สร้างเมือง 3 ดีครบวงจร

ความเป็นมา

แนวคิดและหลักการ 3 ดี

แนวคิดหรือหลักการ 3 ดี คือ แนวคิดในการพัฒนาเพื่อนำไปสู่สุขภาวะของเด็กและเยาวชน ซึ่ง 3 ดีหมายรวมถึงสิ่งที่ดี 3 ประการ ได้แก่ สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี

เป้าหมายของแนวคิดหรือหลักการนี้ตามที่ได้กล่าวแล้วคือการพัฒนาเพื่อนำไปสู่สุขภาวะของเด็กและเยาวชน การให้เด็กมีความถึงพร้อมกาย จิต สังคมและปัญญา และอยู่ในสังคมที่สงบสุข หรืออาจกล่าวสั้นๆได้ว่า สุขภาวะดี คนมีความสุข ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง

พื้นที่ดี พื้นที่สร้างสรรค์ มีความหมายกว้างโดยรวมถึง พื้นที่ทางกายภาพซึ่งเป็นสถานที่ พื้นที่สร้างให้เกิดการเรียนรู้ รวมถึงเวทีที่บุคคลต่างๆภายในชุมชนมีกิจกรรม มีการสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน รวมถึงการสร้างแรงบันดาลใจระหว่างบุคคลที่มาเข้าร่วมกิจกรรม

ภูมิดี ภูมิเข้มแข็ง หมายถึง การมีทักษะในการเท่าทันสื่อ และความสามารถในการปกป้องตนเองจากสื่อที่หลากหลาย การใช้ประโยชน์จากสื่อที่สร้างสรรค์ และการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น

ในแง่ของกระบวนการทำงานและตัวรูปธรรมกิจกรรมของโครงการที่เข้าร่วมสัมมนา มีทั้งกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์เชิงบวก เช่น การส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้ ตระหนักในประวัติศาสตร์ชุมชนของตนเอง การอนุรักษ์ศิลปะดนตรีพื้นบ้าน การทำเกษตรอินทรีย์และพัฒนาชุมชนโดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง การส่งเสริมให้เด็กได้สร้างสื่อที่สร้างสรรค์ด้วยตนเอง เช่น ละคร หนังสั้น ในขณะเดียวกันก็มีหลายๆองค์กรที่ทำกิจกรรมที่เน้นการสร้างกลไกปกป้องเด็กและเยาวชนจากสื่อที่มีพิษภัย การฝึกอบรมครูให้มีทักษะในการสอนกระบวนการเท่าทันสื่อแก่เด็กในโรงเรียน ภาคีเครือข่ายของสสย.ที่มาร่วมสัมมนาในครั้งนี้ มีการทำงานในหลากหลายระดับทั้งในระดับ ระดับจังหวัดและระดับชุมชน (ในระดับชุมชนอาจครอบคลุมถึงโรงเรียนและครอบครัว)

เรียนรู้และการมุ่งสู่ความยั่งยืนในอนาคต

ประเด็นที่ได้เรียนรู้คือแม้ว่าการดำเนินงานอาจจะพบอุปสรรคปัญหามากมาย แต่ยังมองเห็นแง่ที่งดงาม ความหวังจากผลงานที่ออกมาจากหลายๆโครงการ

จากการสัมมนาพบว่า กิจกรรมที่แต่ละโครงการ แต่ละองค์กรดำเนินการอยู่สร้างความสุขกายสุขใจแก่เด็ก เยาวชน คนในชุมชน และผู้จัดกิจกรรมเอง ทุกคนได้เรียนรู้ มีความสุข สนุกสนานและได้มีโอกาสพัฒนากาย จิต สังคม ปัญญาไปพร้อมๆกัน หลายกิจกรรมที่ดำเนินการเน้นการปลุกจิตสำนักให้รักบ้านเกิด หวงแหนในวัฒนธรรมพื้นบ้านของตนเอง เช่น ชุมชนชาวเยอ(ชนพื้นบ้านในเขตจังหวัดศรีสะเกษ) หรือ ของกลุ่มชนเผ่าที่หลากหลายชาติพันธุ์ในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน

หลายกิจกรรมสร้างและพัฒนาให้เด็กเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปด้านที่ดีขึ้น เช่น การลดขนมกรุบกรอบที่ไร้ประโยชน์ การงดการดื่มน้ำอัดลม การที่สมาชิกในครอบครัวให้ความสำคัญกับการจัดเวลาให้แก่กันและกัน มีกิจกรรมร่วมกันมากขึ้น และรวมถึงการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ พื้นที่ทางความคิดของสมาชิกในชุมชน การรณรงค์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากพื้นที่ที่ชุกชุมด้วยยาเสพติด ภัยอันตรายต่างๆ กลายสภาพเป็นพื้นที่ที่เปิดสำหรับทุกคนในชุมชน สรุปได้ว่าข้อดีเด่นของกิจกรรมที่สร้างจากแนวคิด 3 ดี ทำให้คนในชุมชนและผู้ทำกิจกรรมมีความสุข และยังสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงไปสู่พฤติกรรมด้านบวกของคน ครอบครัวและชุมชนอีกด้วย

ความยั่งยืนเป็นประเด็นที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่ง คำถามมีอยู่ว่าทำอย่างไรคนในชุมชนจึงจะสามารถดำเนินการจัดกิจกรรมที่มีคุณค่างดงามดังที่ได้กล่าวแล้วได้เองอย่างต่อเนื่อง ในที่สัมมนามีการกล่าวถึงการสร้างแกนนำกลุ่มเยาวชน การสร้างการมีส่วนร่วมของกลุ่มเยาวชนโดยให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการกิจกรรม 3 ดีให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการวางแผน การดำเนินการ การติดตามประเมินผล เพราะเยาวชนจะต้องมารับผิดชอบชุมชนของตนเองในอนาคต รวมถึงประเด็นที่สำคัญอีกประเด็นหนี่ง ได้แก่ การผลักดันแผนการทำงานพัฒนาเด็กและเยาวชนเข้าสู่นโยบายขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด) เพื่อให้การดำเนินการมีเจ้าภาพและงบประมาณที่ชัดเจนสม่ำเสมอต่อเนื่อง