ชวน “ผู้ใหญ่” เป็น “ฮีโร่” ได้ทุกวัน แค่ร่วมช่วยกันปกป้องเด็ก

ชุมชน โรงหวาย เขตสวนหลวง คือ หนึ่งในชุมชนแออัดหลายร้อยแห่งของกรุงเทพมหานคร อาคารบ้านเรือนที่ปลูกติดกันในพื้นที่คับแคบราวร้อยหลังคาเรือน ประชากรหลายร้อยคนอยู่อย่างแออัด สาธารณูปโภคที่ยังขาดแคลน ไม่ต่างกับชุมชนที่พบเห็นได้ทั่วไปตามเมืองใหญ่ที่มีประชากรอพยพจากชนบทเข้ามาประกอบอาชีพ

รัชนี ยมนา หรือที่คนในชุมชนโรงหวายเรียกกันติดปากว่า “พี่ดำ” เกิด เติบโต และใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนจนอายุ 51 ปี ด้วยความที่บ้านของเธอเป็นร้านขายของ พี่ดำจึงรับรู้ปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อม ยาเสพติด อาชญากรรม และความรุนแรง โดยเฉพาะกับเด็กๆ ในชุมชนอยู่เสมอ ในฐานะคนเก่าแก่ของชุมชน พี่ดำจึงตัดสินในเข้าร่วมเป็นหนึ่งในจิตอาสาตัวแทนคุ้มครองเด็ก หรือ “ChildSafe Agent” ภายใต้โครงการ Childsafe Movement ที่สนับสนุนโดยยูนิเซฟ ประเทศไทย

พี่ดำได้มีโอกาสพบตัวแทนจากกลุ่ม เพื่อน เพื่อน ที่ลงมาพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลในชุมชนโรงหวายเมื่อ 6 ปีก่อน เพื่อศึกษาปัญหาเด็กและเยาวชนในพื้นที่ เธอพร้อมกับผู้อาวุโสในชุมชนอีกหลายคนได้มีโอกาสเป็นตัวแทนในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาของชุมชนในขณะนั้น ซึ่งปัญหาเยาวชนมาเป็นอันดับหนึ่ง เด็กๆ ค่อนข้างเกเร มีแม่วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ตั้งแต่อายุ 14 – 15 ปีจำนวนมาก ปัญหาสามี – ภรรยาทำร้ายร่างกายกันในชุมชน ตลอดจนเด็ก ๆ ขาดโอกาสด้านการศึกษา เพราะครอบครัวมีฐานะยากจน

“จากวันแรกที่กลุ่มเพื่อน เพื่อน ได้เข้ามารับฟังข้อมูลจนถึงวันนี้เรายังทำงานร่วมกันมาโดยตลอด โดยทางกลุ่มเพื่อน เพื่อน จะมาจัดเวิร์กชอปอบรมให้ความรู้ทั้งจิตอาสา เด็ก และเยาวชนในชุมชนอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยเดือนละ 2 – 3 ครั้ง แต่ละครั้งจะมีของเล่น อุปกรณ์เครื่องเขียน การเรียนมาให้เด็กค่อยๆ ซึมซับ และมีพัฒนาการการเรียนรู้ที่ดี นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม” นางรัชนี กล่าว ขณะเดียวกัน ในฐานะตัวแทนคุ้มครองเด็ก ตนจะมีหน้าที่เป็นตัวกลางคอยรับข้อมูลจากกลุ่มเพื่อน เพื่อนมากระจายต่อในชุมชน พร้อมกับเป็นจุดรับเรื่องราว เวลาที่ในชุมชนเกิดปัญหเพื่อช่วยระงับเหตุในเบื้องต้น

จนถึงวันนี้ นางรัชนี สัมผัสได้ว่า เยาวชนในชุมชนมีพัฒนาการทางพฤติกรรมที่ดีขึ้น จากแต่ก่อนเป็นคนที่พูดจาก้าวร้าว เดี๋ยวนี้เวลาพบเห็นผู้ใหญ่ก็รู้จักทำความเคารพอย่างสุภาพ อย่างไรก็ตาม เธอยอมรับว่ายังคงมีปัญหาเรื่องยาเสพติด ความรุนแรงยังคงมีอยู่ในกลุ่มผู้ใหญ่ ในฐานะจิตอาสาเธอจึงยังต้องคอยดูแลเด็กๆ ในชุมชนต่อไป

นางรัชนี เล่าถึงความภาคภูมิใจในฐานะจิตอาสาตัวแทนคุ้มครองเด็ก ว่า ครั้งหนึ่งเธอเคยช่วย “น้องรุ่ง” เด็กชายวัย 7 ปี ที่อาศัยอยู่ชุมชนวัดใต้ ใกล้กับชุมชนของเธอ รุ่งมีนิสัยก้าวร้าวรุนแรง ไม่ได้ไปโรงเรียน ทั้งพ่อและแม่มีปัญหายาเสพติด อาจเสี่ยงเป็นเหยื่อของความรุนแรง และการทารุณกรรม เธอจึงตัดสินใจส่งต่อข้อมูลไปยังกลุ่มเพื่อน เพื่อน เพื่อหาทางช่วยเหลือน้องรุ่ง ใช้เวลาอยู่ประมาณ 3 – 4 เดือน ก็ช่วยให้น้องได้ไปอยู่ความคุ้มครองของบ้านพิทักษ์สิทธิเด็ก และได้รับการศึกษาช่วยให้เขาได้พัฒนาการเจริญเติบโตสมวัย

ความเปลี่ยนแปลงของชุมชนโรงหวายไปในทางทีดี มีการจัดการและร่วมมือกันของสมาชิกในชุมชน เพื่อช่วยกันสอดส่องดูแลพฤติกรรมเสี่ยง ส่วนหนึ่งเพราะความต่อเนื่องในการทำงานและการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน เมื่อพวกเราได้รับโอกาสให้ช่วยกันทำสิ่งดีๆ เพื่อเด็กๆ และชุมชุมที่เราอาศัยอยู่ทุกวันนี้ได้ทุกวัน พวกเราก็ดีใจและภูมิใจกับผลลัพธ์ที่ดีของบ้านเรา” นางรัชนี กล่าว

นฤพล อารีราษฏร์ อีกหนึ่งจิตอาสาคุ้มครองเด็ก กล่าวว่า แม้ตนจะเป็นเพียงพ่อค้ารถเข็นขายปลาหมึกบด ย่านนานา อโศก แต่ก็ภาคภูมิใจที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการตั้งแต่แรกเริ่ม นอกจากกลิ่นหอมของปลาหมึกที่ทำให้เด็กๆ ต่างรักเขาแล้ว สัญลักษณ์ ChildSafe Agents สีฟ้า ที่ติดตรงรถเข็น ทำให้เด็กๆ รู้ ว่า นอกจากขายปลาหมึกบดแล้ว นฤพล และ กลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้างในย่านบันเทิงยามราตรียังสวมหมวกจิตอาสาคอยสอดส่องดูแลเด็กในย่านท่องเที่ยวและบันเทิงยามราตรี โดยเฉพาะเด็กต่างด้าว ปัจจุบันถึงแม้ว่าเด็กเหล่านี้จะโตขึ้น และอาจไม่ต้องการการดูแลจากจิตอาสาต่อไปแล้ว นฤพลก็ยังเป็นห่วงเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ และหวังว่าพวกเขาจะเลือกใช้ชีวิตในเส้นทางที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป

อรวรรณ เสาวพัฒน์ ผู้อำนวยการโครงการเฉพาะกิจ องค์การเฟรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อ “เพื่อน เพื่อน” ได้ดำเนินงานโครงการ ChildSafe Movement ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย และภายใต้ความร่วมมือของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้มีพันธกิจร่วมกันที่จะสร้างอนาคตที่ดีให้แก่เด็กทุกคน ด้วยการช่วยเหลือให้เด็กๆ ปลอดภัยจากการถูกล่วงละเมิดทุกรูปแบบ พร้อมสร้างความตระหนักรู้ในสังคมว่าการคุ้มครองเด็กเป็นหน้าที่ของประชาชนในประเทศนั้นๆ จึงได้ร่วมมือกันเดินหน้าพันธกิจนี้ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2549 และเพื่อก่อให้เกิดการรวมพลังในสังคมอย่างแท้จริง จึงได้จัดงานรณรงค์ #ร่วมช่วยกันปกป้องเด็ก เพื่อเชิญชวนให้ผู้ใหญ่ในสังคมเห็นถึงความจำเป็นและความสำคัญในการปกป้องและคุ้มครองความปลอดภัยของเด็กๆ ภายใต้สโลแกน “ทุกคนเป็นฮีโร่ได้ในทุกๆ วัน”

นางอรวรรณ กล่าวว่า เหตุผลที่เรารณรงค์ผ่านสโลแกนนี้ เพราะต้องการเปลี่ยนมุมมองของผู้ใหญ่ในสังคม ที่มองว่าบทบาทการช่วยเหลือเด็กๆเป็นเรื่องไกลตัว เป็นหน้าที่ของภาครัฐ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่จริงๆ แล้ว ไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ตาม ก็สามารถสวมบทฮีโร่นอกจอ ในการช่วยเหลือเด็กที่ตกอยู่ในสถานการณ์อันตรายหรือเสี่ยงกับอันตรายได้ จะเห็นว่าหลายครั้งที่มีข่าวคราวเกี่ยวกับเด็กๆ ที่ต้องตกอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงต่อชีวิต หรือถูกปล่อยปละละเลยให้ตกอยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงต่ออันตราย ล้วนเกิดจากสาเหตุใกล้ตัวที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน แต่ที่ผ่านมา ผู้ใหญ่อาจมองข้าม เพราะคิดว่าธุระไม่ใช่ หรือบางครั้งไม่รู้ว่าจะให้การช่วยเหลืออย่างไร ด้วยเหตุนี้เราจึงได้รวบรวม 7 ข้อคิดที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของเด็ก โดยเลือกจากสถานการณ์เสี่ยงที่เด็กต้องเผชิญในสังคม บนท้องถนน ภัยอันตรายจากอินเตอร์เน็ต การกระทำความรุนแรงทั้งทางกายและจิตใจ การล่วงละเมิดทางเพศ รวมทั้งการรณรงค์หยุดการให้เงินแก่เด็กขอทาน มานำเสนอเพื่อให้สังคมได้รับรู้และเข้าใจ”

ด้าน คุณนันทพร เอี่ยมวนานนทชัย เจ้าหน้าที่คุ้มครองเด็ก ขององค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า ความรุนแรงต่อเด็กในทุกรูปแบบ ซึ่งรวมถึงการละเลยทอดทิ้งเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ และก่อให้เกิดผลเสียในทุกระดับตั้งแต่ตัวเด็กเอง ชุมชน ตลอดจนทำให้ประเทศสูญเสียศักยภาพในการพัฒนาในอนาคต และพบว่าความรุนแรงเกิดขึ้นเป็นประจำที่บ้านและที่โรงเรียน แต่มักถูกมองข้ามหรือไม่มีใครสนใจ โดยพ่อแม่ ครู ผู้ดูแลใกล้ชิดกับเด็กจำนวนมากอาจยังไม่ตระหนักถึงผลเสียที่จะเกิดกับพัฒนาการของเด็กทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ข้อมูลจาก นสพ.ผู้จัดการออนไลน์ 25 มีนาคม 2560

28 มีนาคม 2017