5 โรคฮิตโซเซียลมีเดีย

การติดต่อสื่อสารผ่าน เฟซบุ๊ก ไลน์ วอทแอพ และวีแชต ฯลฯ ผ่านสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และโน้ตบุ๊กได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นและคนทำงาน นอกจากความทันสมัย ฉับไวด้านข้อมูลข่าวสาร ยังมีภัยสำหรับคนคลั่งแชทที่อาจเกิดกับคุณอยู่ตอนนี้ก็ได้ ไปดูว่ามีโรคอะไรกันบ้าง

1) โรคเศร้าจากเฟซบุ๊ก

ว่ากันว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีคนเล่นเฟซบุ๊กมากที่สุดในโลกหรือราว 12 ล้านคน ส่วนทั้งประเทศมีผู้ใช้เฟซบุ๊กทั้งหมด 18 ล้านคน คิดเป็น 27% ของประชากรทั่วประเทศ จัดอยู่ในอันดับที่ 13 ของโลก

การศึกษาของมหาวิทยาลัยมิชิแกน นำโดยศาสตราจารย์ อีธาน ครอสส์ ได้รวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง 82 คน ซึ่งใช้บริการเฟซบุ๊กบนสมาร์ทโฟนเป็นประจำ พบว่าการใช้ เฟซบุ๊ก มากเกินไปอาจกลายเป็นการบั่นทอนความสุขและความพึงพอใจในการดำรงชีวิต เช่น โดดเดี่ยว เศร้า และเหงาหงอยมากขึ้น

ทั้งนี้ ผู้คนส่วนใหญ่ใช้เฟซบุ๊กเป็นเครื่องระบายความรู้สึกมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเกิดความรู้สึกว้าเหว่ สอดคล้องกับงานวิจัยจากเยอรมนี เมื่อต้นปีที่พบว่า 1 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่างที่ใช้เฟซบุ๊ก มีทัศนคติต่อตัวเองในแง่ลบ เนื่องจากเห็นการอัพเดตสถานะของเพื่อน ทั้งในด้านการงานและชีวิตส่วนตัวที่มีแต่ความสำเร็จและความสุข ใครที่กำลังเริ่มหดหู่ เศร้า เริ่มออกห่างจากเฟซบุ๊กด่วน!

2) ละเมอแชท (Sleep-Texting)

ถือเป็นโรคใหม่ที่เกิดจากการใช้สมาร์ทโฟนอีกเช่นกัน และโรคนี้ถือว่าไม่ธรรมดา เพราะสามารถตามไปหลอกหลอนหรือป่วน แม้กระทั่งตอนที่คุณเข้านอนแล้ว เราสามารถเรียกโรคนี้ ให้เข้าใจง่ายๆ ว่า อาการติดแชทแม้ขณะนั้นตัวเองกำลังหลับอยู่

การศึกษาในต่างประเทศพบว่า Sleep-Texting เป็นอาการชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการพิมพ์ข้อความแชทในมือถือของผู้ที่เข้าขั้น “ติด” อาการนี้จะเกิดขึ้นในขณะหลับ และเมื่อได้ยินเสียงข้อความส่งมา ร่างกายและระบบประสาทจะตอบสนองด้วยการหยิบมือถือมาแล้วพิมพ์ข้อความตอบกลับไปในทันที ซึ่งผู้ใช้จะอยู่ในสภาวะ กึ่งหลับกึ่งตื่น เป็นเหตุให้เมื่อตื่นขึ้นมาจะจำอะไรไม่ได้ว่าทำอะไรหรือพิมพ์อะไรไปบ้าง และข้อความนั้นก็เป็นข้อความที่ไม่สามารถจับใจความได้ ปัญหาที่ตามมาก็คือ ร่างกายที่อ่อนแอจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ เกิดโรคอ้วน ภาวะซึมเศร้า และอาจส่งผลกระทบในการเรียนหรือ การทำงานด้วย

ด้วยเหตุนี้ หากจะเล่นไลน์ เฟซบุ๊ก วอทแอพ หรือวีแชต ก็ควรทำแต่พอดี แต่หากคุณติดงอมแงมก็ควรตัดใจปิดมือถือ ปิดเสียง หรือปิดสัญญาณ WiFi และ 3G ไปเลยก่อนนอนเพื่อการพักผ่อนที่เต็มที่

3) โรควุ้นในตาเสื่อม

สำหรับบางคนอาจจะต้องอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ทุกวัน วันละหลายๆ ชั่วโมง และบางคนก็จ้องแท็บเล็ต สมาร์ทโฟนไม่วางตาจากการทำงาน เล่นอินเทอร์เน็ต แชท หรือเล่นเกม อาจทำให้เกิดโรควุ้นในตาเสื่อมได้ ทั้งนี้ จากการสำรวจในประเทศไทยพบว่า มีผู้ที่เป็นโรคนี้แล้วกว่า 14 ล้านคน

โรคนี้เกิดขึ้นจากการใช้สายตาที่มากจนเกินไป โดยปกติแล้วในสมัยก่อนโรคนี้ส่วนมากจะพบในผู้สูงอายุ แต่ในปัจจุปัน มีผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มากขึ้น และไม่จำกัดช่วงอายุวัย อาการสำคัญคือเวลามองจะเห็นภาพเป็นคราบ ดำๆ คล้ายหยากไย่ ซึ่งการตรวจสอบจะมองเห็นได้ชัดเจนในที่ๆ เป็นพื้นที่สีสว่างๆ เช่น ท้องฟ้าขาวๆ ผนังห้องขาวๆซึ่งหากมีอาการเหล่านี้ จะทำให้เกิดอาการปวดตา และมีปัญหาด้านสายตาในที่สุด

ให้พักสายตาโดยการหลับตา แล้วเกือกตาไปมา ซ้าย ขวา บน ล่าง และหลับให้นิ้งประมาณ 5 นาที อย่าลืมออกไปสูดอากาศผ่อนคลาย และมองดูอะไรเขียวๆ ซึ่งได้ผลถึง 70%ทีเดียวค่ะ

4) โนโมโฟเบีย (Nomophobia)

เป็นโรคหวาดกลัวการไม่มีมือถือใช้ติดต่อสื่อสาร รวมถึงความเครียดเมื่อมือถืออยู่ในจุดอับสัญญาณจนติดต่อใครไม่ได้ Nomophobia มาจากคำว่า “no-mobile-phone phobia” ซึ่งจัดเป็นโรคกลัวทางจิตเวช เพราะมีอาการวิตกกังวลหรือกลัวเกินกว่าปกติ

อาการโดยทั่วไปที่สามารถเช็คได้ง่ายๆ ว่าคุณเข้าขั้นเป็นโรคนี้หรือเปล่าก็คือ เกิดอาการเครียด วิตกกังวล ตัวสั่น หายใจไม่สะดวก คลื่นไส้เมื่อไม่มีโทรศัพท์ อยู่ในจุดอับสัญญาณ หรือแบตเตอรี่หมด นอกจากนี้ยังแสดงอาการด้วยการหยิบสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต ขึ้นมาเช็คอยู่ตลอดเวลา ติดการส่งข้อความและการโพสต์ข้อความผ่านสังคมออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ ว่างไม่ได้ สเตตัส เช็กอิน โพสต์รูป ฯลฯ ต้องมีให้เห็น ที่สำคัญไม่เคยปิดมือถือเพราะกลัวพลาดการอัพเดทเรื่องราวต่างๆ

ในปัจจุบัน จากการสำรวจของทั่วโลกพบว่ามีคนเป็นโรคนี้กันมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะผู้หญิงจะเป็นมากกว่าผู้ชาย วัยรุ่น วัยทำงาน จะเป็นมากกว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ในคนไทยประมาณครึ่งหนึ่งของกลุ่มเยาวชนจะติดมือถือ และชอบเล่นไลน์ หรือเฟซบุ๊ก และถ้าหากเป็นมากก็คงต้องปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษา ไม่เช่นนั้นโรคอื่นๆ จะตามมาอีกเพียบ

5) สมาร์ทโฟนเฟซ (Smartphone face)

สมาร์ทโฟนเฟซ หรือโรคใบหน้าสมาร์ทโฟน แต่เป็นโรคที่เกิดจากการก้มลงมองและจ้องไปที่สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตมากจนเกินไป เหตุนี้เองจึงทำให้เกิดการยืดของเส้นใยอิลาสติกบนใบหน้าทำให้แก้มบริเวณกรามเกิดการย้อยลงมา ส่วนกล้ามเนื้อบริเวณมุมปากจะตกไปทางคาง

ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะการนั่งก้มหน้ามองสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดการเกร็งกล้ามเนื้อบริเวณคอและเพิ่มแรงกดบริเวณแก้ม จึงทำให้เกิดอาการดังกล่าวขึ้นมา และจะเห็นชัดเจนเมื่อถ่ายภาพด้วยตัวเอง

แก้อาการติดโซเชียลมีเดีย

แม้ว่าข้อมูลทางสื่ออย่างโซเชียลมีเดียจะดีตรงที่ช่วยให้เราได้อัพเดทข้อมูลข่าวสารของจากทั่วทุกมุมโลกรวมทั้งช่วยให้การติดต่อระหว่างเพื่อนที่ไม่ได้เจอกันนาน ๆได้ติดต่อกันอยู่เสมอแม้ไม่ต้องพบหน้าแต่ถ้าติดมากจนนั่งจ้องหน้าจอตลอดทั้งวันหรือแม้กระทั่งเวลาจะไปไหนก็ต้องหยิบโทรศัพท์มือถือมาคอยเช็กก็คงไม่ไหวเหมือนกัน เพราะมันทำให้คนรอบข้างระอาจากการที่เวลานัดเจอแต่ละทีแทนที่จะได้คุยกันให้หายคิดถึง กลับต้องมานั่งดูคุณเล่นโทรศัพท์ซะงั้นแบบนี้ก่อนที่เพื่อน ๆ จะหายหน้าไปซะหมดก็มาแก้นิสัยติดโซเชียลมีเดียของตัวเองกันดีกว่า

1. ยอมรับว่าตัวเองติดซะก่อน

ถ้ารู้ตัวว่าเป็นคนที่ต้องคอยเข้าเว็บพวกนี้ทุกวัน อย่างน้อยวันละ 6 ชั่วโมง รู้ตัวไว้เถอะว่า..คุณติดโซเชียลมีเดียเข้าซะแล้ว

2. จำกัดเวลาเล่น

จะเล่นวันละกี่ชั่วโมงก็ว่าไป โดยค่อย ๆ ลดลงมาเรื่อย ๆ ตามความเหมาะสมเพียงเท่านี้ก็จะไม่ติดอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์หรือมือถือทั้งวันอย่างเมื่อก่อนแล้วล่ะ

3. หางานอดิเรกใหม่ ๆ ทำ

เพื่อเบนความสนใจของตัวเองเสียหน่อย ก็ควรมองหางานอดิเรกใหม่ ๆ ออกกำลังกาย ทำสวน อ่านหนังสือ อาจช่วยให้คุณเพลินจนลืมท่องโซเชียลมีเดียไปเลยก็ได้

4. อย่าจดจ่อมากนัก

คนบางคนก็ทุ่มเทชีวิตจดจ่อกับโซเชียลมีเดียพวกนี้ซะเหลือเกินชนิดที่ว่าหลังโพสต์รูปอัพเดทสเตตัสไปแล้วก็ต้องนั่งเฝ้าอยู่หน้าจอคอมทั้งวันเพื่อจะได้รู้ว่ามีใครมากดไลค์หรือคอมเม้นท์ให้ตัวเองบ้างแบบนาทีต่อนาทีทั้ง ๆ ที่มันก็ไม่ได้มีผลอะไรกับชีวิตเราสักหน่อยแถมยังทำให้เรายิ่งกลายเป็นคนที่เอาความคิดเห็นของคนรอบข้างมาเป็นใหญ่กว่าความคิดของตัวเองโดยไม่รู้ตัวอีกต่างหาก

อ้างอิงข้อมูลจาก คอลัมน์ ทันโรค: ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2556
และแก้อาการติดโซเชียลมีเดียไม่หายสักที ลองใช้วิธีนี้ดู โดยกระปุกออนไลน์

14 ตุลาคม 2013