ้นหรือเร้าให้ตัดสินใจ จนอาจก้าวข้ามการคิดไตร่ตรอง
- ความกลัว ทำให้เรารู้สึกกลัวว่าจะเกิดปัญหา แตกต่างจากคนอื่น ไม่เป็นที่ยอมรับถ้าไม่ใช้สินค้า
- ส่วนลด ใช้ส่วนลดเพื่อกระตุ้นการตัดสินใจ
- ส่วนผสมพิเศษ มีส่วนผสมที่พิเศษที่ทำให้เราคิดว่าผลิตภัณฑ์นี้พิเศษกว่าผลิตภัณฑ์อื่นๆ






