เมื่อการบูลลี่เป็นพิษ ความเห็นอกเห็นใจและการลดอคติจะช่วยบรรเทาได้อย่างไร

ปัจจุบันการกลั่นแกล้ง หรือการบูลลี่ (Bullying) เป็นที่รู้จักมากขึ้นผ่านตามข่าวและสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ชุดจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นปัญหาที่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต้องเผชิญ การบูลลี่ คือการใช้คำพูดหรือการแสดงท่าทางที่รุนแรงด้วยความตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจก็ตามหากสิ่งนั้นส่งผลกระทบให้เกิดความเจ็บปวดทั้งทางกายและจิตใจจนทำให้พวกเขารู้สึกด้อยคุณค่า

ปัญหาการบูลลี่ในโรงเรียนของไทยนั้นอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง สถิติเมื่อปี 2561 พบว่าเด็กนักเรียนไทยถูกกลั่นแกล้งเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยถูกแกล้งทางร่างกาย ทางสังคม ทางอารมณ์ ทางคำพูด และถูกแกล้งบนโลกออนไลน์ นักจิตวิทยาระบุว่าเด็กที่ไปบูลลี่คนอื่นส่วนมากจะเป็นเพราะตัวเขาเองขาดอะไรไป หรือมีแรงจูงใจอะไร หรืออาจเกิดจากลักษณะของสังคม เช่น การไม่ยอมรับคนที่แตกต่าง เด็กถูกสอนมาว่าต้องเป็นในลักษณะนี้ หรือแบบนี้เท่านั้นถึงจะดี ความแตกต่างเป็นสิ่งที่ไม่ดี เมื่อเด็ก ๆ มาเจอเพื่อนที่มีความแตกต่างก็จะเกิดการไม่ยอมรับเพื่อนคนนี้และอาจชวนเพื่อนคนอื่น ๆ ให้ไม่ยอมรับเพื่อนคนนี้ไปด้วย

 

Sad pupil being bullied by classmates at corridor in school

 

ในส่วนของเด็กที่ถูกบูลลี่จะมี 3 ปัจจัยหลัก คือ 1) เด็กไม่เคยได้เรียนรู้การช่วยเหลือตัวเอง เขาจึงไม่รู้ความสามารถ ข้อจำกัดร่างกายของตนเอง อาจเป็นเด็กที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เมื่อเข้าระบบโรงเรียนแล้ว 2) เด็กที่ไม่ควบคุมตัวเอง 3) เด็กที่มีลักษณะไม่เหมือนกับกลุ่มเพื่อน สำหรับการบูลลี่ในผู้ใหญ่นั้นมักปรากฏในที่ทำงาน โดยอาจมีลักษณะเช่น ปล่อยข่าวลือ สืบเรื่องส่วนตัว พูดโจมตีงานด้วยคำหยาบคาย การให้ทำงานที่ยากจนเกือบเป็นไปไม่ได้ กดดันด้วยช่องทางการสื่อสารออนไลน์ คุกคามทางเพศหรืออาจรุนแรงจนถึงขึ้นทำร้ายร่างกาย

จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมการกลั่นแกล้งหรือการบูลลี่ผู้อื่นมักเริ่มขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก เมื่อโตขึ้นแล้วเด็กที่แกล้งผู้อื่นอาจยังติดนิสัยเดิมอยู่เนื่องจากคิดว่าเป็นเรื่องปกติสามารถทำได้ และต้นตอของปัญหาทั้งที่เกิดจากพฤติกรรมและความคิดของผู้ที่ถูกบูลลี่และผู้ที่บูลลี่คนอื่นยังไม่ได้รับการแก้ไข หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ความคิด

อย่างไรก็ดีการบูลลี่นั้นอาจไม่ได้มาจากสาเหตุของปัจเจกในเชิงจิตวิทยาเพียงอย่างเดียวแต่อาจเป็นเรื่องของความแตกต่างทางอำนาจระหว่างบุคคลในโครงสร้างสังคม เช่น คนบางคนมีสถานะสูงกว่า มีตำแหน่งบางอย่าง หรือกระทั่งอาจมีทรัพย์สินมากกว่า ตัวอย่างที่อาจสะท้อนประเด็นเรื่องอำนาจที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนคือ การบูลลี่ที่เกิดขึ้นในโรงเรียน ที่ทำงาน ซึ่งทั้งสองที่เป็นแบบจำลองทางสังคม เด็กที่เป็นเด็กเก่ง หรือเด็กที่มีตำแหน่งในโรงเรียนก็อาจใช้อำนาจไปบูลลี่เด็กคนอื่น หรือในทางกลับกันเด็กคนอื่นก็อาจไปบูลลี่เด็กเก่ง เด็กที่มีตำแหน่งได้เช่นกันเพราะมีจำนวนมากกว่า เช่นเดียวกับในที่ทำงาน ซึ่งเป็นภาพที่เราอาจเห็นได้ในละครไทยหรือซีรีส์ต่างประเทศ

เพราะการบูลลี่เกิดจากทั้งระดับปัจเจก ในเชิงจิตวิทยาและโครงสร้างสังคม เรื่องความแตกต่างทางอำนาจ การจะแก้ปัญหาการบูลลี่ได้นั้นจึงต้องค่อย ๆ แก้ไปทีละขั้นทั้งในสองระดับ อาจเริ่มจากตัวคนที่ถูกบูลลี่ที่ต้องเสริมสร้างให้เขามีจิตใจที่เข้มแข็ง ส่วนคนที่บูลลี่นั้นต้องแก้นิสัย ปรับพฤติกรรม ตัวอย่างเช่น ในเกาหลีที่อาจเห็นได้จากซีรีส์ที่เพิ่งจบไปอย่าง It’s okay to not be okay ที่เป็นเรื่องราวของผู้ที่มีความเจ็บป่วยทางใจ ซึ่งเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการถูกบูลลี่ที่สุดกลุ่มหนึ่งเพราะสังคมอาจไม่เข้าใจพฤติกรรมของพวกเขา ในซีรีส์ได้สะท้อนว่าการเข้าใจ เห็นใจคนเหล่านี้ว่าความเจ็บป่วยทางใจเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่สามารถเกิดขึ้นได้เป็นหนึ่งในทางออกที่ลดการกลั่นแกล้งลงได้ หรือกล่าวให้ถึงที่สุดคือการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ลดอคติของตัวเองที่มีต่อผู้อื่นลง ก็ถือเป็นทางออกที่ซีรีส์นี่พยายามนำเสนอแก่สังคม ทั้งนี้ในภาพรวมระดับโครงสร้างสังคมการเห็นอกเห็นใจผู้อื่นและการลดอคติก็อาจช่วยลดความแตกต่างทางอำนาจให้น้อยลง ต่างคนต่างเห็นผู้อื่นเป็นคนเหมือนกัน เป็นเพื่อนมนุษย์เหมือนกันมากขึ้น


https://www.prachachat.net/d-life/news-222708

https://thematter.co/science-tech/posion-in-work-space/11748

https://thestandard.co/school-bullying/

https://www.amnesty.or.th/latest/blog/733/

https://aboutmom.co/interview/interview-bully-problem/15163/