การเล่นในห้วงเวลาของ COVID – 19: โรคระบาดเปลี่ยนการเล่นของเด็กอย่างไร

การเล่น โดยเฉพาะการเล่นแบบอิสระเป็นการพัฒนาสุขภาพกายใจ ทักษะในการแก้ปัญหา การทำความเข้าใจเรื่องต่าง ๆ ของเด็ก และเป็นการสื่อสารรูปแบบหนึ่งของเด็ก การเล่นอิสระยังสำคัญเป็นพิเศษสำหรับเด็กๆ ปฐมวัย เพราะในการเล่นอย่างอิสระ เด็กๆ สามารถเลือกได้ว่าพวกเขาอยากทำอะไร ทำอย่างไร และจะเล่นและหยุดเล่นเมื่อไหร่ ซึ่งเป็นการพัฒนาทักษะในการที่จะรู้จักควบคุมหรือปลดปล่อยสถานการณ์ให้เป็นอิสระ

การที่ผู้ปกครองได้ปล่อยให้เด็ก ๆ ได้ออกไปเล่นอิสระตามความเหมาะสมของวัยเป็นผลดีต่อทั้งเด็กและสมาชิกในครอบครัว แต่ทว่าท่ามกลางการระบาดของโคโรน่าไวรัสเช่นนี้อาจเป็นเรื่องที่ค่อนข้างท้าทายสำหรับผู้ปกครองที่ส่วนใหญ่ต้องทำงานที่บ้านและโฮมสคูลเด็ก ๆ ไปพร้อม ๆ กัน

สถานการณ์ที่โรคระบาดไปทั่วโลกเช่นนี้ เมื่อมีการประกาศให้โรงเรียนปิดในอังกฤษก็มีการเสิร์ชหาตารางการสอนแบบโฮมสคูลเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมากว่า 200 ครั้งมากกว่าค่าเฉลี่ยเมื่อปีก่อน ในช่วงเวลาที่ไม่แน่นอนเช่นนี้การสนับสนุนการเล่นที่บ้านของเด็ก ๆ น่าจะเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดทั้งต่อสุขภาพจิตของเด็ก ๆ และความเป็นอยู่ของครอบครัว การที่ผู้ปกครองต้องโฮมสคูลเด็ก ๆ ที่บ้านไปพร้อมกับการทำงานทำให้ผู้ปกครองต้องแบกรับความกังวลไปพร้อมกับการเผชิญภาวะกดดันซึ่งไม่เป็นผลดีทั้งกับพวกเขาและเด็ก ๆ ทางออกที่ดีที่สุดคือการปล่อยให้เด็ก ๆ ได้เล่นอย่างอิสระ

ในการเล่นอิสระช่วงที่มีการระบาดของโคโรน่าไวรัส อย่าได้แปลกใจไปหากเด็ก ๆ จะนำเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับไวรัสมาอยู่ในการเล่นของพวกเขา ตัวอย่างเช่น ในระหว่างการเล่นเป็นบทบาทสมมติเป็นหมอ และคนไข้ เด็กๆ อาจบอกว่าผู้ป่วยของเขา (ซึ่งอาจเป็นญาติพี่น้องที่เล่นด้วยกัน) ติดเชื้อโคโรน่า และอาจตายได้ด้วยน้ำเสียงราบเรียบธรรมดา ในช่วงที่เกิดภัยพิบัติเช่นโรคระบาดนี้ พ่อแม่อาจได้เห็นเรื่องราวเหล่านี้ในการเล่นของลูก ๆ มากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติจากการที่เด็ก ๆ ได้รับข่าวเกี่ยวกับโรคที่น่ากลัวและสับสน เด็กๆ หลายคนจึงหันไปเล่นเพื่อทำความเข้าใจพร้อมไปกับการพักผ่อน แซนดร้า รัสส์ ศาสตราจารย์ผู้ศึกษาเรื่องการเล่น แห่งมหาวิทยาลัย Case Western Reserve University กล่าว

หรือในอีกตัวอย่างหนึ่งเมื่อเด็ก ๆ ได้เรียนรู้ว่า COVID-19 เป็นโรคที่เกิดจากโคโรน่าไวรัส โดยอาการของโรคคือการหายใจที่ลำบาก เด็ก ๆ ในระดับเตรียมโรงเรียนอนุบาลในเคิร์กแลนด์ กรุงวอชิงตัน (ที่ซึ่งไวรัสได้แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วในสถานดูแล) เริ่มมีการเล่นปั๊มหัวใจ หลังจากที่โรงเรียนปิดเด็กๆ ก็ยังคงกลับไปเล่นเป็นหมอที่บ้าน เด็กหญิงคนหนึ่งเล่นเป็นหมอกับน้องชาย แล้วทดลองตรวจน้องชายของเธอด้วยเลโก้ยีราฟ และบอกว่าเขามีผลตรวจเป็นบวก น้องชายของเธอจะไม่เป็นไรเพราะพ่อแม่บอกว่าเด็กจะไม่ป่วยจากไวรัส (เด็กอาจติดเชื้อได้ แต่ความเสี่ยงที่จะป่วยถึงตายนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด การเล่นของเด็กเช่นนี้ชี้ให้เห็นว่าพวกเขาตระหนักว่าพวกเขาอาจแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้)

ผู้ปกครองส่วนใหญ่เชื่อว่าลูกของพวกเขามีความวิตกกังวลหรือหวาดกลัวเป็นพิเศษกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และพวกเขาทุกคนต่างก็ต้องต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงกิจวัตรประจำวันของเด็ก ๆ ผู้ปกครองจะตั้งคำถามกับเด็ก ๆ ในเรื่องของความตายและผลกระทบในระยะยาวของไวรัส เด็กๆ อาจถามในเรื่องความตายมากขึ้น และอาจถามว่าทำไมพวกเขาจึงไม่สามารถไปเจอเพื่อน ๆ ได้ แต่สิ่งที่นาธาน ฮอปเปอร์ ซึ่งเป็นแพทย์และผู้ช่วยหัวหน้าแผนกบริการการแพทย์ฉุกเฉินในสหรัฐอเมริกากังวลมากที่สุดคือเด็ก ๆ อาจจะตกใจกับสิ่งที่ต้องเผชิญอีกหลายเดือนต่อจากนี้ เพื่อนของพวกเขาบางคนกำลังจะเสียบ้าน ผู้ปกครองบางคนกำลังจะตกงานจอย โอซอฟสกีนักจิตวิทยาที่มีประสบการณ์ทำงานกับเด็ก ๆ ในช่วงที่เกิดพายุเฮอริเคนแคทรีนายังกังวลเกี่ยวกับผลกระทบด้านสุขภาพจิตของการระบาดใหญ่ซึ่งเกิดจากความวิตกกังวล ความโดดเดี่ยวและความไม่แน่นอนในสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งอาจส่งผลต่อเด็ก ๆ และครอบครัวของพวกเขา

เมื่อต้องคุยเรื่องโรคระบาดกับเด็กๆ เกอเวอซซึ่งเป็นผู้เขียนหนังสือที่กำลังจะตีพิมพ์เรื่อง “เมื่อรู้สึกเหมือนโลกเป็นสถานที่ที่น่ากลัว: บทสนทนาที่จำเป็นสำหรับผู้ปกครองและเด็กที่วิตกกังวล” แนะนำให้ผู้ปกครองจัดการอารมณ์ของตนเองก่อนเพื่อที่จะมั่นใจว่าพวกเขาจะไม่เอาความรู้สึกนี้ไปลงกับเด็กๆ จากนั้นค่อยสำรวจความรู้สึกของเด็ก ๆ ทั้งนี้เกอเวอซยังเสนอว่าผู้ปกครองสามารถตรวจสอบความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคเพื่อป้องกันเด็กจากข้อมูลต่าง ๆ และระดมสมองกับเด็ก ๆ เพื่อหาวิธีที่จะรู้สึกปลอดภัยอีกด้วย

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือผู้ปกครองไม่ควรกีดกันการเล่นของเด็ก ๆ การมีส่วนร่วมในการเล่นบทบาทสมมติจะช่วยให้เด็กๆ มีความคิดสร้างสรรค์ และมีทักษะในการเผชิญปัญหา การเล่นสามารถเป็นที่ประมวลอารมณ์หรือเป็นแสดงออกในความคิดต่าง ๆ การเล่นยังสามารถเป็นที่ที่เด็ก ๆ ซ่อนความกังวลลึก ๆ ในใจและเป็นที่ที่พวกเขาฝึกความคิดสร้างสรรค์ การแก้ปัญหาของเด็ก ๆ ขณะนี้หากผู้ปกครองเห็นว่าเด็กๆ มีแนวโน้มจะเล่นเป็นหมอมากขึ้นก็เป็นจังหวะที่ดีที่พวกเขาจะอธิบายให้เด็ก ๆ ฟังว่าควรจะใช้ชีวิตอย่างไรในช่วงที่โรคระบาด

โดยทั่วไปแล้วพ่อแม่ไม่จำเป็นต้องกังวลกับการที่เด็ก ๆ เอาประเด็นเรื่องโคโรน่าไวรัสเข้ามาอยู่ในการเล่นของพวกเขา เพราะเด็กๆ จะแสดงออกถึงความกังวลผ่านการเล่น และเป็นการให้เด็กได้เรียนรู้ว่าความตายเป็นเรื่องธรรมชาติ หน้าที่ของผู้ใหญ่ในการเล่นของเด็กคือสร้างพื้นที่ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ส่งเสริมให้เด็กได้เล่น พวกเขาควรเข้าไปร่วมเล่นเฉพาะเมื่อเด็ก ๆ ขอเท่านั้น หรือพวกเขาอาจชวนเด็กๆ คุยตั้งคำถามกับเด็กๆ ผ่านเบาะแสที่ได้จากการเล่นของเด็ก ๆ

เพราะการเล่นเป็นภาษาของเด็ก ๆ พวกเขาแสดงออกผ่านการเล่นในสถานการณ์ต่าง ๆ ทั้งความกังวล การตั้งคำถาม การเล่าเรื่องในสถานการณ์สมมตินั้น และการเล่นอิสระยังส่งผลดีต่อเด็ก ๆ ทั้งกายใจ ผู้ปกครองจึงสามารถทำความเข้าใจอารมณ์ ความรู้สึก และความกังวลใจของเด็กๆ ได้ผ่านการเล่น ในช่วงที่ทุกคนควรจะอยู่บ้านให้มากที่สุดเช่นนี้ แม้การเล่นของเด็กๆ ถูกจำกัดลง แต่ผู้ปกครองก็ควรปล่อยให้พวกเขาได้เล่น และหากการเล่นของพวกเขาจะมีเรื่องโคโรน่าไวรัส ความเจ็บป่วยหรือความตายเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยก็ได้อย่ากังวลใจไปให้ลองคุยกับพวกเขาหลังการเล่นดู บางทีผู้ปกครองจะเข้าใจเด็ก ๆ ความคิดและอารมณ์ของเด็กๆ มากขึ้นด้วย

 


อ้างอิง

https://theconversation.com/coronavirus-just-letting-children-play-will-help-them-and-their-parents-cope-134480?fbclid=IwAR0GAEepMiu7q3giCL3LPD3Df-P6buhHqhSea6AaSuP5AZ7A8TZZaU0SB14

https://www.theatlantic.com/family/archive/2020/04/coronavirus-tag-and-other-games-kids-play-during-a-pandemic/609253/?fbclid=IwAR0gcmiGd9XcVU459tP7VFYU0mxZjXbKDlFa9dT8TaR69oh2fQHsNwlg310

https://thepotential.org/2020/04/02/homeschooling/