อสม.การศึกษากลไกที่อาจตอบโจทย์การศึกษาในห้วงวิกฤตโรคระบาด

นับตั้งแต่เดือนมกราคมที่ไทยตรวจพบผู้ป่วยโควิด 19 รายแรกจนถึงปัจจุบันเวลาได้ผ่านมากว่าห้าเดือนแล้ว การแพร่ระบาดของโรคอย่างรวดเร็วครอบคลุมทุกจังหวัดของประเทศ ได้สร้างความเสี่ยงโดยตรงต่อสุขภาพและชีวิตของประชาชน รัฐบาลจึงต้องประกาศขอความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ ให้ร่วมมือดำเนินมาตรการตามที่รัฐกำหนด โดยเฉพาะการทำงานและการเรียนที่บ้านแบบออนไลน์

อย่างไรก็ตามในส่วนของการเรียนที่บ้านหรือการเรียนออนไลน์นั้น ผู้ปกครอง ครูหรือเด็กอาจพบความท้าทายหลายประการด้วยกันไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการขาดหรือมีอุปกรณ์พื้นฐานที่จำเป็นไม่เพียงพอ เช่น คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน โทรทัศน์หรือสัญญาณอินเตอร์เน็ต การที่ผู้ปกครองอาจต้องไปทำงานหารายได้เสริมจนไม่มีเวลามาช่วยดูแลเด็กระหว่างเรียน หรือเด็กบางกลุ่มอาจเป็นกลุ่มเด็กที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ นอกจากผู้ปกครองแล้ว โรงเรียนโดยเฉพาะโรงเรียนที่มีขนาดเล็กและอยู่ในพื้นที่ที่ไกลจากตัวอำเภอ หรือโรงเรียนที่อยู่ตามชายแดนก็อาจประสบปัญหาการจัดการเรียนออนไลน์ตามมาตรการของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเช่นกัน

ความท้าทายเหล่านี้ส่งผลให้การออกแบบการเรียนการสอนในช่วงโควิด 19 เป็นโจทย์ใหญ่ของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการหามาตรการ และวิธีการจัดการเรียนการสอนในห้วงที่ต้องรักษาระยะห่างระหว่างกันถึงแม้ว่าเด็ก ๆ จะมิใช่กลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อแต่ก็อาจเป็นพาหะของโควิดไปยังครอบครัวได้

ในช่วงที่การเปิดเทอมในเดือนกรกฎาคมเข้าใกล้ขึ้นมาทุกขณะ ภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียน มูลนิธิหรือเครือข่ายด้านการศึกษา ครู ผู้ปกครองและเด็ก ๆ ต่างได้พยายามหาช่องทางในการจัดการเรียนการสอนให้ตอบโจทย์เด็กกลุ่มต่าง ๆ มากที่สุด หนึ่งในกลไกที่น่าสนใจคืออาสาสมัคร (อสม.) ที่มีบทบาทสำคัญในการป้องกันโรค ดูแลสุขอนามัยในระดับชุมชน และในมิติด้านการศึกษาก็อาจเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สามารถใช้กลไกของอสม.มาช่วยในการจัดการเรียนการสอน

อสม.การศึกษาตัวแบบจากพื้นที่และข้อเสนอจากเวทีสัมมนา

ตัวอย่างโดยตรงจากพื้นที่ของการนำกลไกอสม.มาใช้ในด้านการศึกษา เช่น ในกรณีโรงเรียนบ้านตะโกล่าง ตำบลสวนผึ้ง อำเภอสวนผึ้ง จ.ราชบุรี อสม.ได้เข้ามาช่วยครูจัดการเรียนการสอนให้กับเด็ก โดยครูหรืออสม. 1 คน จะรับผิดชอบดูแลเด็ก 20 คน ซึ่งมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) วิทยาเขตราชบุรีเป็นผู้จ่ายค่าตอบแทนและอบรมอสม. สำหรับหน้าที่ของอสม.คือการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ช่วยตรวจการบ้าน ช่วยสอน ให้ความรู้ในด้านสุขอนามัยแก่เด็ก ๆ ซึ่งกลไกอสม.นี้ยังอยู่ในขั้นทดลองมีการนำร่องใน 4 โรงเรียนต้นแบบ

สอดคล้องกับข้อเสนอจากเวทีสัมมนา“นวัตกรรมท้องถิ่นร่วมสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา” ที่จัดโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สถาบันพระปกเกล้าและเครือข่าย ที่ส่งเสริมการสร้างอสม.การศึกษาเพื่อป้องกันเด็กหลุดออกนอกระบบ และช่วยเหลือครอบครัวเด็กที่ยากจนด้อยโอกาสและเด็กที่มีความจำเป็นพิเศษ โดยกสศ.จะเน้นไปที่การสร้างนวัตกรรมระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาในรูปแบบแอพพลิเคชั่นในมือถือเพื่อสนับสนุนการทำงานของอสม.การศึกษาและท้องถิ่น

สำหรับกลไกการทำงานของอสม.การศึกษานั้นจะสนับสนุนการทำงานในระดับพื้นที่ช่วยเหลือนักเรียนได้ถึงระดับหมูบ้าน ช่วยเหลือทั้งการเรียนและสุขภาวะของนักเรียนและชุมชน ซึ่งอสม.นั้นอาจจะเป็นบัณฑิตรองาน ข้าราชการครูเกษียณ ครูอัตราจ้าง และรุ่นพี่ในชุมน ซึ่งกสศ.จะเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายและค่าตอบแทนให้ตามความเหมาะสม

อสม.การศึกษาอาจไปประจำไปที่หมู่บ้านใดหมู่บ้านหนึ่งเฉพาะให้เน้นแก้ปัญหาในหมู่บ้านนั้นได้ หรือหากโรงเรียนไหนมีประสิทธิภาพจะให้ครูมาประจำก็ได้ เป็นการเสริมระบบการเรียนการสอนปกติ และเสริมการสอนของครูในบางกรณีที่ครูอาจเดินทางไปบ้านนักเรียนได้ลำบาก มีปัญหาการเข้าถึงพื้นที่เช่นบางหมู่บ้านล็อกดาวน์ไม่ให้คนข้างนอกเข้า การมี อสม.การศึกษา ก็อาจทำงานได้ดีกว่าครูที่อยู่นอกพื้นที่ สำหรับการคัดเลือกคนที่จะมาทำหน้าที่

นอกจากจะทำหน้าที่ช่วยเหลือเด็กในชุมชนแล้วอสม.การศึกษาจะช่วยสำรวจเด็กที่ความเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา แนะนำการจัดการเรียนรู้และสุขอนามัยให้แก่นักเรียนและชุมชนในพื้นที่ เข้าไปช่วยหนุนเสริมการเรียนของเด็กในชุมชน เช่น ช่วยปรับจูนสัญญาณโทรทัศน์เพื่อให้เด็กที่มีปัญหาเรื่องอุปกรณ์สามารถเรียนทางไกลได้ หรือเข้าถึงบ้านต่าง ๆ ในระดับย่อยอย่างหมู่บ้านและชุมชนได้อย่างทั่วถึง เพราะเป็นคนในพื้นที่ที่สามารถช่วยสื่อสารเจตนารมณ์ของโรงเรียนหรือช่วยสอนหนังสือเด็ก ๆ ได้ในกรณีที่ครูเข้าถึงพื้นที่ได้ไม่ทั่วถึง

ท่ามกลางการหาแนวทางที่เหมาะสมในการเปิดเรียนและจัดการเรียนการสอนในช่วงที่มีการระบาดของโควิด 19 นั้น กลไกอสม. เป็นอีกกลไกหนึ่งที่มีความน่าสนใจและสามารถลงมือปฏิบัติได้ทันทีดังที่เห็นจากกรณีศึกษาในหลายพื้นที่ รวมถึงยังมีความพร้อมจากการสนับสนุนขององค์กรต่าง ๆ เช่น มหาวิทยาลัย กสศ. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชน นอกจากอสม.จะช่วยในเรื่องการเรียนการสอนแล้วอสม.ยังจะช่วยในเรื่องของการให้ความรู้ทางสุขอนามัยให้แก่เด็กและชุมชน สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนที่มาเป็นอสม. และในระยะยาวการมีอสม.การศึกษาและการพัฒนากลไกอสม.การศึกษายังอาจช่วยลดปัญหาขาดแคลนครูในหลายพื้นที่อีกด้วย


อ้างอิง

https://waymagazine.org/the-equity-forum-2020-ratchaburi/

https://www.eef.or.th/52819/?fbclid=IwAR0UaKrGte3e1WevZUu45oq38XvrPVVD2uTGnbCOjqoGnPdU4vYxm2lbV24

https://www.thairath.co.th/news/local/1864503