การเรียนผ่านการเล่นกลางแจ้งอีกหนึ่งแนวทางของการเล่นเพื่อการเรียน

หนึ่งในแนวทางการเล่นเพื่อการเรียนที่สำคัญอย่างหนึ่งคือการเล่นกลางแจ้ง ซึ่งจะเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้สำรวจสภาพแวดล้อมรอบตัว ออกกำลังกาย และเป็นการเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ของเด็ก ประโยชน์ของการเล่นกลางแจ้งนั้นในการศึกษาของ Matluba Khan อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ ค้นพบว่าพื้นที่เล่นกลางแจ้งในบังกลาเทศนอกจากเสริมสร้างทักษะทางสังคมให้แก่เด็ก ๆ แล้วยังมีส่วนช่วยให้ผลการเรียนของเด็กดีขึ้นด้วย ในห้วงที่มีการระบาดของโควิดอาจเป็นอีกช่วงที่การเล่นกลางแจ้งอาจมาเสริมการเรียนของเด็กได้

การแพร่ระบาดของโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อระบบการศึกษาโดยตรง นักเรียนกว่าพันล้านคนหรือกว่าร้อยละ 90 คนทั่วโลกได้รับผลกระทบไม่สามารถไปโรงเรียนได้ตามปกติ แม้บางโรงเรียนโดยเฉพาะในโลกตะวันตก หรือโรงเรียนเอกชนในประเทศกำลังพัฒนาจะสามารถทำการสอนออนไลน์ได้ แต่ความเป็นจริงคือเด็กนักเรียนกว่าครึ่งโลกไม่ได้มีอุปกรณ์การเรียนที่พร้อมสำหรับการเรียนออนไลน์ที่บ้าน การที่เด็ก ๆ ขาดการเรียนรู้แบบเผชิญหน้าและไม่ได้มีการเล่นกับเพื่อน ๆ อาจส่งผลต่อสุขภาพจิตของเด็ก ๆ ได้

ในขณะที่ประเทศต่าง ๆ กำลังพยายามหาวิธีการว่าควรจะเปิดโรงเรียนเมื่อไหร่ เปิดโรงเรียนในพื้นที่ไหนบ้างและจะเปิดโรงเรียนอย่างไรเพื่อให้เด็ก ๆ กลับมาเรียนได้ ในบางพื้นที่การเรียนรู้นอกห้องเรียนกลางแจ้งผ่านการเล่นกลางแจ้งอาจเข้ามาเสริมการเรียนรู้ของเด็ก ๆ

การเรียนผ่านการเล่นกลางแจ้งเป็นสิ่งที่ทำในหลายพื้นที่ในแอฟริกาและเอเชีย อย่างไรก็ตามการเรียนผ่านการเล่นกลางแจ้งกลับกลายเป็นทางเลือกเสริมในหลายพื้นที่เมื่อการเรียนในห้องเรียนปกติไม่สามารถทำได้ แต่ ณ ขณะนี้ที่เกิดการระบาดของโควิด 19 ประโยชน์การเรียนผ่านการเล่นกลางแจ้งควรได้รับความสำคัญในทั่วโลก

ตัวอย่างจากงานวิจัยของ Khan คือกรณีของบังกลาเทศนั้น ระบบการศึกษาของบังกลาเทศมีการลงทะเบียนเรียนในระดับประถมศึกษาเกือบ 100% แต่มีเพียงร้อยละ 32 ที่ได้ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นไป ซึ่งส่วนใหญ่จะเรียนจบในระดับมัธยมศึกษาเมื่ออายุ 16 – 18 ปี การที่เด็ก ๆ ออกจากโรงเรียนก่อนเรียนจบนั้นมีสาเหตุมาจากปัจจัยหลายประการทั้งความจนและการแต่งงานตั้งแต่ยังเด็ก ทว่างานวิจัยชิ้นนี้ชี้ว่าอีกเหตุหนึ่งที่ยังไม่ได้มีการพูดถึงคือสภาพแวดล้อมในการเรียน หลักฐานในงานวิจัยชี้ว่าเด็ก ๆ จำนวนมากลาออกเพราะไม่ได้รู้สึกอยากไปโรงเรียนและไม่ได้อยากเรียนในการเรียนการสอนและสภาพแวดล้อมแบบเดิม ๆ

การเรียนผ่านการเล่นกลางแจ้งกลายเป็นแก่นของระบบการศึกษาในจังหวัดตามชานเมืองของอินเดีย และมีการเรียนผ่านการเล่นกลางแจ้งกันในหลายพื้นที่ก่อนที่จะมีระบบการศึกษาแบบทางการของอินเดียเสียอีก อย่างไรก็ตามการเรียนเช่นนี้ยังไม่ได้เป็นกระแสการเรียนหลักในสังคม ดังนั้นโครงสร้างพื้นฐานและการสนับสนุนต่าง ๆ จึงยังอาจมีไม่เพียงพอ

Khan ได้ทำการพิจารณาว่าการเรียนทั้งในและนอกห้องเรียนสามารถพัฒนาความรู้ทางวิชาการ ความต้องการไปโรงเรียนของเด็กประถมศึกษา ในกรณีของบังกลาเทศนั้นพบว่าลานในโรงเรียนส่วนใหญ่เป็นลานกว้างที่ไม่มีอุปกรณ์อื่น ๆ เลย ควรต้องมีการเปลี่ยนให้เหมาะสมกับการเรียนผ่านการเล่นกลางแจ้ง ซึ่งการเปลี่ยนพื้นที่ให้เหมาะสมเช่นนี้ควรให้เด็ก ๆ ได้มีส่วนร่วมด้วย นอกจากเด็ก ๆ แล้วครูเองก็เป็นคนอีกคนที่ต้องมีการสอบถาม เพื่อออกแบบพื้นที่ให้เหมาะสมต่อการเรียนผ่านการเล่นกลางแจ้งของเด็ก ๆ ทั้งนี้การออกแบบพื้นที่ควรต้องให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมด้วยเนื่องจากชุมชนอาจมีทรัพยากรซึ่งสามารถแบ่งปันให้แก่พื้นที่ที่อาจขาดแคลนได้

เด็ก ๆ ต้องการพื้นที่เพื่อการสำรวจ ทดลอง เล่นและเรียนไปพร้อม ๆ กับเสริมสร้างทักษะทั้งทางความคิดและร่างกาย สร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ เชื่อมโยงกับธรรมชาติ ซึ่งเป็นลักษณะร่วมของเด็กในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก การเรียนผ่านการเล่นกลางแจ้งช่วยพัฒนาร่างกาย จิตใจและสติปัญญาของเด็ก ๆ จากการเคลื่อนไหว เพิ่มความสามารถในการทรงตัว กระโดด ปีน ขว้าง วิ่ง ข้ามสิ่งกีดขวางต่าง ๆ ได้เพื่อนมากขึ้น (เป็นการพัฒนาทักษะทางสังคม) สร้างโอกาสให้กับเด็ก ๆ ได้เจอเพื่อน เสริมสร้างทักษะทางสังคม ผ่านการพูดคุย การเล่นเป็นทีมและการต่อรองกับผู้อื่น เสริมสร้างจินตนาการด้วยการเล่นบทบาทสมมติ ได้เห็นธรรมชาติจากสภาพแวดล้อมจริง เช่น เรียนรู้เรื่องสภาพอากาศ การเปลี่ยนแปลงฤดูกาล และความแตกต่างของสัตว์ต่าง ๆ นอกบ้าน การเล่นยังพัฒนาไอคิว การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า สมาธิ พัฒนาการระยะแรกเริ่ม เป็นการได้ความรู้ และทักษะผ่านกิจกรรม และการประยุกต์ไม่ใช่การรับข้อมูลจากการสอนด้านเดียว

จากการบอกเล่าของคุณครูชี้ว่าธรรมชาติสามารถสร้างโอกาสในการลองทดลองทางวิทยาศาสตร์ให้แก่เด็ก ๆ ได้ เด็ก ๆ อาจอยากลองปลูกต้นไม้ในสวนของโรงเรียน อาจขออุปกรณ์ เมล็ดพืชไปปลูก และอาจขอให้มีการเรียนรู้แบบกลุ่มทั้งในและนอกห้องเรียน งานวิจัยของ Kahn ยังชี้ให้เห็นว่าทักษะทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของเด็ก ๆ มีการพัฒนามากขึ้นหลังจากที่เด็ก ๆ ได้เรียนผ่านการเล่นกลางแจ้งที่ทำให้การเรียนรู้มีความสนุกและสามารถเข้าถึงเด็กทุกกลุ่ม ทั้งเด็กที่สนใจมีส่วนร่วมในชั้นเรียนปกติ และเด็กที่อาจไม่ค่อยมีส่วนร่วมในชั้นเรียนด้วย

การเรียนผ่านการเล่นกลางแจ้งจึงช่วยในการพัฒนาภาษา การคิดวิเคราะห์ซึ่งเป็นประโยชน์ทางตรงต่อผลการเรียนของเด็ก ๆ ส่วนประโยชน์ทางอ้อมคือการที่เด็ก ๆ มีสุขภาพแข็งแรงจากการได้เสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกาย ในช่วงที่โลกยังคงเผชิญกับโรคระบาดที่ยังไม่มีวัคซีนรักษานั้น การเรียนผ่านการเล่นกลางแจ้งอาจเป็นวิธีการหนึ่งที่เหมาะสมนำมาปรับใช้ในการเปิดโรงเรียนหรือการเปิดเรียนแบบใหม่ เพราะสามารถรักษาการเว้นระยะห่างทางสังคมในขณะที่เรียนได้ แต่ทว่าลานหรือพื้นที่ของโรงเรียนหรือชุมชนเองก็ควรออกแบบให้สนับสนุนการเรียนผ่านการเล่นกลางแจ้ง คุณครูควรได้รับการฝึกมาเพื่อใช้ลานของโรงเรียนหรือพื้นที่โดยรอบในการสอน งานวิจัยชี้ชัดว่าการเรียนกลางแจ้งนั้นมีผลดีต่อการเรียนรู้ของเด็ก ๆ จริงและแนะนำว่าควรนำไปปรับใช้เพื่อการพัฒนาคุณภาพของการศึกษาในระดับโลกด้วย


https://blog.himama.com/outdoor-play-and-childhood-development/#:~:text=Outdoor%20play%20improves%20physical%20development,%2C%20throw%2C%20run%20and%20skip.

https://www.weforum.org/agenda/2020/06/covid19-school-playground-children-outside-education?fbclid=IwAR3yV0uGoSic3pIBbvlcghlUxpa2jEeRwNDk4L4pniypNIBrePfhDjMbbbU

http://www.teachersofindia.org/en/article/benefits-play-academic-performance

Photo by Bambi Corro on Unsplash