สื่อปัจจุบันเป็นยิ่งกว่าพ่อแม่ของเด็ก เป็นเหตุเด็กปฐมวัย 1 ใน 3 มีพัฒนาการต่ำกว่าเกณฑ์ ไอคิวเด็กวัยรุ่นลดลงอย่างต่อเนื่อง ถึงเวลาใช้กระบวนการสื่อสร้างสรรค์ เพื่อสร้างโรงเรียนนำร่องการสอนเท่าทันสื่อในโรงเรียน
นางสาวเข็มพร วิรุฬราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน กล่าวถึงความสำคัญในการเท่าทันสื่อว่า เด็กนั้นเป็น 1 ใน 3 ของประชาการของประเทศ สื่อปัจจุบันเป็นยิ่งกว่าพ่อแม่ของเด็ก เพราะเด็กใช้เวลากับสื่อเฉลี่ยวันละ 8 ชม. ความถี่ในการนำเสนอเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมของละครในช่วงเวลาของเด็ก-เยาวชนนั้น จากการศึกษา พบว่าโดยเฉลี่ยมีความรุนแรงเกิดขึ้น 3 ครั้งต่อชั่วโมง นำเสนอเรื่องอคติภาพตัวแทน 1 ครั้ง/ชม. ด้านภาษา 0.25 ครั้ง/ชม. ในเรื่องเพศ 0.13 ครั้ง/ชม.
“การโฆษณา เด็กเห็นโฆษณา 42 ครั้ง(20นาที )ใน 1ชั่วโมงหรือ 23%ของเวลารายการทีวี เด็กไทยซื้อขนมกินเฉลี่ย คนละ 9,800 บาทต่อปี ผลที่ตามมาก็คือภาวะทุโภชนาการขาดและเกิน 1 ใน 10 ของเด็กวัยเรียนจะเป็นโรคอ้วน เสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆทำให้กระทบรายได้ของประเทศลดลง 2- 3% ค่ารักษาโรคอ้วนกว่าเจ็ดหมื่นล้านบาท สื่อสร้างค่านิยมฟุ่มเฟือย ตามแฟชั่น เด็กปฐมวัย 1 ใน 3 มีพัฒนาการต่ำกว่าเกณฑ์ ไอคิวเด็กวัยรุ่นลดลงอย่างต่อเนื่อง และยังพบอีกว่าวัยรุ่นไทยอยู่ในค่านิยมการบริโภค ขาดทักษะชีวิตและการแก้ปัญหา และจากตัวเลขการศึกษายังพบอีกว่า 5.1% ของเด็ก วัยรุ่น มีปัญหาสุขภาพจิตและพฤติกรรม เด็กถูกทารุณทางเพศเฉลี่ยวันละ 40 คน เด็กไทยชอบเกมรุนแรงถึงร้อยละ 50 ทีเดียว” นางสาวเข็มพร กล่าว
นอกจากนี้ยังกล่าวเพิ่มถึงช่องทางการรับสื่อว่ามีมากมายนอกจากช่องฟรีทีวีแล้วยังมีทีวีดาวเทียม ทีวีดิจิตอลที่กำลังจะเกิดขึ้นอีก 48 ช่องรายการ หนังสือพิมพ์ สถานีวิทยุ อินเทอร์เน็ตทีวี,Mobile TV
“สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นคือการเกิดขึ้นของทีวีดิจิตอลอีก 48 ช่อง ที่ส่งตรงถึงมือเด็กได้มากขึ้นทั้งละคร ตบจูบนำเสนอเรื่องเพศและความรุนแรงเป็นตัวดึง รายการโทรทัศน์ต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่ความรุนแรงจากการนำเสนอข่าว ภาพข่าวการฆ่าหั่นศพ ชุมชนและคนในครอบครัว รวมถึงโรงเรียนต้องช่วยกันขจัดสื่อร้าย ขยายสื่อดี สร้างภูมิคุ้มกัน เท่าทันสื่อ โดยใช้กระบวนการสื่อสร้างสรรค์ เพื่อสร้างทักษะชีวิตนั้นก็คือ “ การอ่านสื่อออก เขียนสื่อได้ ” โดยมี 4 กระบวนการ
1.การรับสื่อดี จะช่วยสร้างจินตนาการและจิตสำนึกใหม่ 2.ศึกษา –หาข้อมูล โดยอ่านมากขึ้น เรียนรู้จากผู้อื่น ศึกษาชุมชน 3.ผลิตสื่อ –สื่อสาร เพื่อให้เด็กเห็นศักยภาพ เห็นคุณค่าตน ฝึกให้ทำงานกลุ่ม ให้รับผิดชอบต่อผลที่เกิด สะท้อนความคิดสู่สังคม และ 4.สร้างทักษะในการเท่าทันสื่อ โดยฝึกให้คิด วิเคราะห์ แยกแยะ วิจารณ์สื่อได้