รับมือวิกฤติ โควิด 19 ด้วยความร่วมมือของชุมชน

การระบาดของไวรัสโคโรนามิเพียงแค่ทำลายสุขภาพของผู้ป่วยหรือคร่าชีวิตของผู้ป่วยเท่านั้น แต่การระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วเช่นนี้ยังทำให้การรับมือกับไวรัสนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของปัจเจก แต่ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งปัจเจก ชุมชน/สังคม ภาครัฐและองค์กรระหว่างประเทศเพื่อรับมือวิกฤตินี้

เช่นนั้นแล้วชุมชนจะมีบทบาทอย่างไรในการรับมือวิกฤติโควิด ลักษณะที่สำคัญของชุมชนคือความเข้าใจและความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ซึ่งเป็นจุดเด่นที่ชุมชนควรนำมาใช้ในช่วงวิกฤติเช่นนี้ โดยไม่ผลักภาระและความรับผิดชอบในการดูแลด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ และการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการระบาดนี้ไปให้กับผู้นำชุมชนหรือภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว สมาชิกในชุมชนต่างต้องร่วมมือกันสร้างความสัมพันธ์และความเข้มแข็งเพื่อรับมือกับวิกฤติในครั้งนี้ โดยจะพบว่าในหลายประเทศได้มีการกระตุ้นให้ชุมชนมีบทบาทในการช่วยเหลือผู้คนในชุมชนด้วยกันเองทั้งในเรื่องการแพทย์ การศึกษา การดูแลเรื่องสิ่งของอุปโภคบริโภค และการให้กำลังใจกับผู้คนในชุมชน ตามแนวทางที่อาจนำมาปรับใช้ได้

  1. จัดส่งทีมอาสาสมัครไปช่วยเหลือบุคคลหรือกลุ่มคนที่ด้อยโอกาสทางสังคม เช่น ผู้ไร้ที่อยู่อาศัย ผู้พิการหรือผู้ป่วยยากไร้ และกลุ่มเด็กผู้ด้อยโอกาสทางสังคม
  2. การส่งอาสาสมัครบุคลากรทางการแพทย์ออกไปให้ความรู้กับผู้คนในชุมชนในเรื่องการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส
  3. การช่วยเหลือของคนในสังคมกันเอง ด้วยการบริจาคสิ่งของและอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้แก่สถานพยาบาลต่าง ๆ
  4. การให้คำปรึกษาจากครูอาจารย์ในเรื่องแผนการเรียนต่อผู้ปกครองและนักเรียนที่มีการออนไลน์หรือการศึกษาด้วยตนเองที่บ้าน และการลงพื้นที่ไปเยี่ยมนักเรียนที่บ้าน ร้านค้าหรือผู้ประกอบธุรกิจแจ้งข่าวสารการสั่งสินค้าออนไลน์และเปิดช่องทางให้ผู้บริโภคในชุมชนมีทางเลือกในการเลือกซื้อสินค้าและชำระค่าสินค้ามากขึ้น หรือการจัดโปรโมชั่นสินค้าเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคในสภาวะเศรษฐกิจขาลงเช่นนี้
  1. ผู้คนในชุมชนช่วยกันเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ผ่านทางโซเชียลมีเดีย และส่งต่อให้กับชุมชนอื่น ๆ ที่ใกล้เคียงต่อไป

ภาพประกอบจาก Perry Grone on Unsplash

กรณีศึกษาหนึ่งที่น่าสนใจคือการสื่อสารในชุมชน มารีนา โควารี ผู้จัดการด้านการสื่อสาร ขององค์กร EIT Climate-KIC ในประเทศอิตาลี เสนอว่าการรับมือและการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพประการหนึ่งมาจากการสื่อสารสู่ชุมชน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องส่งข้อมูลถึงประชาชนหรือผู้คนในชุมชนอย่างต่อเนื่อง จากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือได้ คือข้อมูลข่าวสารจากองค์การอนามัยโลก (WHO) สถานการณ์ล่าสุดของการระบาดจากทุกประเทศและภายในประเทศ คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ และคำแถลงหรือประกาศจากทางรัฐบาล เพื่อเพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนและตรงกันถึงแนวทางการปฏิบัติกับการรับมือในวิกฤตินี้

ทั้งนี้การสื่อสารข้อมูลดังกล่าวสู่ชุมชน ยังทำให้ผู้คนในชุมชนได้เรียนรู้และรับประสบการณ์ด้านช่องทางการสื่อสารไปด้วย โดยในช่วงวิกฤตินี้ก่อให้เกิดเครื่องมือและช่องทางการสื่อสารที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นช่องทางสื่อโซเชียลที่รู้จักกันเป็นอย่างดีแล้ว เช่น Facebook , Line และยังมีช่องทางการติดต่อสื่อสารที่มาในรูปแบบของแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ เพื่อให้ผู้คนในชุมชนได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนและพูดคุยกันมากขึ้นที่เป็นประโยชน์อย่างมากในแง่การใช้มาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคมที่การติดต่อสื่อสารเหล่านี้สามารถเข้าถึงผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง หรือเขตพื้นที่สีแดง ที่เราไม่สามารถเข้าไปพูดคุยหรือลงพื้นที่ได้โดยตรง

แม้ว่าการพูดคุยหรือสื่อสารแบบตัวต่อตัวจะสำคัญและสามารถเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกของผู้สื่อสารได้มากกว่า แต่ในช่วงสถานการณ์เช่นนี้ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ชุมชนจะหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องเทคโนโลยีให้มากขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อการสร้างความสัมพันธ์ที่อาจขาดหายไปบ้างในช่วงวิกฤติเช่นนี้ เพื่อให้ผู้คนในชุมชนได้ตระหนักและรู้สึกว่าไม่มีผู้ใดต้องโดดเดี่ยวและรับรู้ได้ว่า พวกเราคือหนึ่งเดียวกัน

สำหรับในกรณีของประเทศไทยซึ่งมีพื้นฐานทางสังคมที่เอาใจใส่ดูแลกันในละแวกบ้านอยู่พอสมควร และมีการตั้งหน่วยงานในระดับชุมชนอยู่แล้ว การทำงานของชุมชนต่างๆ ในการรับมือกับโรคระบาดก็มีปรากฏในหลายพื้นที่ เช่น การทำงานของเครือข่ายภัยพิบัติของมูลนิธิชุมชนไท 11 เครือข่ายในจังหวัดนครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล สงขลา อุบลราชธานี ปทุมธานี และสมุทรสาคร โดยมาตรการที่เครือข่ายดำเนินการคือ การตั้งจุดคัดกรองในชุมชน ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ ติดตาม เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง เป็นต้น และมีการประสานงานกันระหว่างชุมชนและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างสำคัญในการให้ความสำคัญและประสานความร่วมมือกับชุมชนในการรับมือวิกฤติ

จะเห็นได้ว่าในยามวิกฤติที่ไวรัสแพร่ระบาดแผ่ขยายเป็นวงกว้างเช่นนี้การทำงานในระดับย่อยและสามารถเข้าถึงชุมชนได้จริงนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะนั่นหมายถึงการสร้างรากฐานทางสังคมที่แน่นและเข้มแข็งจากจุดย่อยพื้นฐาน ไปสู่การขยายความมั่นคงและสามารถสร้างสังคมที่เข้มแข็งและใหญ่ขึ้นในระดับประเทศสู่ระดับโลก ดังที่เห็นว่าในหลายประเทศได้กลับมามองและให้ความสำคัญกับการสื่อสารและพูดคุยกันในชุมชนเพิ่มขึ้น ท่ามกลางรักษาระยะห่างทางสังคมและทางกายภาพเช่นนี้


อ้างอิง

https://www.climate-kic.org/community/strengthening-community-ties-through-the-covid-19-crisis/

https://youngfoundation.org/health-wellbeing/community-in-a-time-of-covid-19/

https://icma.org/blog-posts/how-encourage-community-building-during-covid-19-crisis

https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/876088

https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/875980

ภาพปก Dewi Christina. Submitted for United Nations Global Call Out To Creatives – help stop the spread of COVID-19.