เมื่อวันที่ 26-27 พฤศจิกายน 2565 ณ โรงเรียนวัดดอนมงคลสันติสุขวิทยา อ.สันติสุข จ.น่าน สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “สามเณรน่าน สร้างสื่อ สะท้อนเมือง” ภายใต้โครงการสามเณรน่านร่วมออกแบบเมือง (MIDL for Inclusive Cities) ซึ่งมีสามเณรจากโรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดนิโครธาราม, โรงเรียนเชียงกลางปริยัติศึกษา และโรงเรียนวัดดอนมงคลสันติสุขวิทยา เข้าร่วมอบรมมากกว่า 30 รูป
.
การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ได้นำงานสลากภัต ซึ่งเป็นประเพณีงานบุญที่ทำเป็นประจำทุกปี หลังจากออกพรรษา และเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับสามเณรมาเป็นพื้นที่ในการปฏิบัติการเรียนรู้แนวคิด Inclusive Society หรือ การมองเรื่องใกล้ตัวที่นับรวมทุกคน โดยงานสลากภัตจัดขึ้น ณ วัดน่านมั่นคง อ.สันติสุข จ.น่าน เณรได้นำก๋วยสลากที่ตนเองทำร่วมกับครอบครัวมาร่วมในงานนี้ด้วย และในขณะเดียวกัน ก็เป็นผู้ถ่ายทอดเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับงานสลากภัตผ่านรูปแบบการสื่อสารที่หลากหลาย
กาลครั้งหนึ่งในวันกินสลาก ที่อำเภอสันติสุข
.
สามเณรได้มองเห็นว่า บุคคลที่กำลังจะหายไปจากสังคม คือ “คนทำก๋วย” ใส่ของที่จะมาทำบุญในงานสลากภัต เพราะปัจจุบัน “ก๋วย” นิยมใช้ตระกร้าพลาสติกแทนไม้ไผ่เป็นส่วนใหญ่ โดยให้เหตุผลกันว่า มีความสะดวกสบาย หาซื้อง่าย และสามารถนำไปใช้งานอื่นต่อไปได้ แต่ในขณะเดียวกัน ภูมิปัญญาในการนำไม้ไผ่มาทำเป็นก๋วยใส่ของ การสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน และการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม จึงจำเป็นต้องนำสิ่งเหล่านี้มาใคร่ครวญกันมากขึ้นในการจัดงานสลากภัต
.
เสียงของเณรควรถูกนับรวม
“สายธารแห่งชีวิต” เป็นเครื่องมือหนึ่งในการช่วยสะท้อนเรื่องราวชีวิตของเณรและช่วยให้ทุกคนฝึกการรับฟังอย่างเข้าใจกันมากขึ้น “เณรก็เป็นเด็กคนหนึ่งในสังคมเหมือนกัน มีความคิด ความฝัน ความหวังเหมือนกับเด็กทั่วไป อยากได้เรียนหนังสือสูงๆ อยากเข้าเรียนต่อในคณะวิจิตรศิลป์ อยากเข้าเรียนต่อในคณะการสื่อสาร แต่ในชีวิตความเป็นจริงอีกด้านหนึ่งคือ อาจจะไม่ได้เรียนต่อแล้ว เพราะเงินทุนที่จะเล่าเรียนอาจจะไม่พอ และจำเป็นต้องเลือกตัดสินใจตอบแทนพระคุณของคนในครอบครัวมากกว่าจะดำเนินชีวิตของตนเองเป็นศูนย์กลาง”
.
ชีวิตของสามเณรหลายรูปสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำในสังคม คนจนกับคนรวยมีช่องว่างระหว่างกันมากขึ้น ครอบครัวเกิดความแตกแยกหย่าร้าง ซึ่งกระทบต่อสิทธิและโอกาสที่จะได้รับการดูแลปกป้องจากสังคมอย่างเท่าเทียม
.
ก้าวต่อไป..สามเณรน่านออกแบบเมือง
ก่อนที่จะแยกย้ายกันไปขับเคลื่อนเมืองของทุกคนในแต่ละพื้นที่นั้น สามเณรแต่ละโรงเรียนได้เสนอความคิด ความฝัน และการเข้าไปมีส่วนร่วมสร้างสรรค์เมืองหรือชุมชนของตนเอง บนฐานแนวคิด “เมืองที่ควรนับรวมทุกคน” โดยได้เสนอแผนกิจกรรมที่น่าสนใจ เช่น ธรรมยาตราเพื่อสร้างศรัทธาและการมีส่วนร่วมของทุกคน, เลิกบูลลี่ที่ปริยัติ เพื่อสร้างความตระหนัก จิตสำนึกของนักเรียนสามเณร และอยากจะชวนคนในชุมชนและโรงพยาบาลร่วมสร้างกำลังใจกับคนที่ถูกบูลลี่ให้มีส่วนร่วมการเปลี่ยนแปลง, ถอดรหัส สร้างคุณค่าภูมิปัญญาของชาติพันธุ์ไทลื้อ ณ บ้านหนองบัว