การเรียนทางไกลหรือการเรียนออนไลน์เพื่อตอบสนองนโยบายการรักษาระยะห่างของรัฐบาลในช่วงที่มีการระบาดของโควิด 19 อาจไม่เหมาะกับทุกคน เนื่องจากเด็กบางกลุ่มอาจพบอุปสรรคในการเรียนทางไกลหรือการเรียนในระบบออนไลน์ เช่น การขาดอุปกรณ์จำเป็น สัญญาณอินเตอร์เน็ตหรือโทรทัศน์อาจมีปัญหาในระหว่างการเรียน หรือแม้แต่การที่พ่อแม่ผู้ปกครองไม่สามารถทำหน้าที่เป็นครูหรือพี่เลี้ยงในการเรียนของเด็ก ๆ ได้เนื่องจากต้องออกไปทำงานหรือหารายได้เสริมในช่วงที่อาจขาดรายได้จากงานประจำ
หากพิจารณาดูจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาโควิด 19 อาจไม่ใช่โรคระบาดแรกที่โรงเรียนต้องหาทางรับมือ เพราะโดยปกติ ที่ผ่านมาโรงเรียนก็มักต้องเผชิญกับโรคระบาดต่าง ๆ เช่น ตาแดง อีสุกอีใส มือเท้าปาก ไข้หวัดใหญ่เนื่องจากเด็ก ๆ อาจไม่ได้มีการระมัดระวังหรือไม่ได้ถูกสอนให้รู้จักการป้องกันไม่ให้ติดโรคหรือแม้แต่ป้องกันไม่ให้ตัวเองแพร่เชื้อโรคไปสู่คนอื่น เรื่องที่น่ากังวลที่สุดของการปิดโรงเรียนคือการที่เด็กบางส่วนอาจจะหลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งจะก่อให้เกิดผลเสียต่อชีวิตเด็กในระยะยาว ดังนั้นวิธีการที่อาจดำเนินการได้ในบางพื้นที่คือการเปิดโรงเรียนมีความพร้อมหรือโรงเรียนขนาดเล็กให้นักเรียนสามารถเข้าไปเรียนได้ โดยมีมาตรการต่าง ๆ รองรับจึงอาจเป็นวิธีการที่ควรเร่งดำเนินการ
สำหรับการเปิดเรียน ตัวอย่างในกรณีของญี่ปุ่นนั้นที่มีการเสนอทางเลือกให้เปิดโรงเรียนในบางระดับชั้น และยังสามารถพิจารณาเปิดโรงเรียนได้ขึ้นอยู่กับพื้นที่นั้น ๆ เนื่องจากการปิดเรียนทั้งหมดอาจกระทบต่อปฏิทินการรับเข้าศึกษาในระดับต่าง ๆ ของประเทศ หรือในกรณีของโรงเรียนนานาชาติในไทยที่มีจะดำเนินการเปิดเรียนตามรูปแบบและวิธีการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับมาตรการการควบคุมโรคระบาด เนื่องจากโรงเรียนนานาชาติมีจำนวนนักเรียนต่อห้อง 20 – 25 คน มีจำนวนครูและบุคลากรต่อนักเรียนเฉลี่ย 1:10 (อนุบาล 1:7) มีพื้นที่กว้างสามารถรักษาระยะห่างทางสังคมได้ และสำหรับโรงเรียนเอกชนอื่น ๆ ที่สามารถดำเนินการตามมาตรการภาครัฐก็อาจเปิดเรียนได้ เช่นเดียวกันกับวงสัมมนาด้านการศึกษาได้กล่าวถึงช่องทางในการพิจารณาการเปิดโรงเรียนไว้หลายรูปแบบด้วยกัน เช่น การเหลื่อมเวลาเข้าชั้นเรียน การสลับกันมาเรียนของนักเรียนในชั้นต่าง ๆ หรือการเลือกเปิดโรงเรียนขนาดเล็ก
ในส่วนของมาตรการที่อาจทำได้หากมีต้องมีการเปิดโรงเรียนจากการศึกษาของภาคส่วนต่าง ๆ ที่อาจนำไปปรับใช้ได้ คือ
- การเปิดโรงเรียนที่มีความพร้อมก่อน เช่น โรงเรียนขนาดเล็ก หรือโรงเรียนในพื้นที่ที่ไม่พบการติดเชื้อในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา
- การตรวจในแต่ละวัน เช่น การตรวจอุณหภูมิ การตรวจสอบการแพร่ระบาดในบ้านของเด็ก ๆ และพื้นที่บริเวณใกล้โรงเรียน
- การแจ้งผู้ปกครองเมื่อเด็กมีอาการป่วย
- การส่งเสริมมาตรการทางสุขภาพให้แก่เด็ก ๆ เช่น การสอนล้างมือ จัดที่ล้างมือ การให้ความรู้กับเด็กว่าการติดเชื้อนั้นจะเกิดจากการสัมผัส สวมเฟซชิลด์ หรือสวมหน้ากาก เป็นต้น
- การจัดห้องเรียนให้มีระยะห่างระหว่างนักเรียนและมีอากาศหมุนเวียน ทำความสะอาดอุปกรณ์ สถานที่ในโรงเรียนเมื่อมีผู้ใช้งาน และมีการติดป้ายเตือนทั่วโรงเรียน
- งดกิจกรรมการประชุมที่มีการรวมตัวกันของคนหมู่มาก
- ทำแผนการเรียนการสอน อาจแบ่งนักเรียนสลับมาเรียน ที่โรงเรียนแต่ละห้องหรือแต่ละชั้นตามความเหมาะสม และจัดให้มีการเหลื่อมเวลาเข้าเรียน เลิกเรียน
- โรงเรียนต้องมีการควบคุมคุณภาพการประกอบอาหารและการจัดการน้ำดื่มในโรงเรียน
ทั้งนี้มาตรการเหล่านี้เป็นเพียงมาตรการพื้นฐานกว้าง ๆ เท่านั้น ในทางปฏิบัติควรมีการดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ อย่างผสมผสาน สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมของพื้นที่ สถานการณ์ ทรัพยากรของโรงเรียน และความจำเป็นของผู้ปกครองและเด็ก ๆ โดยมุ่งคำนึงถึงความเป็นไปได้ในการให้เด็กไม่หายไปจากระบบการศึกษา โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเปราะบางที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตามแม้ว่าบางโรงเรียนจะสามารถกลับมาเปิดเรียนได้ตามมาตรการทางสุขภาพ แต่ทางโรงเรียนและผู้ปกครองก็ควรระมัดระวังและเตรียมพร้อมปรับตัวต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดที่อาจกลับมาได้เสมอ ทั้งนี้การจะส่งเด็ก ๆ กลับมาเรียนหรือไม่นั้นเป็นความสมัครใจของผู้ปกครองและตัวเด็กเอง ครู โรงเรียนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ชุมชน เอกชน ควรดำเนินบทบาทในฐานะผู้อำนวยความสะดวกและจัดการให้เด็กได้เข้าถึงการศึกษามากที่สุดในรูปแบบที่เหมาะสมในแต่ละกรณี
https://www.tcijthai.com/news/2020/6/current/10498
https://www.cnbc.com/2020/05/04/will-schools-be-open-in-september-experts-weigh-in.html
https://www.matichon.co.th/education/news_2201040