ฝึกเล่าเรื่องด้วยภาพ วันชาติชาวเยอ

นักเรียนโรงเรียนเมืองคง ชั้น ป. 5 ฝึกถ่ายภาพเล่าเรื่อง ในกิจกรรมลงพื้นที่เรื่องเรียนรู้วัฒนธรรมชาวเยอ

เมื่อวันที่ 29 มค. เพื่อไปถ่ายภาพ “วันชาติเยอ” ซึ่งตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 หรือวันมาฆบูชา ตรงวันที่ 14 ก.พ. นี้ ภายในงานจะมีการบวงสรวงที่ศาลพญากตะศิลาที่ต.เมืองคง อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ และมีการฟ้อนเยอ รำเยอ เป่าแคน เป่าสะไน สวมใส่เสื้อดำ นุ่งซิ่นเป็นการแต่งกายแบบชาวเยอ

 

นอกจากเด็กๆจะไปถ่ายภาพในงานวันนั้นแล้ว ยังมีการถ่ายภาพของดีเมืองคงด้วยหลังจากที่ได้ภาพถ่ายของน้องๆมาแล้ว จะนำภาพมาจัดเป็นนิทรรศการภาพถ่ายซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในงานมหกรรมใหญ่ ในงาน “เมืองคงยิ้ม” (ส่วนวันเวลาก็ติดตามได้ที่ Facebook ของ ดีจังอีสานตุ้มโฮมhttps://www.facebook.com/toom.home.9

หนังสั้นสะไน

อัลบัมภาพ

 

รู้จักชนเผ่าเยอ

เยอ เป็นชนเผ่าพื้นเมืองกลุ่มหนึ่ง ของจังหวัดศรีสะเกษ จัดอยู่ในกลุ่มของชาวกูย (กวย,ส่วย) มีภาษาพูดภาษาเดียวกัน มีเพียงบ้างคำเท่านั้นที่แตกต่างกัน ประวัติความเป็นมาของชนเผ่าเยอ ในจังหวัดศรีสะเกษ เริ่มต้นที่พญากตะศิลาเป็นหัวหน้านำผู้คนเผ่าเยออพยพมาทางเรือตามลำน้ำมูล จนมาตั้งเมืองคงโคก หรือเมืองคงปัจจุบันนี้ ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำมูล เหตุของการตั้งชื่อเมือง อาจมาจากการที่พื้นที่เหล่านี้มี ป่ามะม่วงมาก่อนแล้วหรือมีการปลูกไม้ผล เช่น ขนุน มะนาว มะพร้าว ฯลฯ ผลไม้ที่ปลูกง่ายและให้ผลเร็ว คือมะม่วง มะม่วง ภาษาเยอว่า เยาะค็อง หรือเยาะก็อง ต้นมะม่วงที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก จึงเรียกเมืองตนเองว่าเมืองเยาะค็อง และเพี้ยนเป็นเมืองคอง และเมืองคงในที่สุด ปัจจุบันมีรูปปั้นพญากตะศิลาที่บึงคงโคก บ้านหลุบโมก ตำบลเมืองคง อำเภอราษีไศล จังหวัดศรัสะเกษ เป็นที่เคารพของชาวเยอและมีการบวงสรวงในวันเพ็ญเดือนสามของทุกปี

 

 

การอพยพของพญากตะศิลา เป็นคำบอกเล่าที่น่าสนใจ เพราะใช่เรือส่วง(เรือยาวที่ใช้พายแข่งขันกัน) 2 ลำ เรือลำที่หนึ่งชือคำผาย เรือลำที่สองชื่อคำม่วน แต่ละลำจุคนได้ประมาณ 40 – 50 คน พายจากลำน้ำโขงเข้าสู่ปากแม่น้ำมูลรอนแรมทวนกระแสน้ำขึ้นมาเรื่อย ๆ ผ่านเมืองไหนก็บอกกล่าวแก่เจ้าเมืองนั้นว่าจะไปตั้งเมืองใหม่อยู่ เจ้าเมืองนั้น ๆ ก็ให้ไปเลือกที่อยู่ที่เห็นเหมาะสมถึงบ้านท่า ตำบลส้มป่อย ก็พาไพร่พลแวะพักแรม รุ่งขึ้นวันใหม่ก็นำพวกออกสำรวจหาพื้นที่ตั้งเมือง มาเห็นเมืองร้างเป็นเนินดินสูงมีคูน้ำล้อมรอบ ที่บึงคงโคกทุกวันนี้ เห็นว่ามีสภาพภูมิประเทศเหมาะสมก็นำไพร่พลตั้งบ้านเรือน ปัจจุบันเมืองคงโคกมีศาลและรูปปั้นของพญากตะศิลาเป็นที่เคารพสักการะบนบาน ของชาวบ้านเป็นประจำ

 

 

ต่อมาเมื่อมีจำนวนพลเมืองเพิ่มมากขึ้นก็ขยายกันมาอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ มูลที่บ้านกลาง บ้านใหญ่ บ้านโนน บ้านหนองหว้า บ้านร่องอโสก และบ้านท่าโพธิ์ รวมเรียกว่าเมืองคง เวลาผ่านไปมีพลเมืองเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จึงอพยพไปตั้งหมู่บ้านใหม่ในที่ต่าง ๆ เช่น ทิศเหนือ ที่บ้านหว้านทิศใต้ข้ามลำน้ำมูล ที่บ้านค้อเยอ บ้านขมิ้น บ้านโนนแกด อำเภอเมืองศรีสะเกษ บางส่วนเลยไปที่บ้านโพนปลัด อำเภอพยุห์ บ้านปราสาท บ้านประอาง อำเภอไพรบึง ทางทิศตะวันตกไปที่บ้านกุง บ้านเชือก บ้านจิก บ้านขาม และบางส่วนเลยทุ่งกุลาร้องไห้ไปที่บ้านอีเม้ง บ้านหัวหมู อำเภอพยุคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม

 

 

โดยสรุปแล้วจะเห็นได้ว่า การตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนของชนเผ่าเยอ ส่วนใหญ่จะนิยมตั้งในเขตใกล้ลำน้ำ หรือลำห้วย เช่น ตั้งริมฝั่งแม่น้ำมูล ได้แก่ บ้านใหญ่ บ้านโนน บ้านเวียงคำ บ้านร่องอโศก บ้านท่าโพธิ์ บ้านกลาง ตั้งอยู่ริมลำน้ำเสียว ได้แก่ ชนเผ่าเยอบ้านกุง บ้านสงยาง บ้านขาม ตั้งบริเวณที่ราบลุ่มห้วยทา ได้แก่ บ้านปราสาทเยอ บ้านโพนปลัด บ้านเขวา ตำบลปราสาทเยอ ตั้งอยู่ที่ราบลุ่มห้วยแฮด ได้แก่ บ้านโดดแกด บ้านขมิ้น อำเภอเมือง บ้านโพธิ์ศรี ตำบลโนนเพ็ก อำเภอพยุห์

 

 

 

ที่อยู่ของคนเผ่าเยอแต่สมัยก่อน
ตั้งแต่ก่อนคนเผ่าเยอกระจัดกระจายอยู่สองฟากฝั่งของแม่น้ำโขง ทางตอนใต้ของประเทศลาว แถบเมืองอัตปือแสน และนครจำปาศักดิ์ ตามข้อมูลทางประวัติศาสตร์ พอจะประมวลได้ว่า คนเยออพยพมายังประเทศไทย มีอยู่ 2 นัยยะ คือ

 

 

  1. ราชอาณาจักรลาว เกิดการแย่งชิงอำนาจความเป็นใหญ่ คือรบราฆ่าฟันกันภายในประเทศ ทำให้คนเยอที่อาศัยประเทศเขาอยู่ ซึ่งอพยพหลบหนีภัยสงคราม และโดยไม่มีหลักฐานการจดบันทึกไว้ แต่มีเอกสารพอที่จะอ้างอิงได้ คือ เอกสารการเริ่มจากการตั้งวัด เมื่อปี พ.ศ. 2266

    สันนิษฐานว่า คนเยอจะอพยพเข้ามายังประเทศไทยพร้อม ๆ กันกับชาวส่วย ตากะจะและเซียงขัน ซึ่งเข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่ที่บ้านปราสาทสี่เหลี่ยม(บ้านดวนใหญ่ เมื่อ พ.ศ. 2265) จากข้อมูลประวัติศาสตร์บ้านดวนใหญ่ อำเภอวังหิน จังหวัดศรีสะเกษ

  2. จากคำบอกเล่าต่อ ๆ กันมา เนื่องจากลาวเกิดทุพภิกขภัยแร้นแค้น อดอยากเกิดโรคระบาด ฝีดาษ และขาดการส่งส่วยประจำปี กลัวจะมีโทษทัณฑ์ จึงชวนกันลงเรือล่องมาตามแม่น้ำโขง โดยมีท้าวกตะศิลาเป็นหัวหน้าล่องเรือมาถึงปากแม่น้ำมูล ท้าวกะตะศิลาพาเยอกลุ่มหนึ่งไปตั้งหลักแหล่งอยู่ที่คงโคก หรือบ้านคง อำเภอราษีไศลในปัจจุบัน เยอพวกหนึ่งมีหัวหน้าพาไปทางบ้านขมิ้น-โนนแกด อีกพวกหนึ่งไปทางบ้านปราสาทเยอ และอีกพวกหนึ่งไปทางบ้านโพนค้อ ผ่านมาทางบ้านเก่า พันทา เจียงอี เลยมาถึงที่โนนและมีต้นค้อขึ้นที่โนน คนจึงเรียกว่าบ้านโนนค้อ หรือบ้านโพนค้อ จนถึงปัจจุบัน

 

ปัจจุบันคนเยอจะอยู่กระจัดกระจายทั่ว ๆ ไปของจังหวัดศรีสะเกษ เช่น อำเภอเมืองที่บ้านโพนค้อ บ้านขมิ้น บ้านโนนแกด อำเภอราษีไศล เช่น บ้านคงโคก บ้านหลุบโมก บ้านใหญ่ อำเภอศิลาลาด เช่น บ้านกุง บ้านขาม อำเภอไพรบึง เช่น บ้านปราสาทเยอ บ้านโพนปลัด บ้านเขวา บ้านจังเอิญ อำเภอพยุห์ เช่น บ้านหนองทุ่ม บ้านสำโรงโคเฒ่า บ้านพรหมสวัสดิ์

 

คนกลุ่มนี้มักเรียกตัวเองว่า “กวยเยอ” เพราะมีคำสร้อยต่อท้ายว่า “เอ” เช่น เจาเยอ มูไฮเจาเยอ จูระวายเจาเยอ เจากัวอึงจะอึงเทรยเจาเยอ จึงชื่อว่า “เยอ”

 

ที่มา : จากหนังสือ อนุสรณ์ งานพระราชทานเพลิงศพ พระครูนันทสังฆกิจ (เลื่อน อนันโท)

 

สภาพปัจจุบัน ความเป็นอยู่
ภาษาเยอ

 

จะยังคงพูดภาษาเยอได้อยู่เหมือนเดิม แม้แต่เด็กประถมศึกษาก็จะพูดภาษาเยอได้ และยังพูดภาษาลาว ภาษาไทยได้ด้วย ถือว่ายังคงอนุรักษ์เป็นอย่างดี เวลาไปโรงเรียนพูดภาษากลางก็จริง แต่เวลามาบ้านก็จะพูดภาษาเยอ ใครไม่พูดจะแปลกแยก ไม่เข้ากลุ่ม

 

ประเพณี วัฒนธรรม

 

  • การเกิด แม้จะไปคลอดที่โรงพยาบาลแล้ว แต่กลับมาบ้านก็ยังคงทำพิธีเหมือนเดิม
  • การแต่งงาน ประเพณีทุกอย่างยังคงทำเหมือนเดิม เว้นชุดแต่งงานที่จะไปเช่าชุดตามร้าน จะมีเลี้ยงโต๊ะจีนเพิ่มในคนที่ร่ำรวยหรือเป็นข้าราชการ
  • งานศพ ปัจจุบันก็ยังทำเหมือนเดิม แต่ไม่เผาที่ป่าไปเผาเมรุแทน และสั่งโลงสำเร็จ สวดยอดมุกก็ยังคงมีเหมือนเดิม
  • ประเพณีตามเดือนต่าง ๆ ก็ยังคงทำเหมือนเดิม เช่น บุญข้าวจี่ก็ยังทำอยู่ ในอดีตจะสุมไฟไปเผาข้าวจี่ที่วัด ปัจจุบันทำข้าวจี่ที่บ้านแล้วจึงทำไปที่วัด ข้าวจี่ที่ทำจะมีขนาดใหญ่ บางทีให่กว่าเดิม มีน้ำอ้อยและทาไข่เหมือนเดิม ส่วนขนมจีนไม่บีบเองแล้วไปจ้างทำ ส่วนบุญข้าวสากก็ยิ่งใหญ่มากเช่นกัน พิธีกรรมบางอย่างแตกต่างจากเยอราษีไศล มีปลาปิ้ง หมากพลู ข้าวต้ม กล้วยเหมือนเดิม ห่อใส่ใบตองไปวัด มีคนมาอ่านสลาก ทำยิ่งใหญ่คนเต็มศาลา มีกล้วยสองหวี ข้าวต้ม อ้อย ใครมีลูกสะใภ้หลายคนก็จะยกมาไหว้ ปู่ย่าคนละกระบุง คนที่ร่ำรวยก็จะยิ่งทำคนละ 2 -3 หาบ ไปถวายวัด จนแทบจะไม่มีทีนั่งในศาลาวัด ยิ่งใหญ่กว่าสมัยโบราณเสียอีก
  • ผีฟ้าผีแถน ก็ยังมีอยู่ และยังจัดยิ่งใหญ่เหมือนเดิม คนที่กลัวบางครั้งก็ไม่กล้าเข้าร่วม เข้าธรรมก็ยังคงมีอยู่ คุ้มเหนือเข้าแถนเยอะมากประมาณ 20 หลังคาเรือน นับถือแถน ส่วนคุ้มกลางมีน้อย คุ้มใต้ก็เยอะประมาณ 15 หลังคาเรือน

 

การติดต่อกับเยอที่อยู่ในอำเภออื่น ๆ ไม่มี
งานศพ งานข้าวสาก คนแก่ยังคงใส่ชุดดำ ใส่เงินก้อนเหมือนเดิม
นิทานพื้นบ้านไม่มี เดาว่าเพราะไม่มีภาษาเขียน
ลักษณะนิสัยคนเยอ นิยมเข้าพวกเดียวกัน ทำอะไรทำตามกัน ไม่นิยมเป็นหนี้ใคร ไม่ชอบมีเรื่องมีราวกับใคร นิยมแต่งงานกับคนเยอเหมือนกัน เพราะเป็นชาวเยอเหมือนกัน

ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.baanjomyut.com/library_2/extension-1/yer/index.html