แนะเปิดให้ภาคประชาชนเข้าไปร่วมกำกับดูแล ในเวทีบทเรียนหน้าจอตู้..สู่การผลักดันนโยบายด้านการกำกับดูแลสื่อ เพื่อหาทางออกในการแก้ปัญหา
27 ส.ค.57 เครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ ร่วมกับมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา โดยการสนับสนุนของสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน จัดเวทีบทเรียนหน้าจอตู้..สู่การผลักดันนโยบายด้านการกำกับดูแลสื่อและกลไกการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ณ โรงแรมเอเชีย กรุงเทพ
ดร.ชนัญสรา อรนพ ณ อยุธยา
นักวิจัยศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยผลการรวบรวมข้อมูลกรณีศึกษา “หลังการออกอาการรายการไทยแลนด์ก๊อตทาเลนต์ซีซัน 3: สิทธัตถะ เอมเมอรัล…ภาคส่วนต่างๆดำเนินการอย่างไรบ้าง” ซึ่งจากระยะเวลาตั้งแต่รายการออกอากาศเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2556 จนถึงกระบวนการพิจารณาตัดสินโทษทางปกครองของ กสทช. เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2557 รวมระยะเวลา 11 เดือน ซึ่ง กสทช.ตัดสินอย่างเป็นทางการว่าขัดต่อมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ลงโทษทางปกครองสูงสุด ปรับช่อง 3 เป็นเงิน 5 แสนบาท
กรณีการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนพบว่าการนำเสนอเป็นลำดับสถานการณ์ทั่วไป นำเสนอการสัมภาษณ์ความคิดเห็น โดยยังไม่นำเสนอเรื่องการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จะมีก็แต่หนังสือพิมพ์ภาษาต่างประเทศที่เกาะกระแสตั้งเริ่มจนจบกระบวนการและนำเสนอเรื่องสิทธิในสื่อ รวมทั้งความเคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดียพบว่าเป็นการเสริมกันระหว่าง Online และ Offline เพราะกระแสวิพากษ์วิจารณ์ เป็นตัวที่ทำให้เกิดจุดสนใจ และสื่อมวลชนได้นำประเด็นมานำเสนออย่างต่อเนื่อง
“เป็นที่น่าสนใจว่าการสื่อสารบนโลกออนไลน์นั้นสื่อสารบนพื้นฐานอารมณ์ วิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์และการกระทำของช่องรายการที่ออกอากาศ มากกว่านำเสนอความเท่าเทียมกันของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จะทำอย่างไรและมีวิธีการไหนที่เราจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้คนได้เข้าใจถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มากกว่าใช้อารมณ์และความรู้สึกมาแลกเปลี่ยนเพื่อหาทางออกต่อปัญหา” ดร.ชนัญสรา กล่าว
นางฐาณิชชา ลื้มพานิช
ในเวทีเสวนา “บทเรียนหน้าจอตู้..สู่การผลักดันนโยบายด้านการกำกับดูแลสื่อและกลไกการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ” โดยนางฐาณิชชา ลื้มพานิช ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว กล่าวถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมาว่า หลังเกิดเหตุทางนักสังคมสงเคราะห์ของมูลนิธิเครือข่ายครอบครัวได้ลงไปหาพบผู้เสียหาย และร่วมหารือหาทางออกต่อกรณีปัญหาดังกล่าว
“การเข้าไปทำความเข้าใจกับผู้เสียหายนั้นทางทีมได้ลงไปดำเนินการในทันที ทำความเข้าใจถึงกระบวนการทำงานในส่วนของมูลนิธิฯเพื่อหาข้อเท็จจริง และกระบวนการดำเนินงานกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และตลอดระยะเวลาดำเนินการ ผู้เสียหายไม่ได้รับการเยียวยาจากผู้เกี่ยวข้อง ในขณะที่ความเสียหายนั้นเกิดขึ้นตลอดเวลา เพราะมีการนำเสนอทั้งสื่อมวลชนและวิพากษ์วิจารณ์ในโลกโซเชียลมีเดีย รวมทั้งการที่กสทช.สั่งครอบครัวผู้เสียหายเข้าพบเพื่อดำเนินการนำหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้กสทช. ตามข้อเรียกร้องในการแสวงหาข้อเท็จจริง ซึ่งครอบครัวต้องดำเนินการเอง ในที่สุดมีแต่บทลงโทษที่มีคำสั่งปรับรายการ….แต่ช่องที่ออกอากาศ หรือองค์กรกำกับดูแลกันเองของสภาวิชาชีพฯ หรือแม้กระทั่ง กสทช. ไม่ได้มีการดำเนินการเยียวยาผู้เสียหายเลย และแจ้งภายหลังว่าข้อเรียกร้องในการแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความบกพร่องของผู้เสียหายไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกสทช. และตลอดระยะเวลาการดำเนินงานของกสทช. มีความล่าช้ามาก หากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะจัดการอย่างไร และใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ” ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัวกล่าว
ดร.ชนัญสรา กล่าวเพิ่มเติมถึงบทบาทการเยียวยาของสภาวิชาชีพฯ ว่าแต่ก่อนกำกับดูแลโดยรัฐพอสื่อมีมากขึ้นจึงให้สภาวิชาชีพสื่อกำกับดูแลและกำกับกันเอง ซึ่งปัญหาที่พบก็คือเมื่อสื่อกระทำผิดนั้นสภาวิชาชีพยังไม่มีอำนาจในการจัดการเมื่อพบปัญหาและตัวสื่อนั้นสามารถลาออกจากการเป็นสมาชิกของสภาวิชาชีพฯ จึงทำให้เกิดวิกฤตศรัทธาขึ้นทำให้การกำกับดูแลกันเองไม่เกิดขึ้นจริง
“ในประเทศไทยยังไม่มีนโยบายให้สื่อนำเสนอความรู้และความเข้าใจต่อกลุ่มที่หลากหลายในสังคม ซึ่งแตกต่างจากต่างประเทศอย่างประเทศออสเตรเลียที่มีชนเผ่ามากมาย แต่ภาครัฐได้มีนโยบายให้สื่อนำเสนอภาพข่าวโดยเคารพสิทธิของทุกกลุ่ม และสร้างความเข้าใจต่อชนเผ่าต่างๆ ทำให้ไม่เกิดปัญหา คำถามคือจะทำอย่างไรให้รัฐบาลได้สร้างและให้ความสำคัญกับการเห็นความสำคัญของความแตกต่างของบุคคล” ดร.ชนัญสรากล่าว
น.ส.เข็มพร วิรุฬราพันธ์
น.ส.เข็มพร วิรุฬราพันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน กล่าวถึงการให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ผ่านสื่อว่าสำคัญมากๆ
“ในสังคมปัจจุบันเราไม่ใช่ผู้รับสื่อต่อไปแล้ว แต่เราเป็นผู้ที่สามารถสื่อสารด้วยตนเองดังนั้น ไม่ว่าสื่อจะนำเสนอประเด็นเรื่องใด เราสามารถใช้การสร้างกระแสของสื่อ มาเป็นประเด็นการเรียนรู้ของสังคมในประเด็นต่างๆ ด้วยเช่นกัน ต้องใช้ประโยชน์จากสื่อ บางปัญหาในสังคมที่สื่อนำเสนอออกมา เราสามารถเกาะกระแสสื่อ เพื่อแก้ปัญหานั้นเพื่อยกระดับสังคมได้ ทั้งปัญหาเรื่องคนพิการ กลุ่มคนออทิสติก เราใช้ประเด็นจากสื่อมาร่วมผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาได้
กลไกเข้ามาดูแลสื่อด้านเด็กนั้นสำคัญมาก รัฐควรที่จะเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม กระจายอำนาจในการกำกับดูแลด้านสื่อเด็ก เพราะเป็นกลไกที่มีความละเอียดอ่อนมาก การเปิดให้หน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเข้าไปร่วมดูแลจึงมีความจำเป็น
กลไกการติดตามในส่วนภาคสังคมก็มีความจำเป็นที่ต้องร่วมกันติดตามประเด็นการละเมิดในส่วนอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นตามกระแสสังคม อย่างกรณีการขายครีมผิวขาวบนรถไฟฟ้า การปลูกฝังค่านิยมต่างๆเช่นในละครมักจะให้อัตลักษณ์คนรับใช้ในละครว่าต้องเป็นคนอีสาน หรือนำเสนอคนชนเผ่าให้พูดไม่ชัดสร้างความตลกให้กับผู้ชม ซึ่งประเด็นเหล่านี้ถือเป็นความรุนแรงของสังคมที่ต้องติดตามและแก้ไขเช่นกัน” ผู้อำนวยการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชนกล่าว
นอกนี้ยังกล่าวถึงมาตรการการกำกับดูแลภาครัฐว่านอกจากจะดูแลกำกับเยียวยาในกรณีประเด็นทางลบต่อสังคมแล้วยังต้องสร้างและส่งเสริมการดูแลในเชิงบวกด้วย ทั้งการส่งเสริมให้ผลิตรายการในเชิงสร้างสรรค์ ส่งเสริมรายการดีๆ และร่วมผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.กองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ดีในการสร้างสรรค์และส่งเสริมสื่อดี
กรณีการเยียวยาความเสียหายต่อผู้ถูกสื่อละเมิดเมื่อผลพิสูจน์ถูกผิดออกมาแล้ว การเยียวยาของภาครัฐควรที่จะสร้างระบบการเยียวยาทั้งสังคม ไม่ใช่เป็นแค่เฉพาะรายบุคคล เพราะปัญหานั้นส่งผลกระทบต่อคนกลุ่มนั้นๆ ทั้งสังคม เป็นปัญหาผลกระทบในวงกว้างควรที่จะเยียวยาทั้งสังคม
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม
ทางด้านนายณัฐวุฒิ บัวประทุม นักกฎหมายมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก กล่าวถึงการฟ้องร้องต่อกรณีนี้ว่าผู้เสียหายสามารถได้ดำเนินการได้ 2 ทาง คือ การฟ้องร้องทางอาญามีอายุ 3 เดือน ในกรณีนี้พิจารณาตามเวลาที่ได้กล่าวมาข้างต้นคงไม่สามารถดำเนินการได้แล้ว ยังคือมีการฟ้องร้องทางแพ่งซึ่งมีอายุความ 1 ปีและหรือ 10 ปี นับจากวันที่โดนละเมิดซึ่งหากผู้เสียหายยืนยันต้องการฟ้องร้องก็ต้องพิจารณาเอกสารอื่นๆประกอบ เช่น ผู้เสียหายได้เซ็นเอกสารใดๆ ให้กับทางรายการหรือไม่ มีเนื้อความว่าอย่างไร เป็นต้น “กรณีของสิทธัตถะนี้ จะเซ็นสัญญาหรือไม่นั้น วันนี้ไม่ได้หาคนผิดแต่หาความรับผิดชอบ โจทย์ใหญ่ไม่ต้องการฟ้องเป็นคดี เพราะตัวเงินวัดไม่ได้กับความเสียหายที่เกิดขึ้น”
นายณัฐวุฒิยังกล่าวอีกว่ารู้สึกเห็นใจผู้เสียหายมากเพราะทราบว่าต้องดำเนินการเพื่อขอหลักฐานต่างๆ เอง ต้องเสียค่าใช้จ่ายเองเพื่อนำเอกสารต่างๆมาประกอบการร้องเรียน และยินดีให้ความช่วยเหลือหากผู้เสียหากต้องการ