พื้นที่สื่อสร้างสรรค์ บ้านภูมิปัญญา เรือกระทงกาบมะพร้าว

ชวนใช้กระทงกาบมะพร้าว ของชุมชนวัดโพธิ์เรียง ลอยกระทงซึ่งอยู่แขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ เป็นส่วนหนึ่งของ เครือข่ายบางกอกนี้…ดีจัง เป็นการรวมตัวกันของชุมชนเมืองในย่านบางกอกน้อย บางกอกใหญ่ เขตพระนคร เขตบึงกุ่ม เขตบางนาและเขตสวนหลวง เปิดพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว โดยจัดสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก-เยาวชน นำเด็ก-เยาวชนออกจากปัจจัยเสี่ยง ทั้งปัญหายาเสพติด อบายมุขเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฯลฯ

โดยใช้ยุทธศาสตร์ 3 ดีในการขับเคลื่อนนั่นก็คือ สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี เริ่มสำรวจความต้องการและการมีส่วนร่วมของเด็ก-เยาวชน สู่ภาคส่วนต่างๆในชุมชน ได้ทำให้เกิดการขยับขยายเป็นเครือข่าย 17 ชุมชน ย่านบางกอกน้อย-บางกอกใหญ่ และขยายไปยังเขตอื่นๆของกรุงเทพมหานคร

การเปิดพื้นที่ทำให้เกิดกลุ่มเยาวชนที่ใช้สื่อศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาและฟื้นฟูสื่อวัฒนธรรมของดีที่มีอยู่ในชุมชน ต่อยอดแหล่งเรียนรู้กลุ่มอาชีพ และสร้างความภูมิใจของชุมชน มีกระบวนการทำงานสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน และพัฒนาไปสู่การสร้างเศรษฐกิจ เกิดรายได้ กลับคืนสู่ชุมชน

 

ในย่านนี้ ในอดีตเป็นสวนมะพร้าว สวนผลไม้ ทำของกินจากมะพร้าว ตามบ้านจึงมีกาบมะพร้าวอยู่มาก เมื่อถึงคืนวันเพ็ญเดือน 12 จึงเกิดความคิดประดิษฐ์กระทงจากกาบมะพร้าวผสมไม้ไผ่และไม้ระกำ ทำเป็นรูปทรงเรืออีโปง แล้วให้คนในหมู่บ้านมาลอยกระทงกันริมฝั่งคลอง เพื่อเป็นการขอขมาพระแม่คงคาและลอยทุกข์โศกโรคภัยให้พ้นจากตัวเองและครอบครัว

แต่นานวันภูมิปัญญาเรือกระทงกาบมะพร้าวค่อยๆ เลือนหาย เพราะมีกระทงรูปแบบใหม่มาแทนที่ การประดิษฐ์เรือกระทงกาบมะพร้าวถือเป็นหนึ่งเดียวในกรุงเทพฯ สืบทอดกันมาเป็น 100 ปี

 

ป้าหมี หรือนางพัฒนกุล ทวีสาคร จึงสอนการทำให้กับกลุ่มเยาวชน สร้างการเรียนรู้เรื่องราวผ่านเรือกระทงกาบมะพร้าว และเป็นอีกส่วนหนึ่งของการเกิดรายได้นำกลับสู่ครอบครัว และชุมชน

ปัจจุบันเหลือคนในชุมชนที่ทำได้ 3 คน หนึ่งในนั้นคือป้าหมี หรือนางพัฒนกุล ทวีสาคร ช่วงเทศกาลจะมีคนสั่งเยอะมากโดยเฉพาะช่วงลอยกระทง และสั่งทำเป็นของที่ระลึก ป้าจึงได้ถ่ายทอด สอนวิธีการทำให้กับเยาวชนในชุมชน เกิดการสืบสาน สร้างการเรียนรู้เรื่องราวผ่านเรือกระทงกาบมะพร้าว และเป็นอีกส่วนหนึ่งของการเกิดรายได้นำกลับสู่ครอบครัว และชุมชน

 

ปัจจุบัน บ้านภูมิปัญญาเรือกระทงกาบมะพร้าว เป็นหนึ่งในพื้นที่สร้างสรรค์ เป็นแหล่งเรียนรู้ของเด็กเยาวชน โรงเรียน คนในชุมชน และค่อยๆ พัฒนาขยายการถ่ายทอดไปสู่คนในชุมชน ไปสู่การสร้างฐานเศรษฐกิจ เพื่อแก้ปัญหารายได้น้อย เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับคนในชุมชน