PRESS HERE: หนังสือกระดาษที่กดเล่นได้แบบแท็บเล็ต

ในปีที่แอปเปิ้ลเปิดตัว iPad และผู้คนกำลังตื่นเต้นกับหนังสืออินเตอร์แอ็กทีฟ มีคนทำหนังสือเล่มเล็กๆ เพื่อแสดงให้โลกเห็นว่า เทคโนโลยีที่แท็บเล็ตมี มนตราของหน้ากระดาษก็ทำได้

หนังสือ ในเรือนร่างดิจิทัลดำรงอยู่บนโลกใบนี้มาเนิ่นนานหลายทศวรรษ ยุคแรกเป็นเพียงการสแกนหรือแปลงไฟล์หนังสือเล่มให้อยู่ในรูปแบบที่อ่านผ่าน หน้าจอได้ง่าย โดยรูปเล่ม หน้าตา และเนื้อหา ทุกอย่างยังคงถอดแบบมาจากหน้ากระดาษของหนังสือไม่มีผิดเพี้ยน จนกระทั่งบริษัทแอปเปิ้ลเปิดตัวไอแพดรุ่นแรกเมื่อเดือนเมษายน ปี 2010 วิธีคิดในการทำหนังสือดิจิทัลก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ไอแพดเริ่ม เปลี่ยนโลกของคนทำหนังสือด้วยการเปิดตัวแอพพลิเคชัน iBook คลังหนังสือออนไลน์ที่มีให้เลือกถึง 60,000 เล่ม ถึง iBook จะมีหนังสือน้อยกว่า Kindle หลายเท่า แต่มันก็เข้าถึงคนเยอะกว่า และทำให้หนังสือออนไลน์กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวระดับที่อยู่ในโทรศัพท์มือถือ

ที่ สำคัญยิ่งกว่านั้น ฟังก์ชันลูกเล่นต่างๆ ของไอแพดทำให้เกิดการสร้างหนังสือรูปแบบใหม่ ด้วยวิธีคิดใหม่ ที่ไม่ได้อยู่ในรูปแบบหนังสือที่เราคุ้นตา แต่เป็นแอพพลิเคชันที่สื่อสารเนื้อหาผ่านเทคนิคและจังหวะคล้ายเว็บไซต์

หนังสือ ในรูปแบบแอพพลิเคชันทำลายกรอบคิดแบบเดิมๆ ในการทำหนังสือโดยสิ้นเชิง เพราะนำเสนอเนื้อหาในรูปแบบที่อิสระ ผสมผสานสื่ออื่นๆ ทั้งวิดีโอและเสียงเข้ามาได้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และเต็มไปด้วยเทคนิคอินเตอร์แอ็กทีฟที่ผู้อ่านมีส่วนร่วมได้ตลอดการอ่าน ไม่ว่าจะเป็นการหมุนวัตถุดู 360 องศา การซูม และอะไรต่อมิอะไร ที่เราเล่นได้ง่ายๆ เพียงแค่กดๆ ถูๆ เอียงๆ เขย่าๆ

เมื่อเทคโนโลยี ก้าวเดินล่วงหน้า คนทำหนังสือและนิตยสารมากมายจึงก้าวเท้าตาม นิตยสารหลายหัวสนุกกับการใส่ลูกเล่นเหล่านี้ลงไปในนิตยสารเวอร์ชันดิจิทัล ถึงขนาดมีนิตยสารหัวใหม่ที่เปิดตัวขึ้นมาในรูปแบบแอพพลิเคชันมัลติมีเดียและ อินเตอร์แอ็กทีฟโดยเฉพาะ เช่นเดียวกับหนังสือที่ลุกขึ้นมาสร้างสรรค์แบบหลุดกรอบ

หนังสือหมวด ที่ดูจะตอบรับกับรูปแบบบนแท็บเล็ตมากที่สุดเห็นจะเป็นหนังสือเด็ก เพราะลูกเล่นทั้งหลายช่วยสะกดน้องหนูได้ดีกว่าหน้ากระดาษธรรมดา พ่อแม่และโรงเรียนหลายแห่งในยุคนั้นจึงเริ่มมองว่าแท็บเล็ตเป็นสื่อสร้าง สรรค์ที่ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของเด็ก จากที่เคยอ่านหนังสือให้เด็กฟัง ก็เปลี่ยนมาเล่นแท็บเล็ตด้วยกันแทน

เมื่อหนังสือบนสื่อใหม่ครบเครื่องและยั่วยวนขนาดนี้ หลายคนจึงเริ่มตั้งคำถามว่า หนังสือกระดาษจะอยู่รอดได้ยังไง

ปี 2010 ที่ไอแพดเปิดตัว มีหนังสือกระดาษเล่มหนึ่งเปิดตัวตามมา ผู้คนในวงการหนังสือยกนิ้วให้ว่า ต่อสู้กับแท็บเล็ตด้วยเทคนิคที่ร้ายกาจมาก หนังสือภาษาฝรั่งเศสเล่มนี้ชื่อ Un livre (แปลว่า a book) เขียนและวาดโดย Hervé Tullet ศิลปินชาวฝรั่งเศส เขาเรียนจบมาทางศิลปะ ทำงานเป็นอาร์ตไดเรกเตอร์ในวงการโฆษณาอยู่ 10 ปี ก็ออกมาทำภาพประกอบนิตยสาร และเขียนหนังสือเด็ก หนังสือเด็กของเขาได้รับรางวัลหลายเล่มเพราะวิธีคิดที่ไม่ได้ทำหนังสือให้ เด็กเพียงแค่อ่าน แต่ยังให้เด็กสัมผัสและรู้สึกด้วย

Un livre หรือ Press Here (เวอร์ชันภาษาอังกฤษซึ่งได้รับการแปลในปีถัดมา) ย้อนกลับไปหาเสน่ห์สุดคลาสสิกของหนังสือ คือการที่คนอ่านมีส่วนร่วมจนตัวเราหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ เนื้อหาทุกอย่างในเล่มล้วนเป็นจริงได้ด้วยจินตนาการของเรา แล้วก็บอกเล่าไอเดียนี้ผ่านไอเดียสุดกวนด้วยการเอาลูกเล่นแบบไอแพดมาล้อบน หน้ากระดาษ

หนังสือปกแข็งความหนา 56 หน้าเล่มนี้ ดำเนินเรื่องอย่างเรียบง่ายด้วยจุดสีเพียง 3 สีเท่านั้น เริ่มต้นด้วยภาพจุดสีเหลืองบนพื้นขาว และข้อความว่า ‘กดที่นี่ แล้วพลิกหน้าถัดไป’ เมื่อกดและเปิดไปหน้าถัดไปก็จะพบจุดสีเหลืองเพิ่มขึ้นมาอีกจุด และข้อความว่า ‘เยี่ยม! กดจุดสีเหลืองอีกครั้ง’ พอ พลิกหน้ากระดาษ จุดสีเหลืองก็กลายเป็น 3 จุด จากนั้นหนังสือเล่มนี้ก็ชวนคนอ่านเล่นแบบเดียวกับไอแพดคือ ให้ถู เคาะ จุดสีบนหน้ากระดาษ รวมถึงให้เอียง เขย่าหนังสือ แล้วก็พลิกหน้ากระดาษ เพื่อดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับจุดเหล่านั้น ราวกับนี่เป็นหนังสืออินเตอร์แอ็กทีฟ

ใน วันที่โลกกำลังเห่อหนังสืออินเตอร์แอ็กทีฟ หนังสือกระดาษเล่มนี้เป็นที่พูดถึงอย่างมาก เพราะเอาเทคนิคของแท็บเล็ตมาล้อเลียนได้อย่างน่ารัก พร้อมกับส่งสารอันยิ่งใหญ่ที่หลายคนอาจลืมไปแล้วก็คือ เทคนิคพวกนี้ หนังสือกระดาษทำได้มาหลายร้อยปีแล้วด้วยสิ่งที่เรียกว่า-จินตนาการ

หลาย คนอาจจะมองว่า ลูกเล่นพวกนี้ไม่เห็นจะน่าตื่นเต้นเลย แต่ต้องไม่ลืมว่านี่คือหนังสือนิทานสำหรับเด็กอายุ 4 – 8 ขวบ หนังสือที่มีหัวใจสำคัญคือ การสื่อสารระหว่างคนอ่านนิทานกับคนฟัง และการกระตุ้นให้คนฟังจินตนาการตาม หลอกล่อให้เด็กค่อยๆ อ่าน ค่อยๆ จินตนาการ เมื่อความอยากรู้และจินตนาการทำงานถึงขีดสุดก็ได้เวลาพลิกหน้ากระดาษ สิ่งเหล่านี้กำลังห่างหายไปเพราะหลายบ้านสนุกกับของใหม่ที่อินเตอร์แอ็กทีฟก ว่า

หลายปีก่อน หนังสือเด็กเล่มนี้เป็นหนังสือแนะนำตามร้านหนังสือ และวางขายเคียงข้างสินค้าดีไซน์ไอเดียจัดตามพิพิธภัณฑ์ เพราะมันเป็นงานสร้างสรรค์ชั้นเยี่ยมที่เป็นแรงบันดาลใจให้เหล่านักคิดทั้ง หลายเห็นทางใหม่ในการทำให้เนื้อหาบนกระดาษมีมิติ และหาวิธีต่อลมหายใจให้หนังสือกระดาษเจอ เพราะหา ‘หัวใจ’ ของหนังสือเจอ

Press Here นั้นดังจนถูกเอาไปพัฒนาต่อเป็นแอพพลิเคชันเกมบนแท็บเล็ต! ไม่ใช่การเอาหนังสือไปทำให้อินเตอร์แอ็กทีฟแน่ เพราะมันอินเตอร์แอ็กทีฟตั้งแต่อยู่บนหน้ากระดาษแล้ว แต่เป็นการเอาไอเดียเรื่องจุดและสี ไปแปลงเป็นเกมให้เด็กเล่นด้วยเทคนิคบนแท็บเล็ตจริงๆ

ไอเดียของ Hervé Tullet ยังไม่หมด ปี 2014 เขาเปิดตัวหนังสือเล่มสองชื่อ Mix it up ว่าด้วยการผสมสี แบบแม่สี ให้เด็กๆ ใช้นิ้วแตะกระดาษเพื่อผสมสีราวกับว่าสีบนหน้ากระดาษยังไม่แห้ง และแน่นอนว่า ยังคงลูกเล่นแบบอินเตอร์แอ็กทีฟสไตล์เดิมเอาไว้ แต่พิเศษกว่าเดิมก็คือ พ่อแม่ลองเอาสีเทใส่กระดาษ แล้วให้ลูกเล่นตามแบบในหนังสือได้เลย และเร็วๆ นี้ เขากำลังจะเปิดตัวหนังสือเล่มที่สาม Let’s Play ที่ไม่ได้มองหนังสือเป็นเป็นหนังสือแล้ว แต่เป็นเหมือนกล่องของเล่นที่ใช้เล่นสนุกได้มากมาย ราวกับจะบอกว่า ถ้ามีจินตนาการ หนังสือก็เป็นอะไรได้มากมายไม่รู้จบ

ชื่อหนังสือ: Press Here
ผู้เขียน: Hervé Tullet
ภาษา: อังกฤษ
พิมพ์ครั้งแรก: 2010 (สำนักพิมพ์ Bayard Editions ภาษาฝรั่งเศส)
สำนักพิมพ์: Chronicle Books

ขอบคุณข้อมูลจาก Adaymagazine