“เพชรบุรี ดีจัง ไปยาลใหญ่” มหกรรมพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อสุขภาวะทางปัญญา

เปิดงาน “เพชรบุรี ดีจัง ไปยาลใหญ่” มหกรรมพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อสุขภาวะทางปัญญาบนฐานชุมชนสุดคึกคัก เยาวชนเมืองเพชรฯ ผนึกชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สสส.พร้อมใจหนุนเด็กผลิตสื่อ-คิดอย่างสร้างสรรค์ หวังขับเคลื่อนเมืองเพชรบุรีเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ศิลปะและวัฒนธรรมชุมชน พร้อมขยายพื้นที่สร้างสรรค์กว่า 107 แห่ง ใน 38 จังหวัด

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม ที่ลานกลางสะพานจอมเกล้า จ.เพชรบุรี นายสนิท ขาวสะอาด ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี รศ.ดร.จุมพล รอดคำดี ประธานคณะกรรมการบริหารแผน คณะที่ 5 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และนายชัยยะ อังกินันทน์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบุรี ร่วมกันเปิดกิจกรรมพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อสุขภาวะทางปัญญาบนฐานชุมชน “มหกรรมพื้นที่สร้างสรรค์ เพชรบุรี ดีจัง ไปยาลใหญ่” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-20 มีนาคม 2559 ณ พื้นที่ใจกลางเมืองเพชรบุรี ได้แก่ วัดใหญ่สุวรรณาราม เวทีลานน้ำพุ หน้าศาลา ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบุรี เทศบาลเมืองเพชรบุรี องค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี สถานีตำรวจภูธรเมืองเพชรบุรี วัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร สถาบันอาศรมศิลป์ สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) และความร่วมมือจากชาวชุมชนในพื้นที่จัดงานและพื้นที่อื่น ทั้งภาครัฐภาคเอกชน

รศ.ดร.จุมพล กล่าวว่า สสส. ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย โดยปักหมุดเรื่องยุทธศาสตร์ส่งเสริมสื่อและพื้นที่สร้างสรรค์ในการพัฒนาเด็กเยาวชน และครอบครัว เพื่อส่งเสริมให้เกิดสื่อสร้างสรรค์ที่เหมาะสม ดี และเพียงพอ โดยใช้สื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการการสร้างภูมิคุ้มกันและเสริมพลังให้เด็ก เยาวชน และครอบครัว ผ่านยุทธศาสตร์ 3 ดี คือ สื่อดี พื้นที่ดี และภูมิดี จนเกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมชัดเจน ในโครงการรณรงค์พื้นที่สุขภาวะสำหรับเด็กและเยาวชน เพชรบุรี…ดีจัง ถือเป็นพื้นที่ต้นแบบ และเป็นจังหวัดต้นแบบ ปัจจุบันได้ขยายพื้นที่สร้างสรรค์เครือข่ายเด็กและเยาวชน อีกกว่า 107 แห่ง ใน 38 จังหวัด

จากการสำรวจข้อมูลการเข้าถึงและการใช้สื่อของเด็กและเยาวชน โดยเครือข่ายเสียงประชาชน (We Voice) ในปี 2556 พบว่าปัจจุบันเด็กและเยาวชนมีโอกาสเข้าถึงสื่อไม่ดีมากกว่าสื่อดี และสื่อยังมีผลต่อปัญหาพฤติกรรมและสุขภาพของเด็กและเยาวชน เช่น เด็กติดเกม การเสพสื่อออนไลน์เกินความจำเป็น การบริโภคขนมขบเคี้ยว และพฤติกรรมแน่นิ่ง ขาดการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ ก่อเกิดทุกขภาวะในหลายด้าน

นางสาวเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) กล่าวว่า จากการดำเนินโครงการพื้นที่สร้างสรรค์ เพชรบุรี…ดีจัง มาอย่างต่อเนื่อง พบว่ากิจกรรมสื่อและพื้นที่สร้างสรรค์ เป็นส่วนสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันและทักษะชีวิตของเด็กและเยาวชนให้มีความฉลาดรู้ทางสื่อ (Media Literacy) ความฉลาดรู้ทางสุขภาพ (Health Literacy) และความตื่นรู้ทางปัญญา (Spiritual Literacy) ได้อย่างทรงพลัง ซึ่งผลการดำเนินงาน ทำให้เกิดเครือข่ายพื้นที่สร้างสรรค์ทุกอำเภอในระดับต่างๆ ทั้งจากศิลปินสกุลช่าง ครูอาจารย์ นักกิจกรรมพัฒนาเยาวชน ศิลปวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม กลุ่มเยาวชนจิตอาสา ทั้งคนเฒ่าคนแก่ พ่อแม่ผู้ปกครอง ทั้ง โรงเรียน วัด หน่วยงานท้องถิ่น ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ พัฒนาศักยภาพในการสร้างสรรค์สื่อดี พื้นที่ดี เพื่อภูมิดีของเด็ก เยาวชน ครอบครัว และชุมชน ทำให้เกิดการพัฒนาเยาวชนแกนนำภาคีเครือข่ายพื้นที่สร้างสรรค์ เพชรบุรี…ดีจัง มีศักยภาพในการผลิตสื่อสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจ ที่มีความหลากหลายทั้งรูปแบบและเนื้อหา 15 กลุ่ม เยาวชนเครือข่าย 200 คนการเปิดพื้นที่ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้ออกแบบและเป็นผู้ผลิตสื่อ

รวมถึงเป็นผู้สร้างช่องทางเผยแพร่สื่อด้วยตนเอง จึงเป็นกระบวนการสำคัญที่จะสร้างความรู้เท่า ความรู้ทัน แยกแยะดีชั่ว ประโยชน์และโทษ นำมาสู่การรณรงค์พื้นที่สุขภาวะทางปัญญา “เพชรบุรี…ดีจัง” สู่กลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็ก เยาวชน และ ครอบครัว ชุมชน องค์กรท้องถิ่น ตลอดถึงเด็กและเยาวชนที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงพื้นที่สุขภาวะทางปัญญา สามารถต่อยอดและขยายผลให้พื้นที่สร้างสรรค์มีความยั่งยืน

ด้าน นางสาวสุนิสา ประทุมเทือง แกนนำเครือข่ายเยาวชนพื้นที่สร้างสรรค์ กล่าวว่า รู้สึกดีใจและขอขอบคุณผู้ใหญ่ทุกคนให้โอกาส โดยโครงการเพชรบุรี ดีจัง ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาเข้าสู่ปีที่ 6 แล้ว โดยในแต่ละปีนั้นเครือข่ายเยาวชนจาก 8 อำเภอของจังหวัดเพชรบุรี กว่า 20 กลุ่ม ได้ร่วมกันค้นหาและเรียนรู้ศิลปะ วัฒนธรรมของชุมชน นำความรู้ที่ได้รับมาจัดกิจกรรม ออกแบบผลิตสื่อของชุมชน สื่อสารแบ่งปันสู่คนในพื้นที่ของตนเองอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งการร่วมกันจัด “มหกรรมพื้นที่สร้างสรรค์ เพชรบุรี ดีจัง” ขึ้นในใจกลางเมือง ชักชวนชาวชุมชนในพื้นที่จัดงาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่สนใจ นำเสนอผลจากการเรียนรู้ของแต่ละพื้นที่ ในรูปแบบของกิจกรรมแบบมีส่วนร่วมให้ผู้ที่มาร่วมงานได้ลงไม้ลงมือเรียนรู้แบบปฏิบัติจริงกัน พร้อมทั้งนำเสนอการแสดงศิลปะ วัฒนธรรมพื้นบ้านหลากหลายรูปแบบ