หุ่นสาย: สื่อศิลปะเสริมการเรียนรู้

มูลนิธิหุ่นสายเสมา ศิลปะเพื่อสังคม สนับสนุนโดย สสส. และ สสย. จัดงานเทศกาลหุ่นเยาวชนนานาชาติ 2559(Harmony International Youth Puppet Festival 2016) ซึ่งเป็นเทศกาลที่ใช้สื่อศิลปะหุ่นเพื่อพัฒนาเยาวชนในการขับเคลื่อนกระบวนการสร้างเสริมจิต ปัญญา และสังคม รวมทั้งส่งเสริมการเรียนรู้ ภายใต้แนวคิด “Puppet in Education”

โดยมีหุ่นเยาววชนไทยเข้าร่วมงานกว่า 20 คณะ รวมทั้งหุ่นเยาวชนนานาชาติ จากประเทศพม่า และเวียดนาม งานนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-17 มกราคม 2559 โครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม

Puppet in Educationหรือศิลปะเพื่อการเรียนรู้ คือเป็นแนวคิดการใช้ศิลปะหุ่นเป็น “สื่อกลาง”เพื่อนำไปบูรณาการด้านการศึกษา ซึ่งหนึ่งในคณะเยาวชนที่เข้าร่วมงาน และถือว่าเป็น “เจ้าบ้าน” ในการต้อนรับในงานนี้และเป็นกลุ่มที่นำความแนวคิดดังกล่าวไปบูรณาการเพื่อสร้างการเรียนรู้ให้ กับเด็ก … กลุ่มคณะหุ่นสายช่อชะคราม โรงเรียนวัดเขายี่สาร จ.สมุทรสงครามหรือเรียกสั้นๆ กันว่า “หุ่นช่อชะคราม”

” ชื่อกลุ่มมาจากให้เด็กๆ ไปคิดกันมาและมาเสนอกัน มีหลายชื่อนะ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องในหมู่บ้าน เราก็คัดกันมา เสร็จแล้วเราก็ให้เด็กๆ ช่วยกันโหวต ก็ได้ชื่อช่อชะครามกันมา”

คำบอกเล่าจากครูติ้ว เป็นครูผู้ก่อตั้งชมรมหุ่นสายช่อชะครามขึ้นในโรงเรียนวัดเขายี่สาร โดยเล่าให้ฟังถึงการเดินทางของกลุ่มละครหุ่นสายช่อชะครามนั้นเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2550 โดยเข้าร่วมโครงการอบรมส่งเสริมพัฒนาการรณรงค์งดเหล้า สนับสนุนโดยสสส. ซึ่งใช้หุ่น เป็นสื่อกลางในการสื่อสารเรื่องราวดังกล่าว ซึ่งมีคณะหุ่นสายมูลนิธิหุ่นสายเสมา เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงสอนวิธีการเชิดหุ่น และการเขียนบท ซึ่งหลังจากอบรมเสร็จก็ได้หุ่นต้นแบบมา 1 ตัวและก็ลองปล่อยให้ครูติ้วลองทำ

• ลองผิดลองถูก กันจนเป็น….
จากการได้รับคำปรึกษาและมีพื้นที่ให้เปิดโอกาส ครูติ้วเริ่มกระบวนการก่อร่างเด็กสร้างหุ่นในโรงเรียนโดยการทำ “ชมรมหุ่นสายช่อชะคราม” ขึ้นมาในโรงเรียน ตอนแรกก็ทำครูติ้วเริ่มทำชมรมเพียงคนเดียว แต่พอครูในโรงเรียนเห็นความตั้งใจ การเอาจริงเอาจัง ก็เข้ามาช่วย โดยเริ่มต้นจากการเปิดรับสมัคร เด็กที่มีความสนใจ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีเกณฑ์ในการคัดเด็กอยู่ 2 ส่วน คือ ถ้าตัวสูง มือแขนขายาว ก็จะให้เป็นเด็กเชิด แต่ถ้าเสียงดี มีน้ำเสียงฟังชัดเจน ก็จะเป็น เด็กพากษ์ พอได้ เด็กเชิด กับเด็กพากษ์ จึงได้เกิดขึ้นมาเป็นกลุ่มช่อชะครามกัน ปัจจุบันมีเด็กในชมรมกว่า 20 คน ซึ่งเป็นเด็กชั้นประถมป.4-ป. 6 เสียเป็นส่วนใหญ่

“เด็กๆ เห็นมีแวว ก็เริ่มเลย คือเค้ากล้าแสดงออก พ่อแม่เค้าเต็มใจก็โอเค”

ตอนนี้เข้าปีที่ 9 คณะหุ่นช่อชะครามประดิษฐ์กันเองโดยใช้วัสดุธรรมชาติที่หาได้ในท้องถิ่น เช่น ไม้ลำพู ไม้แคป่า หรือแม้แต่วัสดุรีไซเคิล ก็เอามาทำหุ่นที่เรียกว่า หุ่นเปเปอร์มาร์เช

• ผู้ใหญ่ให้โอกาส เด็กจึงได้กล้าเล่น…
จากการเกิดขึ้นของชมรมช่อชะคราม จึงเป็นการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์อีกพื้นที่หนึ่งในโรงเรียนให้เด็กๆ ได้ร่วมตัวกัน โดยมีสื่อ “หุ่น” เชื่อมสายสัมพันธ์ของเด็กๆ จากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง ร่วมด้วยช่วยกันสร้างสรรค์เรื่องราว จนในปัจจุบันมีบทละครที่ใช้ในการแสดงกว่า 30 เรื่อง ซึ่งมีทั้งบทละครที่ส่งเสริมการท่องเที่ยว จ.สมุทรสงคราม เรื่อง “เที่ยวเมืองแม่กรอง” และเรื่อง “ปลาทูอุแว้แว้” ซึ่งปลาทู เป็นของดี ที่ขึ้นชื่อของจ.สมุทรสงคราม ซึ่งเป็นการเล่าเรื่องที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ท้องถิ่นรวมไปถึงการแต่งบทละครที่เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งจะเน้นไปแง่ของการให้ความรู้ เช่น การป้องกันยุงลาย การลดโลกร้อน เป็นต้น

“พอได้เรื่อง ให้เด็กเค้าอ่านด้วย บางทีเราคิดว่าต้องร้องแบบนี้ เค้าร้องไม่ได้ เราต้องตามเค้า ปล่อยเค้าบางทีอาจจะมีมุข เด็กๆ จะเก่งกว่าเรา ช่วยกัน”
“ครูจะแต่งบทละครมาก่อนค่ะ แล้วก็มาคุยกับพวกนี้ว่า พวกหนูเล่นได้มั้ย หนูอยากจะเพิ่มอะไร

ที่ทำให้หนูเล่นได้สนุก”น้องอั้ม นักเชิดหุ่นวัย 11 ปี ได้บอกถึงกระบวนการทำงานของกลุ่มเยาวชนช่อชะคราม ที่จะมารวมตัวกันในชมรมตอนเย็นหลังเลิกเรียน แล้วมาฝึกซ้อมในแบบพี่สอนน้อง รุ่นพี่ที่เป็นแล้วก็จะคอยมาสอนรุ่นน้องให้รู้จักการเชิดหุ่น ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดของการเชิดไม่ได้อยู่ฝีมือ แต่อยู่ “ความสามัคคี”

“เราจะต้องไม่มีการทะเลาะกัน เราต้องทำงานเป็นทีม เราจะต้องไม่แบ่งแยก เราขาดคนใดคนหนึ่งเราก็เล่นไม่ได้ ทุกคนต้องเป็นพี่น้องกันค่ะ”
คำบอกเล่าด้วยน้ำเสียงสดใส แววตาเปล่งประกายด้วยความสุขของน้องอั้ม เกิดขึ้นตลอดการสนทนาเรื่องที่เกี่ยวกับหุ่น เช่นเดียวกับน้องแอนฟิล เด็กพากษ์หุ่น วัย 10 ปี ก็ได้บอกเล่าถึงกระบวนการทำงานในทีมเช่นกัน และได้บอกเล่าถึงการเปลี่ยนของตนเองที่เกิดขึ้นหลังได้เข้ามาเรียนรู้การเชิดหุ่น

“แต่ก่อนหนูไม่ค่อยชอบเจอคนเยอะๆ หนูอาย พอพี่สาวหนูชวนมาเล่นหุ่น มันสนุกดี พี่ก็เล่น หนูเลยมาเล่น ทำให้หนูกล้าแสดงออก ฝึกเรื่องตรงต่อเวลา ความสามัคคี การทำงานเป็นหุ่น หุ่นต้องทำเป็นทีม ต้องฝึกกล้ามเนื้อมือ ถ้าใครพากษ์ก็ต้องไปอ่านให้คล่องจะได้พากษ์ดี” คำบอกเล่าจากน้องอั้ม
เช่นเดียวกับน้องแอนฟิล “หนูมาเล่นได้ 2 ปี ทำหน้าที่เป็นคนพากษ์ หนูชอบพากษ์เป็นคนแก่เด็ก เล่นได้หมด แล้วแต่ครูจะให้ แต่ก่อนหนูไม่กล้าทำอะไร พอเข้ามาหนูได้กล้าแสดงออก ตอนนี้หนูเป็นพิธีกรคณะหุ่นสาย พูดไทยกับอังกฤษ”

• จาก 1 เพิ่มเป็น 4 โรง (เรียน)
การความมุ่งมั่นของการสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ โดยใช้ “สื่อศิลปะหุ่น” เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนขยายความรู้จากภายในชมรม ได้นำหุ่นมาบูรณาการกับการเรียนการสอนในชั้นเรียน เช่น ครูห้องสมุดจะให้เด็กๆในชมรมไปเชิดหุ่นทำการประชาสัมพันธ์ว่ามีหนังสือเข้ามาใหม่เชิญชวนให้เด็กๆได้มายืมอ่าน และการนำหุ่นเชิดไปช่วยเป็นเครื่องมือสอนภาวะโลกร้อน ในการเรียนการสอนชั้นป.3 เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้ขยายความรู้ไปเสริมการท่องเที่ยวให้กับจ.สมุทรสงคราม จนเป็นที่ยอมรับของคนในจังหวัด และเดินสายเล่นตามต่างจังหวัด “เค้าบอกว่าเราเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดสมุทรสงคราม” จนกลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างและเป็นสร้างรายได้เสริมให้กับนักเรียน จนนำไปสู่การขยายพื้นที่ความรู้สู่โรงเรียนใกล้เคียงอีก 3 โรงเรียน โดยมีครูติ๋มและทีมเยาวช่อชะครามนำร่องให้จัดการอบรมการทำหุ่นให้กับครูในโรงเรียน เพื่อกระจายความรู้ไปยังนักเรียนในโรงเรียน ซึ่งเพิ่งเริ่มขับเคลื่อนไปเมื่อปีที่แล้ว (ปี 2558) ซึ่งก็เริ่มให้ความสนใจกันมากขึ้น

• เรียนรู้ไปพร้อมสานรักษ์วิถีชุมชน
การเดินทางของหุ่นสายช่อชะครามเริ่มมีคนในพื้นที่เริ่มเดินทางมากขึ้น ซึ่งภายในงานเทศกาลหุ่นเยาวชนนานาชาติ 2559 ได้เห็นการเอาจริงเอาจังของผู้ใหญ่ที่รังสรรค์พื้นที่สวนมะพร้าว ให้เกิดกิจกรรมทัวร์ท้องถิ่นไปกับไกด์เด็กช่อชะคราม “Puppet village” ซึ่งเป็นการเปิดพื้นที่สวนร่องมะพร้าวให้มีชีวิต ด้วยคำบอกเล่าของเด็กในพื้นถิ่น เป็นการสืบสานวิถีความเป็นชุมชนของชาวอัมพวา จ.สมุทรสงคราม ซึ่งได้รับการตอบรับจากนักท่องเที่ยวที่เข้าร่วมงานเป็นอย่างดีนอกจากนี้ตอนท้ายของงานีกิจกรรมการรวมตัวของชาวคณะหุ่นเยาวชนที่มาจากหลากหลายพื้นที่ มารวมตัวกันเล่นละครหุ่นร่วมกัน ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมระหว่างกันได้อย่างลงตัว

“หุ่น เป็นสิ่งมหัศจรรย์เล็กๆที่สร้างได้ทุกสิ่ง” คำโปรยการประชาสัมพันธ์งานเทศกาลนี้และเรื่องราวที่เกิดขึ้นในเทศกาล จึงเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่าหากคนในพื้นที่ได้ให้ความร่วมมือร่วมใจสรรค์สร้างเรื่องราวดีๆให้เกิดขึ้นในพื้นที่ และสามารถปรับประยุกต์สื่อเป็น ก็สามารถนำสื่อดังกล่าวมาสื่อสารและเกิดประโยชน์กับคนในพื้นที่ ไปพร้อมกับการหวงแหนศิลปะไทย “หุ่นสาย” ดังเช่นที่ คุณตู้ นักเชิดหุ่นสาย มูลนิธิหุ่นสายเสมาได้กล่าวไว้

 

“พวกเราจะบอกเสมอว่า เราไม่ขายหุ่น แต่หากใครที่สนใจ เค้าจะต้องไปทำด้วยตนเอง เพราะว่าถ้าเราประกอบเค้าขึ้นมาเอง ช่วงระหว่างเราทำ เราจะเกิดสายใย เราจะรักเค้า และหุ่นที่เกิดขึ้นมาจะไม่ได้ไปแขวนโชว์ แต่เค้าจะเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเรา…
เพราะเรามีแนวคิด เราไม่ให้เด็กสร้างหุ่น แต่เราให้หุ่นได้สร้างเด็ก”