วิถีคน วิถีป่า ชุมชนลุ่มน้ำแม่ทา : วัตถุดิบจากป่าถึงครัว

วิถีคนริมป่า

ประชากรลุ่มน้ำแม่ทา ประกอบด้วยพี่น้องชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น ลั้วะ ยอง ยาง โยง มอญ ไทใหญ่ ม้ง และต่างชาติ ซึ่งมีวิถีชีวิต วัฒนธรรม จนถึงอาหารการกินที่ทั้งแตกต่างและผสมผสานกัน จนถึงกลมกลืนไปกับชีวิตเมืองมีทั้งร้านสะดวกซื้อ ร้านชานมไข่มุก ร้านพิซซ่าซึ่งแสดงให้เห็นว่าความเป็นเมืองได้ขยายไปสู่ชุมชน แต่ทว่าอย่างไรก็ตามวิถีหลักของชุมชน อาหารของคนแม่ทา ก็ยังเป็นอาหารที่เชื่อมโยงผู้คนกับธรรมชาติ และเป็นอาหารที่กินตามฤดูกาล ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์และพืชพันธุ์ มีวัตถุดิบที่หาได้จากทุ่งนา ป่า ห้วย ลำธาร ทั้งเนื้อสัตว์ และพืชผักตามธรรมชาติ จนถึงการซื้อหาของป่า ผักตามฤดูกาลจากตลาดในชุมชน 

หลายปีก่อน คุณหญิง-พฤติพร จินา เข้าร่วมโครงการอาสาสมัครเพื่อสังคมสู่ชุมชนบ้านเกิด และกลับมาทำงานพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ทา กระทั่งปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2564) โครงการ Young Food ได้ชวนมาทำโครงการผ่านทางมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ชุมชนลุ่มน้ำแม่ทาและคุณหญิงจึงได้เข้าร่วมโครงการ Young Food ด้วย 

สำหรับพื้นที่ที่เข้าร่วมกิจกรรม คือ ลุ่มน้ำทาตอนกลางถึงตอนล่าง 3 ตำบล (ต.ทาทุ่งหลวง, ต.ทากาศ, ต.ทาขุมเงิน) และ 1 อำเภอ (อ.ป่าซาง ต.บ้านเรือน) = 4 กลุ่ม 4 พื้นที่ มีแกนนำเยาวชน 15 คน เด็กในโครงการทั้งหมด 25 คน สมาชิกทั้งหมด (เด็ก+ผู้ใหญ่) 80 ครอบครัว กระจายอยู่ตามชุมชนต่างๆ ในแต่ละตำบล

คุณหญิงและครอบครัว แม่ตา และน้องๆ เยาวชนชุมชนลุ่มน้ำแม่ทา

ส่วนตัวน้องๆ แกนนำเยาวชนทั้ง 15 คน ก็มีประสบการณ์ทำงานแบบมีส่วนร่วม ทำงานด้วยกันในนาม กลุ่มเยาวชนลุ่มน้ำทา ทำข้อมูลชุมชน และกิจกรรมพัฒนาศักยภาพที่เครือข่ายนิเวศลุ่มน้ำทาจัดขึ้น รวมถึงการทดลองหารายได้ร่วมกัน ด้วยทำการเกษตร ทำเบเกอรีและขายออนไลน์ ผ่าน IG แม่ทา SE 

 

เชื่อมความสัมพันธ์คนต่างวัฒนธรรมด้วยอาหาร

จากความแตกต่างของคนหลายชาติพันธุ์ ทว่าสิ่งที่เหมือนกันก็คือ วัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติ ทำให้ แต่ละชุมชนก็ยังรับประทานอาหารที่ใกล้เคียงกัน มี น้ำพริก เป็นอาหารที่แทบจะพบได้ทุกๆ บ้าน ดังนั้นในการจัดกิจกรรม คุณหญิงจึงพาเด็กและผู้ใหญ่ไปตามชุมชนต่างๆ เพื่อดูน้ำพริกของแต่ละบ้าน 

เรามีการจัดกิจกรรมให้ชิมอาหาร แต่ละชาติพันธุ์ทำน้ำพริกมานำเสนอและแลกเปลี่ยนกันชิม ให้เด็กๆ เป็นคนจัดเก็บข้อมูลว่าทำไมช่วงเวลานี้ จึงเป็นน้ำพริกแบบนี้ คือเด็กเป็นตัวกลางในการเชื่อมและจัดเก็บข้อมูลด้วย และเป็นคนชิมด้วย

น้ำพริกปูนา เป็นอาหารที่มาจากภูมิปัญญาคนเมือง คนยอง พี่น้องกะเหรี่ยงก็กินน้ำพริกปูตามฤดูกาล แต่ว่าพี่น้องมอญจะไม่มี เพราะเขาจะแยกภูมินิเวศ คือ ติดแม่น้ำใหญ่ ส่วนพี่น้องกะเหรี่ยง พี่น้องโยง อยู่ติดเขา ก็จะมีความต่างของภูมินิเวศและอาหารแต่ละชาติพันธุ์อยู่

เมื่อเรามาทำกิจกรรม Young Food เราเพิ่มมิติของอาหารฟิวชั่นขึ้นมา คือถ้าเป็นน้ำพริกที่ต้องอาศัยภูมิปัญญาเก่ากับสร้างสรรค์อะไรให้เด็กกิน จะทำได้อย่างไร ก็มีการชวนเด็กรุ่นเล็กมาชิม เด็กเขาก็มีโจทย์ถามว่าชอบน้ำพริกนี้ตรงไหน ทำไมไม่ชอบน้ำพริกนี้ ถือเป็นการเก็บข้อมูลผู้บริโภคด้วย

วิธีหาปูลำห้วยมีทั้งการขุดรู หรือโพรงปูข้างลำห้วย หรือ พลิกหินหาซึ่งปูจะแอบอยู่ใต้ก้อนหิน

ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 คุณหญิงและชุมชนลุ่มน้ำแม่ทา มีการจัดกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ เช่น ประชุมประจำเดือน ทำกิจกรรมร่วมกัน พาน้องๆ เยาวชนทำกิจกรรมด้วย ทำให้เด็กๆ มีปฏิสัมพันธ์ รู้จักผู้ใหญ่แต่ละชุมชน รู้จักเพื่อนใหม่ๆ พี่ น้อง ต่างวัฒนธรรมชาติพันธุ์มากขึ้น ด้วยวิธีนี้ จึงทำให้เด็กได้เรียนรู้อาหารต่างวัฒนธรรม และแน่นอนว่าได้เรียนรู้และสืบสานภูมิปัญญาคนเฒ่าไปในตัว 

เวลาเรามีประชุมหรือไปทำกิจกรรมในแต่ละพื้นที่ เราจะพาเด็กๆ ไปด้วยทุกครั้ง เด็กๆ จะมีการแบ่งพื้นที่การเรียนรู้กัน เช่น คนนี้เรียนรู้บ้านมอญ คนนี้เรียนรู้เรื่องนั้น เรื่องนี้ แล้วจัดกิจกรรมก็ไปด้วยกัน เวลาที่มีแขกมา เราจะทำกับข้าวกินเองกันเป็นส่วนใหญ่ เป็นการให้เด็กๆ ได้ลองฝีมือในการทำอาหาร 

บางครั้งถ้าเขาได้โจทย์ว่า ลองทำอาหารเหนือ อาหารเมือง ก็ลองให้เด็กทำนะ เด็กทำน้ำพริกเป็นอย่างไร ให้ผู้ใหญ่ช่วยแนะนำ อย่างเราไปบ้านมอญ ผู้ใหญ่ทางบ้านมอญจะทำอาหารให้เรากิน ให้โจทย์เด็กก่อนว่าวันนี้เราจะกินอะไร และผู้ใหญ่จะเล่าให้ฟัง มีการแลกเปลี่ยน จะให้เวลาในการกินข้าวมากกว่าปกติ เพื่อที่เราจะได้รู้ด้วยว่าเราจะกินอะไร และรู้ที่มาที่ไปด้วย

 

สืบสานภูมิปัญญาคนเฒ่า

ก่อนหน้านั้น เราทำงานกับกลุ่มผู้ใหญ่ก่อน ที่ผ่านมาไม่ได้มีการเชื่อมเด็ก และที่ผ่านมาหญิงไม่รู้ว่าผู้ใหญ่ทำเรื่องอะไรกัน เราเลยใช้อาหารเป็นตัวเชื่อมระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ ส่วนที่ 1 คือใช้อาหารเชื่อมเยาวชนกับภูมิปัญญาในท้องถิ่น ให้เขารู้ว่าบ้านเขามีอะไรบ้าง ผู้ใหญ่ทำอะไรบ้าง ส่วนที่ 2 เด็กๆ เขาไปถึงไหนกันแล้ว ผ่านเรื่องราวของอาหาร เป็นการใช้กิจกรรมในการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างรุ่น และสร้างการสื่อสารในครอบครัว

เราใช้น้ำพริกเป็นตัวเชื่อม เราคิดว่าน้ำพริกเป็นอาหารหลักของคนที่นี่ และน้ำพริกเป็นตัวกลางที่อยู่ในขันข้าวของแต่ละบ้าน วันนี้ทำน้ำพริกอะไร และคิดว่าเด็กจะต้องกินผักอะไร คือตัวน้ำพริกเองมีผักเครื่องเคียงและมีเมนูอาหารที่กินคู่ไปอีก และเป็นอาหารที่สร้างการมีส่วนร่วมภายในครอบครัว ปู่ย่าตายาย พ่อแม่ เด็กๆ รับประทานได้ทุกวัย

 

น้ำพริกปู อาหารจากป่า ของขวัญจากธรรมชาติ

น้ำพริกปู คือ Food Menu ที่บ้านแม่ทานำเสนอ ซึ่ง ปู นี้ก็มีทั้งปูนา และปูลำห้วย ที่เรียกว่า ìปูจ่าî เป็นปูน้ำจืดที่อาศัยอยู่ตามลำธาร หรือ ลำห้วย ที่มีน้ำสะอาดไหลผ่าน จึงเป็นวัตถุดิบที่บ่งบอกความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติได้อีกทางหนึ่ง ส่วนสูตรน้ำพริกนั้น ก็ขึ้นอยู่กับสูตรใครสูตรใคร ไม่มีการจดสูตรตายตัว ขึ้นอยู่กับความชอบและรสมือของแม่ครัวแต่ละคน แต่ละบ้าน

เครื่องแกง สมุนไพร ส่วนผสมของน้ำพริกปู

เราทำข้อมูลเยอะพอสมควร ทำให้รู้ว่าในช่วงฤดูฝน เรามีน้ำพริกเยอะมาก เช่น น้ำพริกเห็ดหล่ม น้ำพริกต่อ น้ำพริกฝุ่น น้ำพริกถั่วเน่า น้ำพริกปลาร้า ในแต่ฤดูกาลจะมีน้ำพริกไม่เหมือนกัน อย่างช่วงนี้ (เดือนมกราคม) มีน้ำพริกปลาร้า น้ำพริกถั่วเน่า น้ำพริกหนอก

แต่น้ำพริกที่เรานำเสนอ คือ น้ำพริกปูนา ปูนาเป็นปูที่อยู่ในนาข้าว และฤดูนี้เป็นฤดูที่ปูอร่อยที่สุดของที่นี้ เพราะปูจะเก็บไขมัน มีความมัน แต่เป็นฤดูที่หาปูยาก ต้องขุดรูกัน ถ้าเป็นช่วงเดือน กรกฎาคมถึงต้นตุลาคม ปูจะมีความมันจากกินต้นข้าว ถ้าเป็นช่วงตุลาคมไปจนถึงมีนาคม เป็นช่วงที่ปูมีไขมันจากการสะสมไขมันช่วงอากาศหนาว ลักษณะการทำ การตำ จะตำแบบใส่เครื่องเทศให้มีความเผ็ดร้อน ทั้งไขมันและตัวเครื่องเทศ คนกินจะรู้สึกอบอุ่น เป็นการปรุงอาหารตามฤดูกาลที่สัมพันธ์กับอากาศ

น้องๆ แกนนำเยาวชนลุ่มน้ำแม่ทา

แต่เสียดายว่าช่วงเวลาที่เราลงพื้นที่ หมดฤดูปูนาไปแล้ว กระบวนการเรียนรู้การทำน้ำพริกปูครั้งนี้ จึงเป็นการทำน้ำพริกปูจ่า ที่ต้องเดินป่าไปจับปู และเป็นการเดินป่าและเรียนรู้การจับปูครั้งแรก ของน้องๆ หลายคนเช่นกัน จึงมีทั้งความเหนื่อยล้าและสนุกสนานไปพร้อมๆ กัน

การเดินเท้าของน้องๆ เยาวชน เข้าป่าไปหาปูลำห้วย เริ่มที่หน่วยพิทักษ์ป่าแม่เหล็ก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง ตลอดระยะการเดินกว่า 3 กิโลเมตร ลัดเลาะตามป่า และแนวลำห้วย น้องๆ ช่วยกันสังเกตรูปู และจับปูกันอย่างสนุกสนาน ช่ำชอง เทคนิคคือดูบริเวณรูซึ่งจะมีขุยดินทรายก้อนเล็กๆ ที่ปูขุดไว้รอบรู หรือพลิกหินจับปูกันอย่างง่ายๆ น้องหลายคนบอกว่านี่เป็นประสบการณ์การเข้าป่าหาปูครั้งแรก ทว่าก็ให้ความประทับและเห็นถึงคุณค่าของอาหารมากขึ้น และเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ รักษาทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้นด้วย

เมื่อได้ปูมาแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนการทำน้ำพริกที่ใช้เวลาไม่น้อยเลยทีเดียว เริ่มตั้งแต่ล้างทำความสะอาด แกะปู ตัวปูเอาไปปิ้งให้สุก ขาและกีม (ก้ามปู) นำไปตำแล้วเอาไปต้ม แล้วเอาส่วนผสมทั้งหมดมาตำกับเครื่องสมุนไพรที่เตรียมไว้ จิ้มกินกับข้าวเหนียวนึ่งร้อนๆ และผักแนมนานาชนิด เป็นอาหารสุขภาพและไดเอทชั้นดีจากป่าสู่โต๊ะอาหาร 

เกื้อกูลแบ่งปัน เรียนรู้ซึ่งกันและกัน 

เราเห็นว่าเขาสนุกทั้งผู้ใหญ่และเด็ก เวลาเราให้เขาช่วยกันคิด น้ำพริกนี้คืออะไร หาวัตถุดิบจากไหน เราให้น้องเขารับผิดชอบทำอาหาร 2-3 มื้อ เด็ก เขาจะสนุกมาก บางคนมีทักษะในการหาอาหารสูงมาก พาเพื่อนไปจับปู เก็บเห็ด อันไหนกินได้ กินไม่ได้ เห็นชัดเลยว่าเด็กมีความภูมิใจในตนเองมาก ส่วนน้องที่ทำอาหาร หลังจากที่ทำกับข้าวแล้ว เรามีการถอดบทเรียนว่า เป็นอย่างไรบ้าง เขาจะบอกว่า‘สนุก เขากินน้ำพริกเยอะมากเลย หนูรู้สึกภูมิใจมาก’ เด็กๆ เขาสนุกกับการได้ลองได้ทำ

ทุกครั้งที่เราปล่อยโจทย์ไปให้เขาขบคิด มันท้าทาย และมีคนมาชิมของเขาจริง มันเป็นกระบวนการเรียนรู้ตลอดเส้นทางและเขารู้สึกโต และเป็นผู้ใหญ่กันด้วย แต่ตอนนี้ยังเปอร์เซ็นต์หนักไปที่การทดลองทำสิ่งที่ผู้ใหญ่ทำ สืบเรื่องภูมิปัญญาเก่า

ที่สนุกกันอีกคือ ผู้ใหญ่ ก่อนหน้านี้ หญิงกับผู้ปกครองไม่ค่อยมีเรื่องคุยกันเท่าไหร่ แต่พอลูกหลานเขาได้มาทำอาหาร จะสักเกตเห็นว่าแต่ละคนจะยกหูโทรหาแม่ โทรหายาย น้ำพริกนี้ต้องใส่อะไร ยังไง และผู้ปกครอง เขาพร้อมที่จะถ่ายทอดมากๆ และมีการซักถามต่อว่าสูตรเป็นยังไง เขากินได้ไหม เห็นชัดเจนว่าเกิดการสร้างปฏิสัมพันธ์ในครอบครัว ระหว่างรุ่น เพราะเดี๋ยวนี้วัยรุ่นในชนบทกับในเมืองก็น่าจะคล้ายๆ กัน คือมีบางเรื่องที่คุยไม่ได้ บางเรื่องที่ขี้เกียจคุย มีโลกส่วนตัว แต่พอมีกิจกรรมที่ทำด้วยกันก็เห็นว่าเขาสนุกและกล้าที่จะเข้ามามีส่วนร่วมด้วย

แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะส่งผลกระทบจนกิจกรรมหลายอย่างต้องถูกยกเลิกไป แต่เมื่อเป็นช่วงเวลาที่โรงเรียนปิดเทอม และประชาชนมีความเข้าใจเรื่องการแพร่ระบาดและการป้องกันตนเองมากขึ้น น้องๆ เยาวชนบ้านแม่ทาก็ได้มารวมตัวกันอีกครั้ง ทำข้าวกล่องและเครื่องดื่มสมุนไพร ส่งไปให้กับกลุ่มเสี่ยงสีแดงที่ต้องกักตัว เพราะเขาเหล่านี้ยังไม่ติดเชื้อ จึงไม่มีหน่วยงานไหนรองรับดูแล แต่ก็ไม่สามารถไปทำงาน ขาดรายได้ อาหารที่จะบริโภคก็ไม่ทั่วถึง 

การทำข้าวกล่องนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งการเรียนรู้ แบ่งปัน เกื้อกูล และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของเยาวชนและคนในชุมชนแม่ทา 


ที่มา : หนังสือ YOUNG food : เยาวชนกับอาหาร สร้างสรรค์ชุมชน https://www.childmedia.net/archives/2391