ชุมชนจะสามารถช่วยบรรเทาทุกข์จากโควิดได้อย่างไร

ในห้วงแห่งการระบาดของไวรัสโคโรนาและโรคโควิด 19 ที่ส่งผลกระทบทางตรงต่อสุขภาพของผู้ป่วยและส่งผลกระทบทางอ้อมในทุกมิติทั้งสังคม เศรษฐกิจและการเมือง รัฐบาลจำต้องออกมาตรการป้องกันการระบาดของโรค เช่น การให้ประชาชนทำงานที่บ้าน การประกาศให้มีการเรียนออนไลน์ การเลี่ยงไม่ให้ประชาชนรวมตัวกันอย่างหนาแน่น เป็นต้น ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วมาตรการเหล่านี้มีผลให้ประชาชนต้องปรับพฤติกรรม ความเคยชินและวิถีชีวิตของพวกเขาให้เข้ากับ”วิถีชีวิตใหม่” (New normal) อย่างไรก็ตามในการปรับตัวต่อวิถีชีวิตใหม่นี้ประชาชนบางกลุ่มจำต้องอาศัยการเยียวยาจากรัฐ ซึ่งอาจยังไม่ครอบคลุมประชาชนผู้เดือดร้อนที่อาจตกหล่นจากมาตรการเยียวยาต่าง ๆ เช่น ไม่สามารถลงทะเบียนรับเงินเยียวยา หรือเดินทางไปรับของแจกตามสถานที่ต่างๆ ได้ เมื่อรัฐต้องดูแลประชาชนจำนวนมาก แต่ข้อมูลและบุคลากรของรัฐมีจำกัด ความเดือดร้อนของประชาชนบางกลุ่มจึงอาจไม่ได้รับการบรรเทาทำให้พวกเขาไม่สามารถปรับตัวได้กับวิถีชีวิตใหม่ได้

หนทางหนึ่งที่สามารถช่วยบรรเทาทุกข์ของประชาชนที่อาจตกหล่นจากมาตรการเยียวยาของรัฐคือการให้ชุมชนมีบทบาทเสริมภาครัฐช่วยเยียวยาทั้งทางตรงและทางอ้อม เนื่องจากชุมชนเป็นหน่วยย่อยของสังคมสามารถเข้าไปดูแลประชาชนในระดับครัวเรือนอย่างทั่วถึงได้มากกว่าภาครัฐ สำหรับในประเทศไทยในช่วงที่โควิด 19 แพร่ระบาดนั้นชุมชนเป็นหนึ่งในตัวแสดงสำคัญที่มีบทบาทในการบรรเทาทุกข์ทั้งทางตรงและทางอ้อมของประชาชน เช่น ตัวอย่างเช่นเครือข่ายอีสานตุ้มโฮม ที่ได้สร้างเครือข่ายโรงเรียนของตนเองในจังหวัดศรีสะเกษ น่าน ประจวบคีรีขันธ์เพื่อรณรงค์การออกแบบพื้นที่การเรียนรู้เฉพาะถิ่นในช่วงที่เด็กๆ ไม่สามารถไปโรงเรียนได้ตามปกติและอาจพบอุปสรรคจากการเรียนออนไลน์ การแจกเมล็ดพันธุ์ผักสวนครัว ส่งเสริมการปลูกพืชผักสวนครัวไว้ในครัวเรือนเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารในระยะยาวไม่ว่าจะเป็นช่วงโควิดหรือช่วงปกติ การสอนถ่ายภาพ ทำสื่อออนไลน์ ตัดต่อ การจัดประชุมออนไลน์เพื่อให้ประชาชนสามารถปรับตัวกับการทำงานและการเรียนที่บ้านได้ หรือในชุมชนอื่น ๆ ก็มีการขุดสระเก็บน้ำไว้ใช้ในพื้นที่การเกษตรของตนเอง การติดตั้งตู้ปันสุขในชุมชน หรือการแลกสิ่งของระหว่างชุมชนในโครงการ “ข้าวชาวนาแลกปลาชาวเล” จากจังหวัดยโสธรไปยังภูเก็ต หรือการทำข้าวกล่องของชาวบ้านชุมชนสามแพร่งเพื่อไปแจกในชุมชนอื่น มาตรการเหล่านี้ล้วนเป็นมาตรการของชุมชนในการเยียวยาผลกระทบทางอ้อมอันเนื่องมาจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด 19 ของรัฐทั้งการทำงานที่บ้าน และการเรียนออนไลน์

ในส่วนของมาตรการป้องกันผลกระทบทางตรงต่อสุขภาพของประชาชนด้วยกลไกชุมชนที่น่าสนใจคือกลไกของตัวแทนอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ที่ในช่วงการระบาดของโควิด 19 อสม.ทำหน้าที่เปรียบเสมือน “ด่านหน้า” ที่คอยคัดกรอง ติดตาม และให้ความรู้ในการป้องกันโรคแก่คนในชุมชน ตัวอย่างเช่น อสม. ในอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ที่ทำงานใกล้ชิดชุมชน รู้จักชุมชนของตนเป็นอย่างดีสามารถค้นหา ติดตามผู้ป่วย ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ภารกิจหลักของอสม.คือการเฝ้าระวัง คัดกรอง ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคโควิดและการป้องกันตัวเองให้แก่คนในชุมชนตั้งแต่เริ่มแรกไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปเคาะประตูบ้านในเขตรับผิดชอบเพื่อคัดกรองโรค สำรวจหน้ากากว่ามีกี่ชิ้น เก็บข้อมูลจำนวนสมาชิกในบ้านและสิ่งของจำเป็นว่าขาดเหลืออะไรบ้าง เมื่อมีคนป่วยอสม.ก็จะต้องส่งข้อมูลให้อสม.อำเภอ หากสมาชิกในบ้านขาดสิ่งของที่จำเป็นเช่นหน้ากากผ้าอสม.ก็จะต้องเข้าไปรับหน้ากากผ้าจากเทศบาลและนำไปให้กับสมาชิกในชุมชน นอกจากนี้ยังมีการเข้าไปเยี่ยม ติดตามในบ้าน ในชุมชนว่ามีใครเดินทางไปในพื้นที่สุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะต่างจังหวัดหรือไม่ หรือกลับจากต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย บ้างหรือไม่ ทั้งนี้ก่อนที่จะเกิดการระบาดของโรคโควิด 19 โดยเฉลี่ยอสม.จะไปเยี่ยมบ้านสัปดาห์ละครั้ง แต่ช่วงโควิดจะไปบ่อยมากขึ้น

นอกจากกลไกการเยี่ยมบ้านของอสม.แล้ว การที่ผู้คนในชุมชนช่วยกันสอดส่องดูแลเพื่อนบ้านหรือสมาชิกในชุมชน ก็เป็นอีกวิธีการที่ชุมชนสามารถช่วยดูแลกันได้ในช่วงที่มีโรคระบาด หากมีสมาชิกบ้านไหนในชุมชนเดินทางไปไหนมาไหนก็จะช่วยกันส่งต่อข้อมูลไปยังศูนย์โควิดอำเภอ ด้วยมาตรการต่างๆ ในชุมชนนี้สมาชิกในชุมชนมีการปรับพฤติกรรมเพื่อป้องกันโรคอย่างชัดเจน เมื่อออกจากบ้านสมาชิกก็มีการสวมหน้ากากอนามัย เมื่อยืนซื้อของในชุมชนก็มีการเว้นระยะห่างกัน เด็กวัยรุ่นก็ไม่มามั่วสุม ทุกคนรับรู้ข่าวสารและช่วยกันป้องกันตัวเอง ซึ่งหากมีคนติดเชื้อก็อสม.ก็จะมีการเฝ้าระวัง ติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง

ในด้านสุขภาพนั้นอสม.ยังมีส่วนช่วยในบ้านที่มีผู้ป่วยติดเตียงและผู้ป่วยเรื้อรังที่ต้องรับยาจากโรงพยาบาล ด้วยการเข้าไปวัดความดัน เจาะเลือดและรับส่งยาจากโรงพยาบาลเพื่อเลี่ยงไม่ต้องให้ผู้ป่วยหรือสมาชิกในชุมชนไปโรงพยาบาล นอกจากการป้องกันโรค และติดตามอาการต่าง ๆ ข้างต้นแล้วในกรณีของจังหวัดร้อยเอ็ดอสม.ยังมีส่วนช่วยในการปรับทัศนคติของให้คนในชุมชนให้ไม่รังเกียจคนที่ต้องกักตัวหรือผู้ป่วยที่หายป่วยแล้วอีกด้วย

เห็นได้ชัดว่าสำหรับประเทศไทยนั้นชุมชนเป็นตัวแสดงสำคัญที่ช่วยบรรเทาทุกข์ของผลกระทบทางตรงอันเกิดจากโรคโควิดและสำหรับผลกระทบทางอ้อม ชุมชนยังช่วยเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการป้องกันโรคระบาดของรัฐ ดังนั้นภาครัฐจึงควรหันมาส่งเสริม ประสานงาน ทำงานร่วมกับชุมชนเพื่อรับมือและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิดให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด และยังจะช่วยให้ประชาชนสามารถปรับตัวกับชีวิตวิถีใหม่ได้อย่างไม่ทุกข์ร้อนจนเกินไปนักจนกว่าจะวิกฤติโควิดจะคลี่คลายลง


อ้างอิง

https://www.facebook.com/citizenthaipbs/photos/a.346475168714362/3486706204691227/?type=3&theater

https://www.facebook.com/youdeemeehang/videos/169875134261280/

https://news.thaipbs.or.th/content/291321


ภาพประกอบ

Stopping the spread, together. Image created by Deana Tsang. Submitted for United Nations Global Call Out To Creatives – help stop the spread of COVID-19.