วิธีที่ญี่ปุ่นสอนให้เด็กๆ เข้าใจเรื่อง ‘ลิขสิทธิ์’

ช่วงนี้ถ้าใครติดตามดราม่าเกี่ยวกับด้านลิขสิทธิ์ จะมีเรื่องของ ‘แสงเหนือ’ ที่ THE MATTER และอีกหลายๆ ที่ได้บอกเล่ากันหลายมุมแล้ว

แต่ยังมีดราม่าอีกอันหนึ่ง ซึ่งเป็นดราม่าฝั่งนิยายในเว็บไซต์ออนไลน์ชื่อดัง ที่มี ‘นักแปล’ ท่านหนึ่งออกมาเปิดรับบริจาคเงิน ซึ่งเรื่องบานปลายออกไปหลายทางตั้งแต่ นิยายเรื่องดังกล่าวนั้นแปลจากภาษาอื่นอีกทีหนึ่ง, นิยายดังกล่าวมีสำนักพิมพ์ไทยแจ้งว่าซื้อลิขสิทธิ์แล้ว, มีท่านอื่นมาเสนอความเห็นว่า ถ้าแปลงานมาแล้วสิทธิ์อยู่ที่นักแปล ซึ่งผู้แปลจะทำอะไรก็ได้, แถมระหว่างนั้นมีดราม่าแอพพลิเคชั่นดูดไฟล์ในเว็บดังกล่าวอีก …ยาวจริงอะไรจริง

ดราม่าของเว็บลงนิยายนั้นยังไม่จบดีนัก ดังนั้นเราจะขอพักเรื่องเอาไว้ก่อนแล้วย้อนมาตั้งคำถามว่า ที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์กันหนักหนาระดับนี้บางทีอาจจะเกิดจากการที่กฎหมายลิขสิทธิ์ในไทยนั้นเพิ่งถูกบังคับใช้ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2537 หรือราว 22 ปี ซึ่งไม่ถึงหนึ่งชั่วอายุคนดี ทำให้การให้ความรู้ในเรื่องดังกล่าวอาจจะยังไม่แน่นหนานักก็ได้นะ #วิ่งไปในทุ่งดอกไม้
คุณอริศรา ฮายาชิ นักเขียนชาวไทยที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นได้แชร์ภาพหนังสือสอนความรู้ด้านลิขสิทธิ์ Gakko de shitte okitai chosakken (แปลหยาบๆ ได้ว่า เรื่องลิขสิทธิ์ที่คุณควรรู้ในโรงเรียน) จึงทำให้เราขอเสวนากับเธอเกี่ยวกับการให้ความรู้ต่อชาวญี่ปุ่นเกี่ยวกับเรื่องลิขสิทธิ์เสียเลย

คุณอริศราอธิบายว่าเธอเจอหนังสือเล่มดังกล่าวในมุมสำหรับเด็กประถม “เป็นหนังสือพร้อมรูปการ์ตูนพร้อมอธิบายง่ายๆ ว่า มีส่วนถามตอบด้วยว่าอย่างนี้อย่างนั้นทำได้ไหม แล้วในเล่มนี้จะเน้นเกี่ยวกับลักษณะต่างๆ ที่จะเกิดในโรงเรียนด้วยค่ะ” หนังสือเล่มที่ว่านี้ถูกจัดทำโดย สำนักงานบริหารมหานครโตเกียว ที่ไม่ได้มีแค่ในส่วนหนังสือสำหรับเด็กเท่านั้นแต่ยังมีส่วนเว็บไซต์ที่จะบอกเนื้อหาให้สำหรับผู้ปกครองหรือครูบาอาจารย์สามารถนำไปใช้สอนความรู้ต่อ อย่างเรื่องการก็อปปี้ชีทแจกให้นักเรียน หรือการอัดคลิปมาสอนต่อ อย่าใดทำได้หรือทำไม่ได้บ้าง เป็นอาทิ

หนังสือเล่มเดียวกันนี้ยังมีการแนะนำเรื่องการทำหนังสือเรียนออกข้อสอบที่บางครั้งต้องใช้รูปจริง ซึ่งถ้าในกรณีหนังสือเรียนนั้นอาจจะจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้กับเจ้าของรูปได้โดยง่าย แต่ในกรณีข้อสอบที่ไม่อาจเปิดเผยก่อนได้ พอสอบเสร็จแล้วก็มีกรณีที่ต้องทำการแจ้งองค์กร และมีการจ่ายค่าใช้ย้อนหลังให้เจ้าของลิขสิทธิ์ด้วยเป็นบางกรณีไป

เมื่อเห็นว่าขนาดเด็กประถมยังมีหนังสือแบบนี้ เราจึงสอบถามไปว่าชาวญี่ปุ่นเกือบทั้งหมดน่าจะเคารพลิขสิทธิ์หรือไม่ คุณอริศราตอบว่า “เป็นแค่ส่วนเดียว และคิดว่าก็ไม่น่าจะมีส่วนมากนะคะ คิดว่า เด็กๆ รุ่นใหม่ก็คล้ายๆ ของเรา คือเริ่มเสื่อมหรือสมัยมันเปลี่ยน บางอย่างเลยงงๆ ว่าทำได้หรือไม่ได้อะไรอย่างนี้มากกว่าค่ะ ส่วนรุ่นที่ไม่ค่อยละเมิดน่าจะเหมือนๆ กับบ้านเราคือรุ่นที่เจอกับการรณรงค์พูดถึงมาตลอด ถ้าเป็นรุ่นเรา (อายุช่วง 30 ปี) กับรุ่นหลังเราไปนิด (อายุช่วง 20 ปี) ก็จะค่อนข้างมีความเข้าใจมากหน่อย ถ้าเป็นรุ่นลุงรุ่นป้าก็จะไม่รู้เรื่องนี้เหมือนกัน”

นอกจากนี้แล้วคุณอริศรายังอธิบายรายละเอียดบางอย่างที่เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศ เช่น ในโรงเรียนที่อยู่ในกระบวนการของกระทรวงการศึกษา สามารถนำไปใช้เพื่อการศึกษาได้ แต่ก็ต้องอยู่ภายในโรงเรียน และจุดประสงค์การศึกษา ซึ่งก็คือวิจัย วิเคราะห์ เรียนรู้ แต่ถ้าไม่ใช่สถาบันของกระทรวงฯ อย่าง โรงเรียนสอนพิเศษ หรือพ่อแม่ไปใช้งานกันเองที่บ้านก็ผิดกฎหมายอยู่

ส่วนกรณีของ Fair Use ที่หลายประเภทนำไปใช้เป็นบรรทัดฐานในการรักษาสิทธิ์ทางญี่ปุ่นจะไม่มีการใช้กฎตัวดังกล่าว เนื่องจากกฎหมายญี่ปุ่นกำหนดให้เพียงเจ้าของสิทธิ์เท่าน้ันที่จะฟ้องร้องได้ถึงทำให้ไม่มีการใช้กติกา Fair Use แบบอเมริกา

โดยคร่าวแล้วแม้ว่าตลาดลิขสิทธิ์ของญี่ปุ่นจะมีสไตล์เฉพาะตัวและยังไม่ถึงขั้นขาวปลอด แต่ความพยายามที่จะสอนความรู้ให้ครอบคลุมไปถึงระดับเด็กประถมเลยนั้น เป็นการสร้างรากฐานที่อาจจะดีกว่ามีคนไปเรียกร้องให้อีกรณรงค์ลิขสิทธิ์ก็เป็นได้ ซึ่ง THE MATTER เชื่อว่าหน่วยงานบ้านเราก็พยายามสร้างสิ่งเหล่านี้กันอยู่อย่างเต็มที่เต็มแรงนะ

ข้อมูลจาก http://thematter.co/byte/copyright/14164