ข่าวนี้ทำให้หลายคนยก Facebook ให้เป็นพระเอกตัวจริงของการทำตลาดรายการทีวีในสังเวียนดิจิตอล เนื่องจาก Facebook คือเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่เหล่าสมาชิกมีการพูดคุยและเปิดบทสนทนาที่เกี่ยวข้องกับรายการทีวีมากกว่า Twitter ถึง 10 เท่าตัว แต่มีข้อเสียอย่างเดียวคือการอ้างอิงหรือเอ่ย credit นั้นน้อยกว่า
ผลสำรวจล่าสุดสะท้อนว่า ความเชื่อที่ยกให้ Twitter เป็นเครือข่ายที่เหมาะสมที่สุดสำหรับประชาสัมพันธ์รายการทีวี อาจไม่เป็นจริงเสมอไป เนื่องจากผลการศึกษาเผยให้เห็นว่า Facebook คือพื้นที่หลักที่เรื่องราวของรายการทีวีถูกกระจายอย่างรวดเร็ว มากกว่าความสามารถในการกระจายข้อความของ Twitter ที่เป็นจุดเด่นและทำให้นักวิเคราะห์เชื่อว่า Twitter คือความหวังของการตลาดรายการทีวี
Twitter นั้นเป็นบริการที่เน้นการกระจายข่าวสาร ทำให้ถูกมองว่าเป็นเครือข่ายที่มีศักยภาพในการประชาสัมพันธ์รายการทีวีได้เป็นอย่างดี แต่จากการสำรวจของ ShareThis ผู้ให้บริการด้านการตลาดบนอินเตอร์เนต พบว่าตัวเลขสัดส่วนการแชร์ที่เกี่ยวกับรายการทีวีบนเครือข่ายของ Twitter นั้นอยู่ที่ 8.4% ของข้อความทวีตทั้งหมด ในขณะที่บน Facebook มีสัดส่วนอยู่ที่ 78.8% หรือมากกว่าเกือบ 10 เท่าตัว
ทาง ShareThis กล่าวว่าข้อดีของ Twitter ในด้านความรวดเร็วในการส่งต่อข้อความ ในแง่หนึ่งก็กลายมาเป็นผลลบต่อการประชาสัมพันธ์รายการทีวีเหมือนกัน เพราะระยะเวลาที่ข้อความเหล่านี้จะแสดงให้เห็นบนเครือข่ายมีเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น ซึ่งเมื่อเทียบกันแล้ว ข้อความบน Facebook แต่ละอันมีอายุเฉลี่ยตั้งแต่ 1 ชั่วโมงขึ้นไปหรืออาจเป็นวันก็ได้
นอกจากนี้ ShareThis ได้ชี้ให้เห็นว่าพฤติกรรมการดูทีวีของผู้บริโภคในปัจจุบันเปลี่ยนจากการรอดูตามเวลาที่ออกอากาศ กลายเป็นการอัดเก็บไว้ดูทีหลัง หรือการดูย้อนหลัง ผ่านทางบริการวิดีโอออนไลน์อย่าง Hulu หรือ Netflix ทำให้ข้อได้เปรียบของ Twitter ไม่มีผลอะไรมากนัก
ข่าวนี้ถือเป็นข่าวที่ไม่สู้ดีนักเพราะเกิดขึ้นในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของ Twitter ที่กำลังนับถอยหลังการเปิดจำหน่ายหุ้น IPO สำหรับนักการตลาด ขอให้ถือว่าข่าวนี้เป็นเครื่องหมายสะท้อนว่าเครือข่ายแต่ละแห่งต่างก็มีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกัน การเลือกใช้ก็ควรจะคำนึงถึงรูปแบบสินค้าหรือบริการของลูกค้าให้ดี เพื่อให้การประชาสัมพันธ์มีประสิทธิภาพมากที่สุด
ที่มา: VentureBeat และ http://mediamonitor.in.th