ยงยุทธ ยกพื้นที่รองเมือง ต้นแบบโมเดล เมือง 3 ดี

“ยงยุทธ” ยกพื้นที่รองเมือง ต้นแบบโมเดล “เมือง 3 ดี” ดึงเยาวชนหลุดจากปัจจัยเสี่ยงในชุมชน ประกาศสานฝันเด็กไทย ผลักดันสู่นโยบายระดับชาติ “สสส.” ปักหมุดขยายพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อเด็กทั่วประเทศ

 

เมื่อวันที่ 3 เมษายน ณ บริเวณย่านถนนรองเมือง (ข้างกำแพงสถานีรถไฟหัวลำโพง) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายรองเมืองเรืองยิ้ม อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน ไปรษณีย์ไทย จัดงาน “รองเมือง…เรืองยิ้ม” ตอน ปทุมวัน…ปันยิ้ม โดยมี ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายสังคม เป็นประธานเปิดงาน พร้อมรับข้อเรียกร้องจากเด็ก เยาวชน ที่ต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนให้เกิดต้นแบบพื้นที่สร้างสรรค์ เมือง 3 ดี คือ สื่อดี พื้นที่ดี และภูมิดี เพื่อเป็นกลไกให้เยาวชนได้มีพื้นที่เชิงบวก ในการสร้างสรรค์กิจกรรม เรียนรู้ทักษะชีวิตและพัฒนาจิตสำนึกพลเมือง

 

ศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า เด็ก เยาวชนเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่รัฐบาลต้องการสนับสนุนให้มีสุขภาวะที่ดี มีการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพที่เหมาะสม เพื่อให้เติบโตเป็นพลเมืองที่รับผิดชอบต่อสังคม ยุทธศาสตร์เมือง 3 ดี ที่ สสส. และภาคีเครือข่าย ได้ดำเนินการอยู่นับเป็นกระบวนการที่มีประสิทธิภาพ โดยให้เด็กเป็นผู้สร้างสรรค์สื่อและเรียนรู้จากชุมชน ขณะเดียวกันก็ดึงภูมิปัญญาและศักยภาพของชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งนอกจากเด็กได้เรียนรู้การเป็นพลเมืองที่รับผิดชอบแล้ว ยังสร้างความสัมพันธ์ของครอบครัวและชุมชน และเป็นโอกาสให้หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม มาร่วมมือกันในการฟื้นฟูสิ่งดีๆ ในชุมชนให้กลับคืนมา จากการดำเนินงานที่ผ่านมา โดยเฉพาะในพื้นที่รองเมืองแห่งนี้ ก็เป็นที่ประจักษ์ว่ายุทธศาสตร์เมือง 3 ดี ช่วยทำให้ลดปัจจัยเสี่ยงและปัญหาภายในชุมชน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาชุมชนในหลายมิติ ตนเชื่อว่าหากมีการทำงานร่วมกันลักษณะนี้ทุกชุมชน ทุกจังหวัด จะช่วยสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนทางสังคมอย่างดียิ่ง ในนามรัฐบาลพร้อมสนับสนุนให้เกิดความครอบคลุมในระดับท้องถิ่น และขยายไปสู่นโยบายระดับชาติต่อไป

ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า เมือง 3 ดี คือ ยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่หรือชุมชนใน 3 ด้าน ได้แก่ 1. สื่อดี มีสื่อทั้งกระแสหลัก/สื่อท้องถิ่นที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์สำหรับทุกคน 2. พื้นที่ดี ทุกคนในชุมชนมีส่วนร่วมออกแบบและใช้ประโยชน์ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และ 3. ภูมิดี มีทักษะคิดวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณ เป็นภูมิคุ้มกันให้กับตนเอง ครอบครัวและชุมชน ปีที่ผ่านมา สสส.ได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์เมือง 3 ดี ทำให้เกิดพื้นที่สร้างสรรค์ 24 โครงการ รวม 107 พื้นที่ ใน 38 จังหวัด อาทิ จ.เพชรบุรี นครราชสีมา อุตรดิตถ์ เชียงใหม่ มีเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมมากกว่า 5,000 คน ครอบครัวเข้าร่วมกว่า 20,000 คน เกิดแกนนำเด็กเยาวชนที่มีบทบาทเป็นพลเมืองที่กระตือรือร้นในชุมชน และดึงดูดให้ผู้ใหญ่เข้ามามีบทบาทพัฒนาพื้นที่ แก้ปัญหาอบายมุขและลดพื้นที่เสี่ยงสำหรับเด็ก ในบางพื้นที่ที่มีความขัดแย้งทางความคิด ความเชื่อ พลังของเด็กยังช่วยเปิดพื้นที่สร้างสรรค์เชิงบวกลดความขัดแย้งลงอย่างได้ผล นอกจากนั้นยังส่งผลไปถึงการปรับปรุงพื้นที่เสื่อมโทรมให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กและครอบครัว เช่น ชุมชนสะพานปลา จ.สมุทรปราการ พัฒนา จากพื้นที่ทิ้งขยะเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ของชุมชน โดยการดำเนินงานในระยะต่อไปของ สสส. จะร่วมกับภาคีเครือข่ายฯ ทำงานเชิงรุกเชื่อมกับทุกภาคส่วน เพื่อขยายพื้นที่สร้างสรรค์เมือง 3 ดี ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

“สำหรับชุมชนวัดดวงแข และชุมชนโดยรอบพื้นที่รองเมืองแห่งนี้ มีการปรับสภาพแวดล้อมบ้านเรือนและชุมชน ผ่านงานศิลปะและกระบวนการมีส่วนร่วม เริ่มจากแกนนำเด็กที่เข้ามามีส่วนร่วม พัฒนาสื่อที่เหมาะสม ทำให้เกิดความภาคภูมิใจในการทำงานเพื่อชุมชน เกิดเป็นกลุ่มอาสาสมัคร ครบครัวอาสาสมัคร เยาวชนอาสา อาสาสมัครจากธนาคารจิตอาสา อาสาสมัครจากภาคธุรกิจ ประชาสังคม กว่า 700 คน” ทพ.กฤษดา กล่าว

รศ.ดร.โคทม อารียา ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก กล่าวว่า มูลนิธิฯ นำแนวคิดเมือง3ดีวิถีสุข มาทำงานร่วมกับ 4 ชุมชนในย่านนี้ คือ ชุมชนวัดดวงแข ซึ่งเป็นตัวอย่างให้เพื่อนชุมชนข้างเคียงประกอบด้วย ชุมชนจรัสเมือง ตรอกสลักหิน และแฟลตรถไฟ พร้อมกับสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมของทุกชุมชนในเขตปทุมวันรวม 17 ชุมชน การทำงานเน้นกระบวนการสื่อสร้างสรรค์เพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในพื้นที่ถนนรองเมือง ตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2556 มีการดำเนินการ อาทิ เชิญชวนครอบครัวเข้าร่วมกิจกรรม “เมนูเรืองยิ้ม” ให้เด็กได้รับความรู้เรื่องโภชนาการ การรับประทานอาหารเช้า และอาหารที่มีประโยชน์ กิจกรรม “ร้านเรืองยิ้ม” เกิดจากที่เด็กๆ ได้ลงพื้นที่สำรวจร้านอาหารอร่อย สะอาด ราคาเหมาะสม มาคัดเลือกพร้อมมอบใบประกาศและจัดทำเป็นแผ่นพับเผยแพร่ จัดประกวด “บ้านเรืองยิ้ม” ส่งเสริมสุขอนามัยบ้านและชุมชนที่สะอาดและปลอดภัย ซึ่งช่วยสร้างแรงบันดาลใจ และต่อยอดเป็น “ชุมชนเรืองยิ้ม” ที่มีการพัฒนาพื้นที่ในชุมชนให้สะอาด สวยงาม แต่งแต้มสีสันบนกำแพงตลอดทางเดินในชุมชน จากนั้นมีการพัฒนาพื้นที่รอบๆ ชุมชน คือ “กำแพงหัวลำโพงเรืองยิ้ม” ที่มีแต่ขยะ กลิ่นเหม็น น่ากลัวในเวลากลางคืน มาเป็นกำแพงที่สวยงาม สดใส เป็นพื้นที่เรียนรู้ทางด้านวัฒนธรรม วิถีชีวิต ให้กับเด็ก เยาวชน และชาวชุมชนในขณะนี้