หรือนิทานจะไม่ใช่เทพนิยาย ความเป็นมาของนิทานก่อนกลายเป็นนิทานสำหรับเด็ก

นิทานคือโลกแฟนตาซีแสนโหดร้าย ที่วาดให้ขัดกับความป่าเถื่อนรุนแรงของโลกแห่งความจริง

คำกล่าวข้างต้นของโกมุนยอง ตัวละครหลักจากซีรีส์เกาหลีเรื่อง It’s Okay to Not Be Okay ที่กำลังออกอากาศอยู่ขณะนี้ อาจขัดกับเรื่องราวของนิทานที่เรารับรู้กันมาว่า นิทานนั้นเป็นเรื่องสำหรับเด็ก และมาพร้อมกับคติสอนใจ

It’s Okay to Not Be Okay นำเสนอเรื่องราวของผู้คนที่มีอาการป่วยใจได้อย่างน่าสนใจผ่านชื่อตอนที่เป็นชื่อของนิทานคลาสสิค เช่น โฉมงามกับเจ้าชายอสูร ราพันเซลในปราสาทต้องสาป หรือชื่อนิทานของโกมุนยอง เช่น เด็กชายผู้โตมากับฝันร้าย และเด็กซอมบี้ เป็นต้น นิทานที่เธอเขียนเป็นนิทานที่มีความสมจริง และไม่ได้จบลงอย่างสวยงามเหมือนนิทานที่เราคุ้นเคยกัน

นิทานที่ปรากฏในซีรีส์จึงทำให้ชวนคิดว่าแท้จริงแล้วนิทานมีที่มาอย่างไร นิทานเป็นเทพนิยายหรือเรื่องเล่าเสมือนจริงกันแน่ และนิทานเป็นเรื่องของเด็กจริงหรือไม่ ทำไมเนื้อหาของนิทานในบางฉบับจึงมีความสมจริงและหม่นหมองเกินกว่าจะเป็นนิทานของเด็ก

ภาพประกอบจาก : https://www.sarakadeelite.com/lite/its-okay-to-not-be-okay/

นิทานมีความเป็นมาที่ยาวนาน และอาจมีต้นกำเนิดมาตั้งแต่เมื่อ 6,000 ปีก่อนจากการศึกษาของนักมานุษยวิทยามหาวิทยาลัยเดอร์แฮม ในงานศึกษาของเขายังพบว่าแก่นเรื่องของนิทานเหล่านี้ยังมีความคล้ายคลึงกันในแถบอินโด ยูโรเปียน จากอินเดียถึงสแกนดิเนเวีย นอกจากนี้แล้วงานวิจัยดังกล่าวยังพบว่าเรื่องราวของนิทานนั้นมีความเป็นมาอย่างยาวนานผ่านการเล่าปากต่อปากก่อนที่จะถูกถ่ายทอดผ่านการเขียน และมีความเก่าแก่ยาวนานยิ่งกว่าภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศสและอิตาลีด้วย

งานวิจัยของพุทธชาด อินทรักษา (2534) กล่าวว่านิทานนั้นเป็นวรรณกรรมมุขปาฐะที่มีความเป็นมายาวนานในทุกสังคมทั่วโลก นิทานเป็นวัฒนธรรมที่ให้ความบันเทิง มีการแทรกคติ ความเชื่อ คำสอนต่าง ๆ ในเริ่มแรกนิทานเป็นเรื่องเล่าปากต่อปากก่อนจะพัฒนามาเป็นหนังสือประกอบรูปภาพ การบันทึกเทปเล่านิทานประกอบเพลง จนกระทั่งถึงวิธีการที่เล่าโดยใช้สื่อสารการเล่าประเภทละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ นิทานจึงเป็นผลมาจากขั้นตอนทางวัฒนธรรม แบบแผนการดำรงชีวิตของมนุษย์ ที่มีความเชื่อในทำนองเดียวกัน เช่น ความเชื่อเรื่องภูติผีปีศาจ การนับถือสัตว์เป็นบรรพบุรุษ ความเชื่อเรื่องเวทมนตร์คาถาสิ่งลี้ลับต่าง ๆ

แหล่งกำเนิดนิทานที่เก่าแก่ที่สุดในโลกอยู่ที่อินเดีย ด้วยเหตุที่ว่าพราหมณ์เป็นผู้เล่านิทานเพื่อเผยแพร่หลักธรรมในศาสนาพราหมณ์ของอินเดียโบราณ โดยนิทานของอินเดียที่รู้จักแพร่หลายที่สุดคือนิทานกถาสริตสาครและนิทานปัญจะตันตระ ซึ่งในส่วนของนิทานปัญจะตันตระได้แปลเป็นภาษาต่าง ๆ เช่น กรีก สเปน อิตาลี เยอรมัน อังกฤษ เป็นต้น สำหรับศาสนาพุทธเองก็มีการเล่านิทานสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ส่วนมากจะนิยมการเล่าเรื่องราวประวัติของพระพุทธเจ้า นั่นคือ นิทานชาดก นอกจากนี้ในยุโรปเองก็มีนิทานประจำชาติของตนนั่นคือนิทานอีสป ซึ่งเป็นนิทานของชาวกรีกที่เล่าไว้เมื่อประมาณ 600 ปีก่อนคริสตกาล ส่วนในประเทศไทยได้รับอิทธิพลเกี่ยวกับนิทานจากอินเดียมานาน ส่วนใหญ่เป็นนิทานชาดก คือ นิบาตชาดกหรือชาดกพระเจ้าห้าร้อยชาติกับปัญญาสชาดกหรือชาดกนอกนิบาต

จุดเปลี่ยนสำคัญของนิทานอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 18 เมื่อเกิดการรวบรวมนิทานในยุโรป ในกรณีของเยอรมันนั้นมาจากพื้นฐานแนวคิดชาตินิยมรวบรวมโดยสองพี่น้องกริมม์กลายเป็นเป็นนิทานกริมม์ เช่น หนูน้อยหมวกแดง ซินเดอเรลล่า ฮันเซลกับเกรเทล การรวบรวมนิทานในเยอรมันของพวกเขาสร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนอื่น ๆ รวบรวมนิทานเพื่อให้แรงบันดาลใจ สร้างความเชื่อร่วมกัน สร้างความรักชาติ สร้างชาตินิยมแบบโรแมนติกขึ้นมา ซึ่งนิทานของประเทศเป็นตัวแทนของความเป็นชาตินั้น ๆ สำหรับการรวมนิทานในกรณีอื่น ๆ เช่น ฝรั่งเศสนิทานถูกรวบรวมโดยชาร์ลส์ แปโร ผลงานเด่น เช่น แมวในรองเท้าบูท มาเธอร์กูส และฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์สันนักแต่งนิทานชาวเดนมาร์กนอกจากจะรวบรวมนิทานแล้วก็ได้แต่งนิทานเองด้วย เช่น เจ้าหญิงเงือกน้อย สาวน้อยไม้ขีดไฟ และลูกเป็ดขี้เหร่

ภาพประกอบจาก : https://www.independent.co.uk/news/long_reads/ai-robot-brothers-grimm-fairytale-write-story-the-princes-and-fox-a8393826.html

เราจะเห็นได้ว่าในแรกเริ่มเทพนิยายไม่ได้ถูกสร้างมาสำหรับเด็ก เนื่องจากนิทานมีความเป็นมาจากเรื่องเล่าที่ยาวนาน ในขณะที่การรับรู้ถึงความแตกต่างระหว่างวัยเด็กและวัยผู้ใหญ่อย่างที่ชาวตะวันตกรับรู้กันนั้นอยู่เป็นผลผลิตของประวัติศาสตร์เมื่อไม่กี่ศตวรรษที่ผ่านมาเท่านั้น วัยเด็กจึงเป็นความรู้สึกนึกคิดที่ผู้ใหญ่มีต่อเด็ก เป็นประดิษฐกรรมทางวัฒนธรรม (ภาคิน นิมมานนรวงศ์, 2558) ความเป็นเด็กจึงเกิดทีหลังนิทานที่มีความเป็นมาที่ยาวนาน กล่าวได้ว่านิทานสำหรับเด็กนั้นเกิดขึ้นหลังจากการมีการรวบรวมนิทานในยุโรปแล้วเนื้อหาในนิทานถูกปรับให้เบาลง มีการแทรกคำสอน คติสอนใจที่ต้องการให้เด็กเรียนรู้ลงไป และเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างจิตสำนึกความเป็นชาติให้แก่เด็ก ๆ

นิทานจึงมีความเก่าแก่เทียบเท่าอารยธรรมมนุษย์ เป็นผลสังเคราะห์จากการพูดและการเขียน ผสมผสานเรื่องราวต่าง ๆ ที่คล้ายคลึงกัน เช่น นิทานเรื่องซินเดอเรลล่าปรากฏทั้งในจีนโบราณและอียิปต์โบราณ รายละเอียดอาจมีความแตกต่างไปบ้างขึ้นอยู่กับผู้เล่าเรื่อง นิทานจึงเป็นการสะท้อนค่านิยม วัฒนธรรม และสภาพสังคมของมนุษย์ และมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องจนกลายมาเป็นนิทานสำหรับเด็กในปัจจุบันเพื่อให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้คุณค่าบางประการของสังคม อย่างไรก็ดีการพยายามให้นิทานนั้นสร้างข้อสรุปถึงค่านิยมสำเร็จรูปที่เด็ก ๆ ควรยึดถือก็อาจไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสมสำหรับเด็กนัก สิ่งที่เด็กอาจเรียนรู้ผ่านนิทานได้ดีที่สุดคือแบบจำลองทางสังคมเสมือนจริงผ่านเรื่องเล่าเพื่อเตรียมให้พวกเขาได้ไปเผชิญโลกกว้างมากกว่า


อ้างอิง

https://so03.tci-thaijo.org/index.php/liberalarts/article/view/46156/38188

https://www.pookpress.co.uk/project/fairy-tales-from-around-the-world/

https://childrens-books.lovetoknow.com/History_of_Fairy_Tales

https://www.bbc.com/news/uk-35358487#:~:text=Fairy%20tales%20like%20Beauty%20and,universities%20in%20Durham%20and%20Lisbon.&text=They%20found%20some%20tales%20were,back%20to%20the%20Bronze%20Age.

https://www.nationalgeographic.com/history/magazine/2019/09-10/brothers-grimm-fairy-tales

https://cuir.car.chula.ac.th/dspace/handle/123456789/32075?src=%2Fdspace%2Fsimple-search%3Fquery%3D%2522%25E0%25B8%2599%25E0%25B8%25B4%25E0%25B8%2597%25E0%25B8%25B2%25E0%25B8%2599%2522%26sort_by%3Dscore%26order%3Ddesc%26rpp%3D10%26etal%3D0%26start%3D60%26brw_total%3D209%26brw_pos%3D62&query=%22%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%99%22

ภาพประกอบปกจาก: https://unsplash.com/photos/5QTQz-oYk1A

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • ประเภทยินยอม

    คุ้กกี้สำหรับวิเคราะห์การใช้งานเว็บไซต์เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของเว็บไซต์ (Google Analytics)

บันทึกการตั้งค่า