ทันลูก ทันโลก สร้างรอยยิ้ม
เพราะโลกก้าวไว ไปเร็ว เมื่อเลือกที่จะให้ ก็ต้องก้าวให้นำเทคโนโลยี และใช้ให้เกิดประโยชน์ ทั้งกับลูกและกับคุณ
- สร้างวินัยและความรับผิดชอบตั้งแต่ยังเล็ก พ่อแม่สามารถกำหนดวินัยให้ลูกฝึกปฏิบัติตั้งแต่ลูกยังเป็นเด็ก โดยการตั้งกฎกติกาที่ชัดเจนว่าอะไรห้ามทำบ้าง เด็กจะเรียนรู้ที่จะควบคุมบังคับตัวเองให้ไม่ทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ
- แบ่งเวลาใช้คอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน การจำกัดจำนวนคอมพิวเตอร์ในบ้านให้มีน้อยกว่าจำนวนคน จะเป็นผลให้เด็กๆ ต้องแบ่งกันใช้คอมพิวเตอร์ การกำหนดที่ตั้งของคอมพิวเตอร์ในห้องโถงหรือพื้นที่ใช้ร่วมกันในบ้าน จะช่วยปรับพฤติกรรมการใช้คอมพิวเตอร์ที่สร้างสรรค์ได้
- ใช้มาตรการทางการเงิน การจำกัดจำนวนและความถี่ของการให้เงิน ได้แก่ การไม่ให้เงินแก่ลูกมากเกินไป จะทำให้ไม่มีเหลือเฟือไปเล่นเกม หรือแม้ไปเล่นก็จะถูกจำกัดโดยจำนวนเงินที่มีไม่มากนั้น
- ฟังและพูดดีต่อกัน การฟังแบบดีต่อกันนั้นการตั้งใจฟังด้วยท่าทีที่เป็นมิตร ฟังให้จบก่อนที่จะพูด ฟังด้วยความรู้สึกเข้าใจและเห็นใจ
- จับถูก ชื่นชม ให้กำลังใจ พ่อแม่ต้องเข้าใจพลังของกำลังใจและสร้างให้เกิดกำลังใจในตัวลูก หากกำลังใจดีสมองจะทำงานได้ดี คนเราจะไม่เรียนรู้หากถูกตำหนิตลอดเวลา
- ร่วมกำหนดกติกาอย่างเป็นรูปธรรม และบังคับใช้อย่างเข้มแข็งแต่อ่อนโยน (อ่อนนอก แข็งใน) เมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่น ให้ร่วมกำหนดกติกาอย่างเป็นรูปธรรม ร่วมกำหนดกติกา ดีกว่าการกำหนดกติกาหรือสั่งการบังคับแต่ฝ่ายเดียว ส่วนรูปธรรมกติกา คือ การทำให้กติกาสามารถวัดได้ชัดเจนตรงกันทั้งสองฝ่าย
- สร้างรอยยิ้มเล็กๆ ในครอบครัว การสร้างรอยยิ้มในครอบครัวจะทำให้เกิดบรรยากาศครอบครัวอบอุ่น
- เข้าใจลูกว่าชอบอะไร ไม่ชอบอะไร พ่อ แม่ควรรู้ว่าลูกต้องการสิ่งไหน และนิสัยใจคอของลูกเป็นอย่างไร เพราะเรื่องความเข้าใจเป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญในการเลี้ยงลูกยุคนี้ หากพ่อแม่ไม่เข้าใจว่า ลูกชอบหรือต้องการสิ่งไหน ก็จะไม่รู้และพยายามเลือกสิ่งต่างๆ ให้กับลูกด้วยเหตุผลของตัวเอง
- ต้องมีเวลาที่มีคุณภาพให้กับลูก พูดคุยกันระหว่างแม่กับลูกหรือพ่อกับลูก มีเวลาไปเดินเล่น ดูหนัง ทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อให้เกิดสัมพันธภาพที่ดี
อ้างอิงข้อมูล
- คู่มือพ่อแม่ดูแลลูกยุคไซเบอร์,น.พ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์
- ‘คุณ’คือเหตุที่‘ลูก’ติดจอหรือเปล่า? ,เว็บไซต์ Healthy Gamer
- บันได 3 ขั้น เลี้ยงลูกยุคไอที , เว็บไซต์ Healthy Gamer
เรียบเรียง – สุมาลี พะสิม เจ้าหน้าที่จัดการความรู้และสื่อสารสาธารณะ
สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) www.childmedia.net
20 กันยายน 2013