“ตัวตน อัตลักษณ์ และอำนาจที่มีในสังคม”
ในวันที่ 19-21 มกราคม 2567 ณ โรงแรมนูโว ซิตี้ กรุงเทพ มหานคร
หลักสูตร #Y4W เป็นหลักสูตรที่เสริมสร้างจิตสำนึกความเป็นพลเมืองในสังคม และสร้างประสบการณ์ร่วมให้กับแกนนำ ภายใต้แนวคิด สาน(สัมพันธ์เครือข่าย) เติม(องค์ความรู้ แนวคิด ชุดประสบการณ์) เชื่อม(ร้อยเยาวชนกับผู้คน ชุมชนและสังคม) รวมถึงชวนเยาวชนให้ได้เห็นมุมมองมิติใหม่ ๆ บนความหลากหลายของเมือง เพื่อให้เยาวชนได้ออกแบบการทำงานในพื้นที่ของตนเองได้ลึกซึ้งขึ้น ซึ่งในการอบรมรุ่นที่ 2 นี้ มีตัวแทนผู้เข้าร่วมจากหลากหลายพื้นที่ที่เป็นเครือข่ายแกนนำของ สสย. ได้แก่ แกนนำเยาวชนจากมูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา(มยพ.) พื้นที่นครราชสีมา พื้นที่ระยอง และพื้นที่หนองบัวลำภู แกนนำเยาวชนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก(มพด.) พื้นที่ปัตตานีและพื้นที่ยะลา แกนนำเยาวชน MIDL for Inclusive Cities พื้นที่แม่สะเรียง พื้นที่อุดรธานีและพื้นที่ยะลา แกนนำเยาวชนจากโครงการสาธารณศึกษา พื้นที่อยุธยาและพื้นที่ยะลา แกนนำเยาวชนจากโครงการ Kid(แล้ว)ทำ จากพื้นที่ปทุมธานี ทั้งหมดจำนวน 22 คน
.
Module ที่ 1 เป็นการเรียนรู้ เข้าใจ ตนเอง อัตลักษณ์ที่มี วัฒนธรรม ประเพณี ความคิดความเชื่อของแต่ละพื้นที่ และอำนาจเชิงโครงสร้างต่าง ๆ ที่มีในสังคม โดยมีวิทยากรทั้งหมด 3 ท่านเป็นผู้ดำเนินชวนคิดชวนมองในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่คุณโตมร อภิวันทนากร จากกลุ่มมานีมานะ คุณปราศรัย เจตสันติ์ จากกลุ่ม Critizen และคุณอินทิรา วิทยสมบูรณ์ จาก Feel Trip
.
เริ่มต้นจากวิทยากร คุณโตมร อภิวันทนากร ชวนเยาวชนนำสิ่งของที่แทนค่าความเป็นตัวเองมาแลกเปลี่ยนให้เพื่อนได้รู้จักเราในมุมที่ลึกซึ้งมากกว่าที่พบเห็น และชวนมองความเป็นอัตลักษณ์ของแต่ละคนว่ามีเบื้องลึกอย่างไรบ้างผ่านภูเขาน้ำแข็ง 6 ชั้น และให้ลองฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep listening) ผ่านการจับคู่เล่าเรื่องตามประเด็นต่าง ๆ และวิเคราะห์ตัวตนเราในสังคมต่าง ๆ โดยจัดอันดับผ่านสี และวงกลมพร้อมกับแลกเปลี่ยน และชวนแยกเรื่องแหล่งอำนาจที่พบเห็นในสังคมว่ามีอะไรบ้าง และปิดท้ายของวันแรกด้วยการชวนเดินสำรวจย่านบางลำพูในเวลาช่วงเย็น เพื่อชวนให้เยาวชนที่มาจากหลากหลายพื้นที่ได้เห็นมุมมองในเมืองหลวงที่เขาอาจจะไม่เคยได้พบเห็นมาก่อน กับ “NIGHT TRAIL คนไร้บ้านย่านบางลำพู”
.
ในวันที่ 2 ของการอบรม คุณปราศรัย เจตสันติ์ ชวนเยาวชน ทำ Check lists อัตลักษณ์ตัวเองอีกครั้งและเล่นเกมก้าวเดินตามค่านิยม เพื่อให้เห็นว่าอัตลักษณ์ที่สังคมให้การยอมรับนั้นมีอำนาจเหนือว่าอำนาจอื่นๆ อย่างไร และชวนเยาวชนจับกลุ่มเพื่อออกแบบเมือง/ ชุมชน ของตัวเอง ร่วมร่างแผนที่ชุมชนและผู้คนที่อยู่ในเมืองแห่งนั้นรวมถึงมอบบทบาทพลเมืองในแต่ละระดับให้กับตัวละคร ช่วงบ่ายมีการเล่นบทบาทสมมติ (Role Play) “หางานทำ” โดยที่แต่ละคนจะได้บทบาทที่ต่างกันออกไป ในช่วงค่ำคืนของวันนี้เป็นช่วงการเล่าประสบการณ์ เรื่องราวการเรียนรู้ หรือมุมมองที่เปลี่ยนแปลงไป ที่ได้จากการเข้าร่วม ผ่านกิจกรรมที่ชื่อว่า “พูด TED”
.
วันสุดท้าย คุณอินทิรา วิทยสมบูรณ์ ได้แบ่งกลุ่มเยาวชนออกเป็น 5 กลุ่มเพื่อให้ได้ลงไปสำรวจย่าน ด้วยเครื่องมือ Creative Trail หาเรื่อง-สร้างเรื่อง-เล่าเรื่อง กับกิจกรรม “คน-คล(ร)อง-บางลำพู” แล้วนำข้อมูลที่ได้มาออกแบบ เล่าเรื่องสื่อสารแบบใหม่ เพื่อให้เยาวชนได้เข้าใจ เช้าถึง และสื่อสารเล่าเรื่องราวของพื้นที่และการเรียนรู้ข้องตัวเอง
.
Young Forward Module 1 เป็นเพียงปฐมบทการเรียนรู้บนสังคมกว้างของแกนนำเยาวชน และหลังจากนี้ยังมีกิจกรรมที่ 2-3 ที่รอให้เยาวชนกลุ่มนี้ได้ท้าทายและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เชื่อมโยงไปหาพื้นที่ปฏิบัติการที่เยาวชนกำลังดำเนินการอยู่ในพื้นที่บ้านของตัวเอง ชวนติดตามการเติบโตของแกนนำเยาวชนคนรุ่นใหม่กับ #Y4Wรุ่นที่2#DragonHeart ตลอดปี 2567