สสย.จัดอบรมเท่าทันสื่อให้ศึกษานิเทศก์ หวังกระตุ้นครูสร้างการเรียนรู้เรื่องเท่าทันสื่อ

สถาบันสื่อเด็กและเยาวชนจัดการอบรมเท่าทันสื่อ ในงานสัมมนาการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง เพื่อให้ศึกษานิเทศก์ได้มองเห็นความสำคัญของเท่าทันสื่อ มองเห็นบทบาทของตนเองในการกระตุ้นให้ครูมองเห็นความสำคัญ และเกิดความเข้าใจถึงทักษะของการเท่าทันสื่อ และการสร้างการเรียนรู้เรื่องเท่าทันสื่อให้กับนักเรียน

การจัดงานครั้งนี้จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท และกลุ่ม Thai Civic Education ณ โรงแรมโนโวเทล แพล็ททินัม

นางสาวเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน กล่าวถึงสถานการณ์สื่อปัจจุบันว่า คนได้อยู่ในยุคสื่อหลอมรวม สื่อต่างๆ อยู่ใกล้เรามากขึ้น ในขณะเดียวกันคนเราก็เป็นผู้ผลิตสื่อ และสื่อสารได้อย่างรวดเร็ว

“สื่อใหม่ เข้ามามีอิทธิพลอย่างมาก เข้าถึงทุกคนและทุกวัย ทั้งโซเชียลมีเดีย Line Facebook ที่ทำให้ทุกคนมีโลกส่วนตัวมากขึ้น บริโภคสื่อได้มากขึ้น และทำให้คนขาดการปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น ไม่คุยกัน ซึ่งทำให้บางคนเกิดโรคต่างๆเกี่ยวกับสื่อตามมาทั้งโลกละเมอแชท โรคโมโนโฟเบีย หรือ โรคห่างโทรศัพท์มือถือไม่ได้ กลัวที่จะตกข่าว กระวนกระวายเมื่อแบ็ตโทรศัพท์หมด หรือไม่มีคลื่น

ในต่างประเทศมีการใช้สื่อออนไลน์ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ทั้งการประณามเหยียดหยามกัน ทำให้ผู้ถูกประณามฆ่าตัวตาย ตามข่าวที่เกิดขึ้น เราห้ามการสื่อสารไม่ได้ ที่สำคัญคือเราจะต้องใช้สื่อต่างๆ ให้เกิดประโยชน์ โดยต้องรู้เท่าทันสื่อ รู้เท่าทันตัวเองเพื่อเราจะได้สื่อได้อย่างเกิดประโยชน์” ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน กล่าว

นอกจากนี้ยังแนะ 5 หลักคิดในการเท่าทันสื่อ นั่นคือ 1. ใครเป็นคนสร้างและผลิตสื่อ 2.มีวิธีการสร้างเนื้อหาสื่อแต่ละแบบเอง 3.ผู้รับสื่อมีความรับรู้สื่อ แม้จะเป็นเนื้อหาเดียวกัน 4.เนื้อหาสื่อแฝงค่านิยม ทัศคติบางอย่างเสมอ 5.เนื้อหาของสื่อหวังประโยชน์บางอย่างเสมอ

พร้อมทั้งนำเสนอ 4 มิติการรู้ทันสื่อ นั่นคือ 1.การรับรู้ ความเข้าใจ มีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง 2. อารมณ์ ความรู้สึก ทำความเข้าใจ กับเนื้อหานั้นและมีอารมณ์และความรู้สึกต่างๆ ร่วมไปกับเนื้อหา 3.สุนทรียศาสตร์ ความงาม มีความรู้และความสามารถที่จะเข้าใจเบื้องหลังการผลิตและนำเสนอมีทักษะสนการชื่นชมความงามและศิลปะ 4.ศีลธรรม จริยธรรม นั่นคือสามารถ วินิจฉัยในเชิงกฎหมาย ระเบียบ จริยธรรม จรรยาบรรณและตัดสินเชิงคุณค่าถูกผิดกับความรับผิดชอบต่อสังคม

“การเรียนรู้การเท่าทันสื่อมีความจำเป็นและส่งเสริมความเป็นพลเมือง การรู้เท่าทันจะทำให้เรามีอำนาจต่อรอง และสามารถสร้างสิ่งใหม่ใช้สื่อได้อย่างมีประโยชน์ และที่สำคัญอีกอย่างก็คือการรู้เท่าทันตัวเอง สามารถจัดการความต้องการของตัวเองได้ สื่อต่างๆ ที่มากระทบจึงทำอะไรเราไม่ได้” ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชนกล่าว

นายจิตร ตัณฑะเสถียร นักโฆษณา ได้บรรยายหัวข้อรู้เท่าทันโฆษณาว่า โฆษณานั้นเป็นการให้ข้อมูลสินค้า แต่ไม่ได้ให้ข้อมูลสินค้าทั้งหมด ซึ่งเป็นสิ่งที่นักโฆษณา ผู้ผลิตสินค้า เล่นกับความอยากของคน โดยใช้สื่อโฆษณาต่างๆ ทั้งออนแอร์ ออนไลน์ และกิจกรรมพื้นที่ เช่นการใช้เสียงและภาพโฆษณาดึงดูด ใช้ป้ายโฆษณาต่างๆ ทั้งที่ถนน ห้างสรรพสินค้า ที่จอดรถ เพื่อนำเสนอข้อมูลต่างๆ ให้ผู้บริโภคได้เห็น ซึ่งซึมเข้าไปข้างในใจและเป็นข้อมูลในการทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้าต่างๆ โดยนำเสนอเทคนิคการเท่าทันโฆษณา เพื่อกระตุกให้ฉุกคิดเวลาดูโฆษณาต่างๆ ไม่ให้เผลอไปตามแรงกระตุ้นความอยาก

4 เทคนิคการถอดรหัสโฆษณานั่นคือ 1.ใครคือเจ้าของโฆษณาชิ้นนี้2.ใครคือกลุ่มเป้าหมายของโฆษณาชิ้นนี้ 3.โฆษณาชิ้นนี้ต้องการทำให้คุณรู้สึกอย่างไรต่อสินค้า 4.โฆษณาชิ้นนี้พยายามให้คุณเชื่อ หรือทำอะไร

13 เทคนิคโฆษณาที่นักโฆษณาใช้

  1. ใช้สัญลักษณ์ ภาพ ตัวละคร การ์ตูน เพื่อส่งผ่านความรู้สึกที่ต้องการไปยังผลิตภัณฑ์
  2. ข้อดี ทำให้เราทราบว่าผลิตภัณฑ์ดีอย่างไร ใช้แล้วจะได้อะไร หรือรู้สึกอย่างไร
  3. เกมส์และกิจกรรม นำผลิตภัณฑ์เข้าไปร่วมกับกิจกรรมที่กลุ่มเป้าหมายสนใจ เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย
  4. อารมณ์ขัน ใช้อารมณ์ขัน เพื่อให้โฆษณาน่าสนใจ และเป็นที่จดจำ
  5. ต้องมี ทำให้รู้สึกว่าต้องใช้สินค้าจึงจะมีความสุข โดดเด่นหรือเป็นที่ยอมรับ
  6. ของขวัญ รางวัลยั่วใจ นำของขวัญ รางวัลมาดึงดูดความสนใจ ให้ซื้อสินค้า
  7. ตอกย้ำ ตอกย้ำซ้ำๆ เพื่อให้เกิดการคุ้นเคยหรือจดจำ
  8. แรงดดึงดูดทางสัมผัส กระตุ้นให้ความรู้สึกด้วยรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่โดนใจ
  9. คำยืนยันจากคนดังหรือผู้ใช้ นำบุคคลที่มีชื่อเสียงมายืนยันว่าใช้แล้วดีอย่างไร เพื่อให้เราเชื่อ
  10. กระตุ้นให้ตัดสินใจ กระตุ้นหรือเร้าให้ตัดสินใจ จนอาจก้าวข้ามการคิดไตร่ตรอง
  11. ความกลัว ทำให้เรารู้สึกกลัวว่าจะเกิดปัญหา แตกต่างจากคนอื่น ไม่เป็นที่ยอมรับถ้าไม่ใช้สินค้า
  12. ส่วนลด ใช้ส่วนลดเพื่อกระตุ้นการตัดสินใจ
  13. ส่วนผสมพิเศษ มีส่วนผสมที่พิเศษที่ทำให้เราคิดว่าผลิตภัณฑ์นี้พิเศษกว่าผลิตภัณฑ์อื่นๆ