การรู้เท่าทันสื่อเพื่อสร้างระบอบประชาธิปไตย

สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน ร่วมกับ สพฐ. และ Thai Civic Education จัดการประชุมปฏิบัติการ “การรู้เท่าทันสื่อเพื่อสร้างระบอบประชาธิปไตย” ให้กับครูในโรงเรียนนำร่องในโครงการDCE School ระหว่างวันที่ 8-10 ก.ค. 59

เริ่มต้นขึ้นแล้วกับการประชุมปฏิบัติการ “การรู้เท่าทันสื่อเพื่อสร้างระบอบประชาธิปไตย” โดยความร่วมมือของ สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และกลุ่ม thai civic education

กิจกรรมเช้าวันแรก คุณโตมร ผู้อำนวยการกลุ่มมานีมานะ ผู้นำกระบวนการ กล่าวทักทายผู้เข้าร่วมประชุมที่เป็นกลุ่มครูในโรงเรียนนำร่อง โครงการ DCE School จากทั่วประเทศ และให้แต่ละโรงเรียนแนะนำตัวกับเพื่อน รวมทั้งแนะนำวิทยากร ทีมงานปฏิบัติงานในครั้งนี้ รวมถึงแนะนำภาพรวมของการประชุมปฏิบัติการเบื้องต้น

กิจกรรม “ฟังความเหมือนฟังความต่าง”

คุณโตมร ชวนผู้เข้าร่วมประชุมช่วยแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นที่กำหนดให้ว่าเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย หรือไม่แน่ใจ พร้อมทั้งให้เหตุผลประกอบ นอกจากนี้ยังให้ผู้เข้าร่วมประชุมวางกติกาการรับฟังความคิดเห็นร่วมกันอย่างมีสติ
ประเด็นที่ชวนให้แสดงความคิดเห็น ได้แก่

  1. รายการที่นำเสนอทางทีวีนั้นได้ผ่านการตรวจสอบพิจารณาและติดเรทรายการเรียบร้อยแล้ว จึงปลอดภัยสำหรับผู้ชม
  2. สื่อต้องนำเสนอตามความเป็นจริงแต่อาจไม่เป็นกลางก็ได้
  3. ประชาชนมีเสรีภาพในการรับสื่อ และมีวิจารณญาณในการเลือกเอง เราอย่าดูถูกประชาชน
  4. สื่อควรนำเสนอเนื้อหาที่ส่งเสริมอัตลักษณ์เชื้อชาติไทย เพื่อแสดงถึงความเป็นหนึ่งเดียวของคนในชาติ
  5. การที่เยาวชนตั้งคำถามกับรัฐบาลผ่านโซเชียลมีเดีย ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการริดรอนประโยชน์ของเยาวชนในชาติ
  6. เยาวชนที่ถ่ายคลิป ผอ. ผู้ทรงอิทธิพลที่ลงโทษเด็กอย่างไม่เหมาะสม เช่น ตบหัวอย่างรุนแรง เด็กควรจะโพสคลิปนั้นลงอินเตอร์เน็ต เพื่อให้สังคมช่วยกันตรวจสอบจรรยาบรรณและพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของ ผอ. คนนั้น พร้อมให้ผู้เข้าร่วมประชุมสะท้อนสิ่งที่ได้เรียนรู้จากกิจกรรมนี้ และความคิดเห็นต่อสื่อในโลกยุคปัจจุบัน

กิจกรรมช่วงบ่าย

คุณโตมรนำผู้เข้าร่วมประชุมวอร์มอัพทักษะการรู้เท่าทันสื่อ ผ่านการแปลความหมายของข้อความและรูปภาพต่าง โดยชวนให้ผู้เข้าร่วมประชุมขบคิดในแง่ที่ว่า สื่อนั้นมีรายละเอียดอะไร ต้องการนำเสนออะไร มีความหมายอะไรซ่อนอยู่ และทัศนคติของผู้นำเสนอสื่อแสดงออกถึงสิ่งใดได้บ้าง หลังจากนั้นได้เชื่อมโยงความหมายไปสู่ประเด็นเชิงโครงสร้างทางสังคม การละเมิดสิทธิมนุษยชน ก่อนที่จะนำไปสู่การมองให้ลึกถึงใครอยู่เบื้องหลังในสื่อนั้นๆ

กิจกรรมสุดท้ายของวันแรก เป็นกิจกรรม

“ขบคิดเพื่อแปลความภาพตัวแทนที่ปรากฏในสื่อ”
คุณโตมร ชวนผู้เข้าร่วมประชุมขบคิดเกี่ยวกับสื่อยุคปัจจุบันที่นำเสนอภาพตัวแทนในแง่มุมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องเชื้อชาติ อายุ เพศ และความบกพร่องทางร่างกาย รวมถึงความไม่เท่าเทียมทางสังคมที่ซ่อนอยู่ในสื่อ

วันที่ 2 ของการการประชุมปฏิบัติการ “การรู้เท่าทันสื่อเพื่อสร้างระบอบประชาธิปไตย” ให้กับครูในโรงเรียนนำร่องในโครงการ DCE School เช้านี้คุณเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน มาเติมความรู้เรื่อง “โครงสร้างและระบบสื่อ กับ ความสำคัญของการเท่าทันสื่อเพื่อสร้างพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย”

ช่วงบ่ายของการการประชุมปฏิบัติการ “การรู้เท่าทันสื่อเพื่อสร้างระบอบประชาธิปไตย” ให้กับครูในโรงเรียนนำร่องในโครงการ DCE School กิจกรรมประเมินคุณค่าสื่อ วิทยากรกระบวนการ ุคุณโตมร ให้ผู้เข้าร่วมรับชมสื่อ 4 ตัวอย่าง และประเมินคุณค่าโดยใช้สติคเกอร์เป็นสัญลักษณ์แทน

กิจกรรมเช้าวันสุดท้าย ของการการประชุมปฏิบัติการ “การรู้เท่าทันสื่อเพื่อสร้างระบอบประชาธิปไตย” ให้กับครูในโรงเรียนนำร่องในโครงการ DCE School

อ.อภัยชนม์ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม และ ดร.วรวุฒิ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ชวนผู้เข้าร่วมประชุมร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการ์ตูนประชาธิปไตย พร้อมกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมประชุมร่วมสะท้อนสิ่งที่ตนเองมองเห็นจากกระบวนการ

ดร.เฉลิมชัย ผู้อำนวยการสถาบันสังคมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ช่วยเชื่อมโยงให้เห็นภาพเครือข่ายการทำงานเพื่อขับเคลื่อนกระบวนการสร้างพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย มโนทัศน์ที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย เครือข่ายโรงเรียน DCE School (Democratic Citizenship Educational School) แนวทางการขับเคลื่อนการสร้างพลเมืองประชาธิปไตยในโรงเรียน กระบวนการอบรมกระบวนกรที่ผ่านมาเพื่อผลิตเครือข่ายการทำงานในอนาคต

คุณเข็มพร ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน และครูปราศรัย โรงเรียนบางปะกอกวิทยาคม นำเสนอภาพการดูงานการจัดการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยในประเทศออสเตรเลีย ที่สะท้อนให้เห็นการบูรณาการการสร้างพลเมืองในรายวิชาอื่นๆ