1-2 มีนาคม 2567 ณ บริเวณตลาดเสรี อำเภอเมือง จังหวัดยะลา
.
คณะทำงาน Salam Kedai Lama ร่วมกับ มูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน(สสย.) จัดเทศกาลเปิดพื้นที่ตลาดเก่าบริเวณสถานีรถไฟยะลา ในชื่อ “Salam kedai lama(สลาม กือดัยลามอ)” ซึ่งมีความหมายว่า ตลาดเก่าเป็นพื้นที่สำหรับทุกคน โดยมีกลุ่มเยาวชนที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการนำเสนอผลงานหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นนิทรรศการ การแสดงพื้นบ้าน การขับร้องบทเพลงอนาชีด นอกจากนั้นยังเปิดพื้นที่เรียนรู้เชิงปฏิบัติการ(workshop) พาทำอาหารและเครื่องดื่ม การเขียนคอตภาษาอาหรับ และการสกรีนเสื้อที่เยาวชนร่วมกันออกแบบลายผ้าจากอาคารในย่านตลาดเก่า
ในการเปิดงานตลาดเก่าของทุกคน คุณเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการมูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน ได้กล่าวขอบคุณทีมงานและเยาวชนที่ร่วมกันขับเคลื่อนพื้นที่เมืองสำหรับทุกคน และกล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของการออกแบบพื้นที่ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างไม่มีใครถูกกีดกัน พลังของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ฟื้นคืนพลัง ทำให้พื้นที่แห่งนี้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งนอกเหนือจากการเป็นพื้นที่ตลาดเก่า นอกจากนั้นได้กล่าวขอบคุณทีมงานที่ได้เตรียมชุดมลายูให้ทีมงานสสย.ได้สวมใส่เพื่อสร้างความเป็นส่วนร่วมกับคนในพื้นที่
จากนั้นเป็นการเปิดเวทีให้ตัวแทนเยาวชนจากแต่ละทีมได้มาเล่าถึงแนวคิดและสิ่งที่ต้องการเห็นจากการทำโครงการ ซึ่งการปฏิบัติการของเยาวชนในพื้นที่ตลาดเก่าแบ่งออกเป็น 5 ประเด็นตามความสนใจ ได้แก่ อาหาร อาคาร อาภรณ์ การศึกษา และศิลปวัฒนธรรม ที่เยาวชนอยากฟื้นคืนสิ่งเหล่านี้ไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลาและส่งต่อสู่คนรุ่นหลัง ต้องการเป็นกระบอกเสียงของคนในพื้นที่ให้กระจายสู่สังคมวงกว้าง อยากทำให้ตลาดเก่าเป็นพื้นที่มีชีวิตชีวาอีกครั้ง
นอกจากเยาวชนได้ส่งเสียงแล้ว ยังมีปราชญ์ชุมชนด้านอาหารได้กล่าวเสริมเยาวชนว่าตนเองก็อยากขับเคลื่อนพื้นที่แห่งนี้ ต้องการให้อาหารท้องถิ่นในยะลาเป็นที่นิยม และตนได้อาสาทำประเด็นเรื่องบ้านมีชีวิต เพื่อให้คนในพื้นที่ที่ออกไปประกอบอาชีพที่อื่นและคนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดได้กลับมาใช้ชีวิต มีอาชีพ และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขที่นี่
ในส่วนของตัวแทนคนพื้นที่ ทั้งคนที่เกิดและเติบโตมาในตลาดเก่า และคนที่ย้ายถิ่นฐานมาจากจังหวัดอื่น ต่างก็รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน อยากให้ผู้ที่มาเยี่ยมชมเราวันนี้ได้เป็นกระบอกเสียงส่งต่อว่า
“ยะลาเป็นเมืองน่าอยู่ เราอยู่กันอย่างเป็นพี่น้องด้วยความเป็นพหุวัฒนธรรม แม้แตกต่างแต่ไม่แตกแยก”
ต่อด้วยการแสดงขับร้องบทเพลงอนาชีดจาก วง Naeif และ วง Armanda ซึ่งผสมผสานบทเพลงพื้นบ้านและการขับร้องสมัยใหม่ไว้ด้วยกันทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ต่อด้วยการแสดงซีละล้ำค่าวัฒนธรรมพื้นถิ่น ที่ผสานระหว่างศิลปะการต่อสู้ปัญจักสีลัตและการแสดงหนังตะลุงเข้าด้วยกัน
.
เทศกาล Salam Kedai Lama ได้รับความสนใจจากผู้คนในพื้นที่ ทั้งเยาวชน นักเรียนนักศึกษา และประชาชนที่อาศัยบริเวณตลาดเก่า ที่พาบุตรหลานเข้ามาชมนิทรรศการ การแสดง และเข้าร่วม workshop จนจำนวนผู้สมัครเต็มอย่างรวดเร็ว
*ขอบคุณภาพจากเพจ Salam Kedai Lama
#salamkedailama#ตลาดเก่าของทุกคน#ตลาดเก่ายะลา#midlforinclusivecities#มูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน#ยะลา