STORY OF STUFF เรื่องราวการเดินทางของสิ่งของ

บ่อยครั้งที่ข้าวของเครื่องที่ใช้ที่เราซื้อหามานั้นมีอายุการใช้งานไม่นาน บางทีอาจจะด้วยสาเหตุที่ว่าเราใช้งานมันอย่างสมบุกสมบันเกินไป หรือไม่ก็เป็นของราคาถูกซึ่งผลิตจากวัสดุเกรดต่ำ

แต่ในความเป็นจริงอีกข้อที่เราอาจจะละเลยไป คือเรื่องของกระแสบริโภคนิยมที่มาไวไปไวเสมอ และในบางครั้งความละเลยที่ว่านั้น ก็คือความเคยชินที่ถูกกระตุ้นให้กระทำโดยไม่ได้ตั้งใจ ปล่อยกายใจตัวเองให้ไหลตามน้ำไปอย่างปลาตาย

ความรู้สึกเช่นนี้อาจไม่เกิดขึ้นหากเราไม่เหลียวไปแลข้างหลัง

เมื่อลองหันกลับไปดูเราจะพบกองขยะจำนวนมหาศาลที่สูงท่วมหัวกำลังทับถมให้เราหายใจไม่ออก ขณะเดียวกันเมื่อเราหวังหนีไปพึ่งแหล่งอากาศบริสุทธิ์ แหล่งทรัพยากรที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตก็ถูกทำลายไปจนเกินกว่าจะมีที่ไหนให้มนุษย์ได้อยู่อย่างสงบสุขแล้ว

เรื่องที่เกริ่นมาเป็นส่วนหนึ่งที่ได้จากการชมสารคดีเรื่อง The Story of Stuff ของแอนนี่ เลนนาร์ด นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมชาวอเมริกัน

แอนนี่เล่าว่าหลังจากที่เธอพบว่าบ้านเกิดของเธอนั้นมีกองขยะสูงเท่าหัว มองเห็นได้ระดับสายตา เธอจึงจำเป็นต้องไปค้นหาสาเหตุทั้งจากกองขยะ จนไปถึงแหล่งที่มาก่อนขยะ จะมาเป็นขยะ

“ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ทรัพยากรธรรมชาติบนโลกหายไปแล้วประมาณ 1 ใน 3 ของทั้งหมดที่เคยมีอยู่”

เฉพาะในบ้านเกิดเธอ เธอบอกว่าด้วยความทะนงว่าเป็นประเทศที่ใหญ่ มีทรัพยากรอยู่จำนวนมาก ใช้อย่างไรก็คงไม่หมด จึงทำให้เกิดการผลิตอย่างมากมายมหาศาล และนั่นก็เป็นความคิดที่ผิดแปลกออกไป

คนอเมริกานิยมข้าวของใช้ที่มีขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะรถยนต์ ตู้เย็น หรือโทรทัศน์ ซึ่งนั้นหมายความว่าจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมากกว่าที่ประเทศอื่นใช้ผลิตในข้าวของชนิดเดียวกัน

แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงในกระบวนการผลิตนั้น นับวันสิ่งของต่างๆ ก็ยิ่งมีอายุการใช้งานที่สั้นลง และมักจะเปลี่ยนรูปร่างขององค์ประกอบเครื่องใช้อยู่เสมอ

แอนนี่บอกว่านั่นมันเป็นเหตุให้ เมื่อส่วนใดส่วนหนึ่งในของใช้เสีย เราก็ต้องจำใจทิ้งมันไป เพราะไม่สามารถหาอะไหล่เก่ามาเปลี่ยนหรือซ่อมแซมได้

เรื่องหนึ่งที่แอนนี่นำเสนอย่างเป็นกังวล คือ ขั้นตอนการผลิตข้าวของเครื่องใช้

เธอบอกว่าสิ่งของที่ออกมาจากโรงงานหลายต่อหลายแห่ง เครื่องใช้หลายต่อหลายชิ้น มีการปนเปื้อนของสารเคมี และแน่นอนว่าผู้บริโภคส่วนมากไม่รู้

และสารเคมีเหล่านั้น แทรกซึมสะสมอยู่ในห่วงโซ่อาหาร และตกค้างอย่างเข้มข้นอยู่ในร่างกายมนุษย์ซึ่งเป็นผู้บริโภคลำดับสุดท้าย

ที่น่าเป็นห่วงคือเมื่อสารเคมีไปปนเปื้อนในร่างกายของสตรีเพศ มันจะส่งผลต่อทารกที่ต้องบริโภคน้ำนมจากแม่

นอกจากเรื่องของสิ่งแวดล้อม สุขภาพแล้ว ภัยจากการบริโภคนิยมอย่างไม่บันยะบันยังที่ถูกนำเสนอจาก The Story of Stuff ยังกล่าวถึงปัญหาของชุมชนอีกด้วย

ทุกครั้งที่บริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ผลิต หยิบเอาทรัพยากรไปใช้ ไม่ว่าจะโดยวิธีใดก็ตาม นั่นก็หมายถึงการเบียดเอาทรัพยากรของคนในชุมชนชุมชนหนึ่งมาใช้ และเมื่อคนในชุมชนนั้นไม่มีทรัพยากรสำหรับสร้างตัวเอง พวกเขาก็จะถูกจับยัดเข้าไปสู่ระบบการทำงานโรงงานเสียแทน

แอนนี่ตั้งข้อสังเกตว่า เวลาเขาซื้อข้าวของสักชิ้นทำไมมันถึงมีราคาถูกเหลือเกิน ทั้งที่ต้นทุนการผลิตนั้นไม่น่าจะถูกขนาดนี้

คำตอบของเรื่องนี้แอนนี่อธิบายว่า โรงงานเหล่านี้ส่วนใหญ่จะจ้างแรงงานในอัตราค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งทำให้กดราคาสินค้าลงมาได้

ที่ว่ามาเป็นส่วนหนึ่งจากหลายๆ กรณีที่ถูกนำเสนออยู่ในสารคดีเรื่อง The Story of Stuff สามารหาชมตอนเต็ม (แปลภาษาไทย) ได้ที่นี่

ในวันที่เราต่างบริโภคกันอย่างไม่ลืมหูลืมตา ลองปิดโฆษณาขายของบนฟรีทีวีแล้วหันมาดู The Story of Stuff สักเล็กน้อย

แล้วลองคิดสักนิด ว่าก่อนจะบริโภคอะไรนั้น มันมีขั้นตอนมาอย่างไร เผื่อว่าเรื่องราวบางอย่างอาจจะชวนให้เราฉุกคิดอะไรบางอย่างขึ้นมาได้บ้างว่าเลือกที่จะไหลตามน้ำหรือจะเริ่มออกแรงว่ายทวนน้ำเสียที

ขอบคุณข้อมุลจาก webmaster seub