แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เสริมกำลัง สู่ต้นแบบเมือง 3 ดี

23 ก.ย.สถาบันสื่อเด็กและเยาวชนจัดประชุมภาคีเครือข่ายเมือง 3 ดี เพื่อต่อเติม เสริมพลังในการขับเคลื่อนเมือง 3 ดี สู่พื้นที่ต้นแบบเต็มกำลัง (สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี) ที่ห้องประชุม สสส.ชั้น 34

นางเตือนใจ สิทธิบุรี จากโครงการพัทลุงยิ้ม จังหวัดพัทลุง กล่าวถึงการทำงานที่ผ่านมาว่า ได้ทำงานพื้นที่สร้างสรรค์มา 4 ปีแล้ว โดยดำเนินงาน 3 ระยะ1.ระยะที่ฝังตัวอยู่ในชุมชน 2.ระยะที่ออกมาสู่เมือง 3.จากเมืองขยายสู่อำเภอรอบนอก โดยการจัดงานพัทลุงยิ้ม ปีที่ 1 และปีที่ 2 ทำให้สรุปบทเรียนการทำงานพัทลุงยิ้มว่า ปี 1 รุ่นหนึ่งในชุมชน จัดในชุมชนตนเองได้ และร่วมพัฒนาแนวคิด กลุ่มคนสู่รุ่นที่ 2 และปี 2 กลุ่มคน เครือข่ายรุ่น ที่หนึ่ง ขยับมาเป็นแกนหลักในระดับจังหวัดได้ และรุ่น 2 ที่เข้าใจแนวคิดเรื่องพื้นที่สร้างสรรค์ ขยับมาช่วยในระดับพื้นที่และจังหวัดได้

“เราให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของเยาวชน ชุมชน จะถามเด็กๆว่าต้องการจะทำอะไร ชุมชนต้องการอะไร แล้วก็ร่วมหารือกันว่าจะทำแบบไหนอย่างไร เรื่องที่ออกมาก็จะเป็นเรื่องที่ทุกคนมีส่วนร่วม

การรับอาสาสมัครเป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน ซึ่งรูปแบบการรับอาสาสมัคร ไม่จำเป็นต้องเป็นพิธีการ เน้นการใช้สื่อที่ออกไปแบบเรียบง่ายเน้นการสื่อสารให้เข้าใจ แล้วอาสาสมัครจะมาเอง แนวคิดก็จะค่อยๆขยายๆสู่คนกลุ่มใหม่ไปเรื่อยๆ ไปสู่ชุมชน แม่ค้า ครอบครัว กลุ่มคนถ่ายภาพ มหาวิทยาลัย และเกิดการต่อยอด ขยายแนวคิดจากการทำให้เห็นทั้งรูปแบบการสร้างการเรียนรู้ของเด็ก ทำให้หน่วยงานราชการเห็นวิธีการ กระบวนการ ทำให้เกิดการส่งผ่านแนวคิดและกระบวนการจัดงานไปสู่กลุ่มราชการขยายเครือข่ายต่อได้” นางเตือนใจกล่าว

นอกจากนี้ยังเน้นย้ำเทคนิคที่สำคัญว่าการรักษาน้ำใจของกลุ่มที่เข้าร่วมจัดงานนั้นสำคัญมาก กลุ่มไหนเข้าร่วมงานต้องขอบคุณและรักษาน้ำจิตน้ำใจกัน

ด้าน อ.จำลอง บัวสุวรรณ์ จากโครงการเพชรบุรี…ดีจัง กล่าวถึงแนวคิดในการทำงานที่ผ่านมาว่า ในการทำงานที่เพชรบุรีนั้นมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่า “เราจะเปลี่ยนประเทศไทย จากจุดเล็ก ๆ ด้วยจินตนาการอันยิ่งใหญ่” โดยค่อยๆ โดยใช้ยุทธศาสตร์ “สร้างไข่แดง ขยายไข่ขาว เขย่าจาน” และขับเคลื่อนด้วยแนวคิด SPACES (พื้นที่หรับเด็กและเยาวชน , มีส่วนร่วม, ศิลปะและกิจกรรม, ความเป็นชุมชน, การเรียนรู้ เสริมพลัง ทั้งในระดับของคนทำงาน เครือข่าย เด็กๆ และคนในชุมชนและ, การแบ่งปัน)

นอกจากนี้ยังต้องทำให้ดู ชวนชุมชนทำด้วยกัน ช่วยสนับสนุนให้ทำเองได้ และแต่ละกิจกรรมมีขั้นตอนที่ขึ้นกับจังหวะ ที่สำคัญอีกอย่างก็คือแต่ละกลุ่มต้องมีสื่อเป็นเครื่องมือของตัวเอง เช่นสื่อศิลปะพื้นบ้าน เพลงพื้นบ้าน หัตถกรรม เพื่อจะเป็นสื่อกลางในการร่วมกันเรียนรู้ของคน 3 วัย

“สื่อของเครือข่าย 1.สื่อการแสดงที่มีที่มาจากชุมชน โดยต้องค้นหาความหมาย บทบาท และหน้าที่ จากพ่อครูแม่ครู เรียนรู้ ฝึกหัด ฝึกซ้อม ปรับปรุงการแสดงให้น่าสนใจ และเปิดทำการแสดง 2.สื่องานหัตถกรรมที่มาจากภูมิปัญญาในท้องถิ่น ค้นหาความหมาย บทบาท และหน้าที่ เรียนรู้ ฝึกหัด ฝึกฝนจนชำนาญ ปรับปรุงชิ้นงานให้น่าสนใจ สร้างผลิตภัณฑ์ 3. พิพิธภัณฑ์มีชีวิต ใช้สิ่งที่มีในชุมชน ค้นหาข้อมูล โดยรวบรวมสิ่งของ ทำให้เกิดการใช้งาน สร้างผลผลิต เข้าสู่วิถีชีวิตกิจกรรมท่องเที่ยวชุมชน ร้อยเรียงเส้นทาง 4. ท่องเที่ยวชุมชน ค้นหาพื้นที่ ร้อยเรียงพื้นที่เป็นเส้นทาง สร้างบุคลากรนำชม.ให้ชาวบ้านเล่าเรื่องของตัวเอง หลังจากนั้นก็เปิดเส้นทางให้คนข้างนอกเข้าไปเรียนรู้” อ.จำลอง กล่าว
นอกจากนี้ได้สรุปการทำงาน 5 ปีที่ผ่านมาว่า แต่ละปีนั้นต่อยอดสู่ปีต่อๆ ไป

ปีที่ 1 – เริ่มต้น – พื้นที่นี้…ดีจัง
ปีที่ 2 – ค้นหาสื่อ – ต่อยอดทางวัฒนธรรม เครือข่ายเพชรบุรี…ดีจัง
ปีที่ 3 – เรียนรู้ – 5 สื่อ 5 พลัง สู่ 5 ยิ้ม
ปีที่ 4 – แบ่งปัน – ขยายพื้นที่ ขยายเครือข่าย จากภูเขาถึงทะเล
ปีที่ 5 – แปลงเป็นทุน – เปิดการแสดง สร้างผลิตภัณฑ์

2 โครงการนี้เป็นเพียงบางส่วนของภาคีเครือข่ายเมือง 3 ดี ที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับภาคีเครือข่าย อื่นๆ นอกจากนี้ยังมีการร่วมแลกเปลี่ยนและเสริมกำลังใจซึ่งกันระหว่างเครือข่ายเพื่อขับเคลื่อนสู่ต้นแบบเมือง 3 ดีให้สำเร็จ