ยุทธการยกมือขึ้นปฏิบัติการสู่พื้นที่นี้..ดีจัง รุ่น 2

ยกมือขึ้น ปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างภาคีเครือข่าย “ยุทธการ ยกมือขึ้น ครั้งที่ 2 สร้างความรู้ความเข้าใจร่วมกัน ในแนวคิดเชิงปฏิบัติการพื้นที่สร้างสรรค์ ชุมชน 3 ดี

 

 

โครงการรณรงค์พื้นที่สร้างสรรค์เพื่อสุขภาวะเด็กและเยาวชน “พื้นที่นี้…ดีจัง” โดยกลุ่มดินสอสี จัดสัมมนา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างภาคีเครือข่าย “ยุทธการ ยกมือขึ้น ครั้งที่ 2”ระหว่างวันที่ 16 – 18 พ.ค. 57 ณ โรงแรมรอยัลเจมส์ลอดจ์ ศาลายา นครปฐม

การจัดงานครั้งนี้เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจร่วมกัน ในแนวคิดเชิงปฏิบัติการพื้นที่สร้างสรรค์ ชุมชน ดี และสานต่อ ต่อยอด ขยายผล สู่เครือข่ายพื้นที่นี้..ดีจังรุ่น 2โดยกลุ่มเป้าหมายการจัดงานครั้งนี้คือภาคีใหม่ของเครือข่ายพื้นที่นี้…ดีจัง และยุทธศาสตร์หลอมรวมพื้นที่สุขภาวะ เครือข่ายคนทำงานด้านสื่อ เด็ก เยาวชน ครอบครัว ชุมชน ที่มีความสนใจ กว่า 100 คน

นายสมชาย รุ่งศิลป์ รองผู้จัดการฝ่ายวิชาการ สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) กล่าวทักทายและพูดถึงกิจกรรมทั้ง 3 วันในช่วงยุทธการยกมือขึ้นว่า การเรียนรู้ร่วมกันเรื่อง พื้นที่นี้ดีจริง โดยโยงถึงข้อความที่อยู่หน้าเวทีที่เขียนว่า “1ชุมชน 1 พื้นที่สร้างสรรค์” และ “สร้างสุขทุกวัย ทุกพื้นที่”

สสย.ทำงานใน 4 ด้านหลักได้แก่ 1) การพัฒนาคุณภาพสื่อ ช่องทางสื่อและพื้นที่สร้างสรรค์ 2) การพัฒนากระบวนการเท่าทันสื่อ 3) การพัฒนาองค์ความรู้ด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนโดยใช้สื่อเป็นเครื่องมือ และ 4) การผลักดันนโยบาย กฎหมายและการสร้างความร่วมมือ ซึ่งรวมถึงการผลักดันให้เกิด พรบ.กองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

“สถานการณ์ทางสังคมทุกวันนี้ ในระดับต่างๆทั้งระดับประเทศ และในระดับชุมชน เราพบปัญหามากมายทั้งในเรื่องยาเสพติด การมั่วสุมทางเพศของวัยรุ่น การใช้เวลาอย่างไม่ถูกต้อง รวมถึงการเผชิญกับสื่อมอมเมาต่างๆ งานที่เรากำลังทำอยู่คือการสร้างพื้นที่แห่งความสุขให้กับทุกคนในชุมชน ในประเทศเรา สุดท้ายปลายทางเราอยากจะเห็น เด็กและเยาวชนในชุมชนคนทุกคนในชุมชนมีความสุข มีพฤติกรรมที่ดี สุขภาพแข็งแรง ชุมชนเข้มแข็งสิ่งที่เราทำเป็นงานที่สร้างคนในระดับชุมชน และถ้าทุกชุมชนทำพรัอมกันก็จะรวมกันเป็นกระบวนการระดับประเทศชาติ เรากำลังสร้างชาติ

สำหรับ 3 วันนี้ ขอให้ทุกท่านได้เรียนรู้แลกเปลี่ยนกันมากๆ และร่วมกันสร้างเครือข่าย เราอยู่ของเราคนเดียวไม่ได้ การสร้างเครือข่ายคือการทำให้เราอยู่ได้ เปรียบเสมือน แมงมุมที่ต้องสร้างเครือข่ายใยแมงมุมเพื่อดักอาหาร และอยู่รอดได้ เครือข่ายของพวกเราที่นี่จะร่วมกันเรียนรู้พัฒนาต่อไป” รองผู้จัดการฝ่ายวิชาการ สถาบันสื่อเด็กและเยาวชนกล่าว