ชุมชนน้อมเกล้า ขนมจีนสานใจชุมชน

ต่างที่ ต่างทาง หลายที่มา

ชุมชนน้อมเกล้า เป็นหนึ่งในชุมชนแออัดในเมือง ตั้งอยู่ในซอยรามคำแหง 39 มีเนื้อที่ 14 ไร่ 2 งาน บนพื้นที่ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ปัจจุบันมีครัวเรือนเกือบ 250 ครอบครัว ประชากรกว่า 1,500 คน จากกว่า 50 จังหวัดทั่วประเทศ ด้วยจำนวนบ้านเรือนและผู้คนที่มากล้นขนาดนี้ ย่อมมีปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย

น้องๆ เยาวชนช่วยกันปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อแบ่งปันให้คนในชุมชนนำไปบริโภค

คุณนวลใย พึ่งจะแย้ม (แม่เอ๋) เป็นหนึ่งในชาวชุมชนน้อมเกล้า เธอรับรู้และเห็นปัญหาของชุมชนมาตลอด และอยากเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน รวมถึงเด็กและเยาวชน เพราะเธอก็มีลูกในวัยรุ่นที่สุ่มเสี่ยงต่อการเดินทางผิดเป็นอย่างยิ่ง

เอ๋ เป็นกรรมการชุมชน มาช่วยเรื่องการทำบัญชีชุมชน เพราะเราทำค้าขาย และพอมีเวลาว่าง ก็มาช่วยทำข้อมูลในกลุ่มออมทรัพย์สร้างบ้าน เราเลยมองเห็นว่าแต่ละครอบครัวมีวิถีชีวิตอย่างไร มีรายได้เท่าไร เราก็คิดถึงลูกหลาน เพราะเรามีลูกในวัยรุ่นเหมือนกัน เรามองจากตัวเองว่า พ่อแม่ไม่มีเวลาให้ลูก เพราะต้องทำมาหากิน เราจะทำอย่างไรดี ก็มีพี่ๆ ที่หารือกันว่าจะช่วยพ่อแม่ได้ไงแบ่งเบาภาระพ่อแม่ได้ไง เป็นพ่อแม่ร่วมกันได้อย่างไร

ชุมชนที่เราอยู่เป็นชุมชนแออัด เป็นสลัม มีปัญหาเรื่องสิ่งเสพติด และอื่นๆ แต่เราไม่อยากให้เยาวชนรุ่นใหม่ต้องไปอยู่ในวังวน จึงมีกลุ่มที่ทำโครงการพัฒนาชุมชนขึ้นมา เราไม่ได้มีงบสนับสนุนอะไรมาเลย แต่เราอยากให้เด็กในชุมชนมีกิจกรรมมากกว่าการวิ่งเล่น หรือมั่วสุมคุย หาอะไรให้เขาทำที่เป็นประโยชน์ ทั้งทำขนม ทำน้ำยาล้างจาน คิดโปรแกรมออกมาว่าปิดเทอมอยากทำอะไร เป็นการเริ่มต้นทำกิจกรรมต่างๆ ขึ้นมา

ผลผลิตจากเด็กๆ ที่ปลูกในวัสดุเหลือทิ้งที่นำมาทำให้เกิดประโยชน์ และใช้พื้นที่ให้คุณค่า

สานใจสร้างชุมชน

เราอยู่ในพื้นที่ของสำนักงานทรัพย์สิน แล้วเขาจะพัฒนาที่ดิน พัฒนาที่อยู่อาศัย และเราก็เป็นผู้เดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัย เขาพยายามจะพัฒนาคุณภาพชีวิตพวกเราด้วยหลัก ‘บวร’ ตัวเราเองอยู่ในชุมชน เราอยากทำให้ชุมชนอยู่แล้ว เดิมชุมชนเราเป็นเหมือนชุมชนเมืองที่ต่างคนต่างอยู่ รีบเร่งทำมาหากิน เพราะพ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่คือคนหาเช้ากินค่ำ พ่อแม่ก็ไม่มีเวลาดูแลเด็กๆ เราก็มองว่า เด็กเขาใช้เวลาว่างไปซุกซน ในช่วงวัยรุ่นก็ไปมั่วสุ่ม ในชุมชนก็มีพื้นที่เสื่อมโทรม พื้นที่ไฟไหม้ มีซากปรักหักพังของบ้านที่โดนไฟไหม้เป็นสูงภูเขา

เราอยากให้ชุมชนมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น พอเราไปทำงานกับเครือข่าย 11 ชุมชน ก็ทำให้งานมีการขยาย ทีนี่เด็กๆ เขารวมตัวกันได้ เราพาเขาไปทำกิจกรรมรวมกับผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุรวมตัวกันได้ก่อน มีกิจกรรมหนึ่ง สอง สาม สี่ไปกวาดลานวัด ตัดต้นไม้ เราเป็นคนพาเด็กๆ ไป แล้วเด็กไปชวนเพื่อนๆ ในชุมชนที่เขาอยู่ไปทำกิจกรรมด้วยกันอีก

 

ทางออก การแก้ปัญหา การส่งเสริมคุณภาพชีวิต

จากความมุ่งมั่น ตั้งใจ ที่จะแก้ปัญหาในชุมชน สานสัมพันธ์ครอบครัว ผู้สูงอายุ เด็กและเยาวชน ลดช่องว่างระหว่างวัย เมื่อมีโอกาสเข้ามาคุณเอ๋และพี่น้องชาวชุมชนน้อมเกล้าจึงเปิดรับโอกาสนั้น

ลานกิจกรรมของชุมชนที่ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่

ชุมชนของเราเคยอยู่ในส่วนของโครงการ ‘คนจนชุมชนเมือง’ ทำบ้านมั่นคง และพี่ที่เป็นผู้ประสานคือ พี่อัง (คุณอังคนา ขาวเผือก) ทำงานในเรื่องของโครงการรักการอ่าน การพัฒนาคุณภาพชีวิต เข้ามาในชุมชนที่เป็นบ้านมั่นคง 7 ชุมชน ก็เหมือนกับได้ทำงานกับแกนนำในแต่ละชุมชน และชุมชนน้อมเกล้ามีแกนนำที่เป็นเยาวชนค่อนข้างเยอะ ก็พาเด็กๆ ไปทำกิจกรรมด้วยกัน และบ้านน้อมเกล้าเราตั้งอยู่บนพื้นที่ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เขาอยากจะเข้ามาพัฒนา มีหน่วยงานของ สสส. เข้ามาดูแล ทำกิจกรรมร่วมกัน เราก็พาเด็กๆ เข้าร่วมกับเขา และบอกความต้องการว่า เราอยากพัฒนาพื้นที่ร่วมกับเยาวชน จะปลูกผัก หรือทำอะไรก็ได้ที่จะเป็นการพัฒนาชุมชนของเราทำกิจกรรมร่วมกัน

ก่อนจะถึงวันนี้ที่เราเห็นลานกว้างที่ชาวชุมชนใช้เป็นที่นันทนาการ ออกกำลังกายยามเย็น เต้นแอโรบิค ไปจนถึงลานกิจกรรมยามมีงานบุญ สถานที่จัดเลี้ยงปีใหม่ ที่จอดรถชาวชุมชน ทั้งยังมีมุมปลูกผักสวนครัว ให้ชาวชุมชนได้เก็บไปบริโภคโดยไม่มีค่าใช้จ่าย พื้นที่ตรงนี้เคยเป็นบ้านที่ถูกไฟไหม้ มีกองขยะสูงท่วมหัว ชาวชุมชนจึงช่วยกันค่อยๆ ปรับพื้นที่ เก็บขยะออกไป ปรับหน้าดิน จนเป็นลานกว้างพอให้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจอย่างที่เราเห็น และมีกิจกรรมทุกๆ สัปดาห์ กระทั่งเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กิจกรรมต่างๆ จึงต้องลดน้อยลง เพราะคนในชุมชน และเยาวชนติดเชื้อเป็นจำนวนมาก

ก่อนที่จะมี Young Food เข้ามา เราก็มองว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่เสื่อมโทรม และมีวัยรุ่นไปซ่องสุ่มกัน และในชุมชนก็เป็นแหล่งยาเสพติด จึงมีการคุยกันในแกนนำชุมชนว่า เราจะทำอย่างไรให้พื้นที่ตรงนี้เปลี่ยนไปได้อย่างไร ไม่ให้เป็นแหล่งมั่วสุ่ม ก็ดำเนินการมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2559 ค่อยๆ ปรับพื้นที่จากภูเขาขยะจนกลายเป็นที่ราบสามารถใช้ปลูกผักทำกิจกรรมร่วมกัน ออกกำลังกาย เล่นฟุตบอล และเป็นที่จอดรถคนในชุมชน

 

ออกแบบกิจกรรมร่วมกัน

เมื่อก่อนวางแผนกันว่า ทุกสัปดาห์จะมี 1 วัน ที่จะมาทำกิจกรรมร่วมกัน เด็กๆ จะออกแบบว่าจะมีกิจกรรมอะไร ทั้งเรื่องดนตรี ลานศิลปะ มาอ่านหนังสือให้น้องฟัง กิจกรรมเพ้นท์กระถาง พอโควิดเข้ามา เราก็ทำข้าวไข่เจียวสมุนไพรแจกน้องๆ ที่มาร่วมงาน

เราให้เด็กๆ ออกแบบ แล้วเราที่เป็นแม่ๆ แกนนำ ก็จะดูว่าจะทำได้ไหม สนับสนุนซัพพอร์ต แต่พอโควิดเข้ามาก็ดำเนินการได้ไม่สะดวก ผู้ปกครองก็ไม่อยากให้ลูกหลานออกมารวมตัวกัน และมันก็เสี่ยง การทำกิจกรรมเลยเนื่องๆ ไป ไม่ค่อยไม่ได้มาเจอกันบ่อยเหมือนก่อนหน้านั้น

ตั้งแต่โควิดมาที่ไม่ใช่โอมิครอน เดือนหนึ่งมีทำกิจกรรมประมาณ 2 ครั้ง ทำเพาะกล้า ทำข้าวไข่เจียวไปแจก ไปขายบ้าง แต่พอเป็นโอมิครอน ตั้งแต่หลังจากวันเด็ก (พ.ศ. 2565) ก็ไม่มีกิจกรรมเลย เพราะมีโอมิครอนระบาดในพื้นที่ แต่ก็ยังมีคุยกันอยู่ในช่องทาง Chat เยาวชนว่า เขาอยากทำอะไร ไม่ให้เงียบหาย เด็กๆ ก็จะสะดวกมาทำกิจกรรมกับเราช่วงที่ปิดเทอม เขาจะมีเวลาเต็มที่ที่จะมาทำกิจกรรมกับเรา แต่ถ้าเปิดเทอมเวลาที่จะมาทำต่อเนื่องก็น้อยลง

 

อาหารเชื่อมใจ

“ขนมจีน” เป็นหนึ่งในเมนูที่พบเห็นได้ทุกภาคของประเทศไทย ด้วยลักษณะที่รับประทานง่าย และประยุกต์กินกับน้ำพริก น้ำยา แกงสารพัดได้ตามความชอบ ทั้งยังมีเครื่องเคียงอีกหลากหลาย เมื่อมีโครงการ Young Food เข้ามายังชุมชนน้อมเกล้า เมนู “ขนมจีน น้ำยาสี่ภาค” จึงถูกชูขึ้นมาเป็น Food Menu ของชุมชนน้อมเกล้า เนื่องจากสะท้อนอัตลักษณ์ของชาวชุมชนที่มาจากหลากหลายจังหวัด ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ทั้งยังเป็นอาหารที่ชาวชุมชนมักใช้จัดเลี้ยง และยังเป็นที่นิยมของทั้งเด็กและผู้ใหญ่ในชุมชน อีกทั้งยังมีแม่ๆ ชาวชุมชนที่มีประสบการณ์ทำเส้นขนมจีน และทำน้ำยาต่างๆ ได้อร่อยเด็ดดวง นอกจากนี้ น้ำยาขนมจีน ยังสามารถสะท้อนวัฒนธรรมท้องถิ่น อาทิ น้ำเงี้ยว ที่มีส่วนผสมของเครื่องพริกแกงและถั่วเน่า และดอกงิ้ว ซึ่งเป็นอาหารของชาวไทใหญ่ หรือน้ำยาแกงป่า ที่ใส่ปลาร้าเป็นส่วนผสมส่วนผักเคียงก็มีทั้งผักสวนครัวที่ปลูกเอง และพืชผัก
สมุนไพร จึงเป็นอาหารปลอดภัยและบำรุงร่างกายผู้บริโภคที่ครบถ้วนทั้งคุณค่าโภชนาการและความเป็นมา

พอมีกิจกรรม Young Food พี่อังเห็นว่าชุมชนน้อมเกล้าเรามีเด็กๆ ร่วมกิจกรรมหลายๆ กิจกรรมอยู่แล้ว พี่อังเลยชวนเราเข้าร่วมโครงการ มีเด็กๆ เยาวชน ที่เป็นแกนนำหลักมี 6-7 คน ส่วนเด็กร่วมกิจกรรม (ที่มาบ้างไม่มาบ้าง) มี 10 กว่าคน รวมทั้งหมดประมาณ 20 คน น้องๆ ต่ำกว่าม.1 ลงไป ก็จะมาบ้างไม่มาบ้าง

จากที่เราปลูกฝัง และมองว่า การจะทำเรื่องอาหารปลอดภัยควรเริ่มจากครอบครัว จากความรู้ความเข้าใจก่อนว่า ทำไมเราต้องกินอาหารปลอดภัย ทำไมเราถึงไม่ไปซื้อตลาดเกิดจากอะไร มีสารเคมี เราให้ความรู้กับเด็กในชุมชน และคนในชุมชน สอดแทรกนิทานเข้าไปในส่วนของครอบครัว ให้รู้เหมือนกันว่าทำไมต้องมาปลูกผักกินในครอบครัวทำให้เด็กๆ และผู้ปกครองมีความเข้าใจในระดับหนึ่ง

ผู้ใหญ่เขาก็เลยสนับสนุน เพราะก่อนหน้านี้ที่เราปลูกแปลงรวม เวลามีผลผลิต เราจะให้เขาเอาไปแจกผู้ใหญ่ในชุมชน ผู้สูงอายุในชุมชนของเขา หรือถ้ามีดิน มีเมล็ดพันธุ์ก็ให้เด็กเอาไปให้ เอาไปแจก แบ่งปัน เลยได้รับการสนับสนุนจากลุงๆ ป้าๆ ในชุมชน ในเวลาที่เราสนับสนุนเด็กๆ เวลาที่เด็กออกแบบกิจกรรม เขาก็จะเห็นดีด้วย พาลูกหลานมาร่วมและชื่นชม ทำให้เด็กมีกำลังใจ และพวกผู้เฒ่าในชุมชน เขาเป็นแม่ค้าอยู่แล้ว ก็ยินดีมาถ่ายทอดให้กับคนในชุมชน

เมนูที่เลือกมา มี 2 เมนู เมนูแรก ขนมจีนน้ำยา 4 ภาค เพราะว่า ในชุมชนมีคนที่มาจากหลากหลายภาค 50 กว่าจังหวัดมารวมอยู่ในชุมชนเรา ก็เลยมีความหลากหลายเรื่องวัฒนธรรม เวลามีงานชุมชนงานบุญ งานบวขต่างๆ ก็จะมีขนมจีนน้ำยา 4 ภาค มารวมกันตลอด และเห็นขนมจีนน้ำยาในทุกๆ งาน เลยเหมือนกับเราเองก็ซึมซับ และเมนูนี้ก็มีผักเคียงหลายอย่าง เลยคิดว่าเมนูนี้มาชูอัตลักษณ์ของชุมชนน้อมเกล้า

มีการถกกันในวงว่า ขนมจีน ถ้าอยากกิน ไปซื้อเส้นก็ได้กินเลย แต่เด็กเขาก็อยากรู้ว่ากว่าที่จะเป็นเส้นขนมจีนมีกระบวนการทำอย่างไรบ้าง ขั้นตอนแรกจึงเป็นการเรียนรู้เรื่องการทำเส้นขนมจีน มีผู้เฒ่าที่มีภูมิรู้อยู่ 4-5 คน มาช่วยกันถ่ายทอดบรรยายให้เยาวชน และลงมือทำเส้นตั้งแต่โม่ข้าว หมักแป้ง นึ่งแป้ง จนถึงบีบเส้น ใช้เวลาประมาณ 7 วัน กว่าจะได้เส้นขนมจีน

พอทำเส้นขนมจีนได้ก็หัดทำน้ำยา ที่วางไว้ คือ ภาคอีสาน น้ำยาป่า, ภาคเหนือ น้ำเงี้ยว, ภาคกลาง น้ำยากะทิ และภาคใต้ แกงไตปลา อีกเมนูหนึ่งที่เด็กคิดร่วมกันก็คือ ‘หมูกระทะ’ เพราะเด็กๆ มองว่าเป็นเมนูที่ได้ใช้เวลาร่วมกัน ได้กินร่วมกัน ได้พูดคุยกันระหว่างการทำ การกิน เด็กๆ จะเอาผักที่ปลูกมากินด้วย

เด็กๆ มีการตอบรับที่ดี มีความสนใจ และสนุกกับกิจกรรมในแต่ละกิจกรรมที่เราออกแบบร่วมกัน มีแม่ๆ มาสอนให้ความรู้ และเขาก็เสนอความคิดว่าอยากทำนู้นนี่ และเด็กๆ ก็เสนอว่าอยากทำกิจกรรมในแต่ละอาทิตย์ เหมือนเขาออกแบบกิจกรรมของเขาเอง ใช้ลานกิจกรรมที่เปิดเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ว่าทำกิจกรรมอะไรได้บ้าง เช่น ปลูกผักกับน้องระบายสีกระถางสร้างรายได้ เพาะกล้าต้นไม้ เพื่อสร้างรายได้เพื่อช่วยเหลือครอบครัวอะไรแบบนั้น เพราะพ่อแม่ต้องออกไปทำมาหากิน และในเบื้องลึกเด็กๆ เขาก็อยากสร้างงานขึ้นมาเพื่อหารายได้ เพื่อจะช่วยครอบครัวอีกทางหนึ่ง

 

ความเปลี่ยนแปลงและเสียงตอบรับ

จากการทำกิจกรรมต่างๆ มาสักระยะหนึ่ง คุณเอ๋ได้เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงและเสียงตอบรับของทั้งเด็กและผู้ใหญ่ว่าเป็นไปด้วยดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตระหนักถึงอาหารที่บริโภคและอาหารปลอดภัย รวมถึงยังมีการทำงานเป็นระบบ มีขั้นตอน และมีการวางแผนการทำงาน รวมถึงยังมีความสามัคคี และมีความเข้าใจผู้ใหญ่ ผู้สูงวัยมากขึ้น ขณะที่ผู้ใหญ่ก็มีความเข้าใจเด็กๆ และเป็นที่พึ่งพาทางอารมณ์ความรู้สึกเด็กได้เป็นอย่างดี

เด็กๆ มีความตระหนักเรื่องอาหารปลอดภัย สนใจที่มาของอาหารที่นำมาบริโภค รู้ว่าการปลูกผักกินเองนั้นปลอดภัยจากสารเคมี เด็กๆ รู้จักการวางแผนในการทำงาน ทำงานเป็นขั้นเป็นตอน และมีความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกันในผักต่างๆ ที่ปลูก มีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ชุมชน จากสังคมต่างคนต่างอยู่ Young Food เชื่อมความสัมพันธ์ของคนระหว่างวัย การช่วยกันทำงาน นวดแป้ง บีบเส้น ทุกคนมีความสนใจสนุกสนานในการทำงานร่วมกัน เด็กๆ เขามีพลังเยอะ เราได้เห็นความสุข ความสนใจอยากรู้ของเขา

ในด้านความสัมพันธ์ ระหว่างเอ๋ ป้าๆ ลุงๆ ที่ทำกิจกรรมร่วมกัน เด็กๆ เขามีความไว้วางใจ เวลามีเรื่องไม่สบายใจในครอบครัว เขาก็กล้าที่จะมาปรึกษา เวลาที่เด็กโตมาแล้วไม่สามารถจะคุยกับคนในครอบครัวเขาได้ก็เพราะบางครั้งพ่อแม่เวลาหารายได้ ไม่พอกับค่าใช้จ่าย ก็จะบ่น ดุด่า ว่า เด็กก็จะโดนไปด้วย เด็กๆ ก็จะอยากออกจากบ้าน

เวลาเขามาร่วมตัวอยู่ที่บ้านเอ๋ หรือที่ศูนย์เรียนรู้ เราก็จะถามว่าใครมีอะไรไม่สบายใจไหม อยากปรึกษาอะไรไหม เด็กอาจจะไม่พูดกับเราโดยตรง แต่เพื่อนเขาก็จะบอกเล่าให้เราฟัง เราจะรู้แล้วว่าเด็กคนนี้มีปัญหา เราจะไปพูด ช่วยหาทางออกให้เด็กกับผู้ใหญ่ แกนนำด้วยกัน มันเป็นความผูกพัน เขาเหมือนเป็นลูกเราทุกคน เราพาเด็กทำจนติด บางคนตั้งแต่เด็กอยู่ชั้นประถม จนวันนี้เขาอยู่มัธยมก็ยังไม่ทิ้งเราไปไหน เขาจะเกาะติดเรา มาชวนเราทำกิจกรรม หรือมาช่วยเราทำกิจกรรมต่างๆ

เรามองว่าเด็ก ถ้าผู้ใหญ่ชวนทำอะไร เขามีแรง มีพลังเยอะ ถ้าเขาทำแล้วเขาสนุก เขาก็จะมาอีก เราก็ใช้วิธีนี้แหละดึงเขามา ในช่วงปิดเทอมเราจะทำกิจกรรมตลอด เขาก็จะมาทำกิจกรรมกับเรา และมาถามเราตลอด ด้วยความที่เป็นชุมชนแออัด จึงมีปัญหาเรื่องยาเสพติด ทุกวันนี้ก็ยังมีอยู่ แต่ว่า อย่างน้อยๆ เราชวนเด็กมาทำกิจกรรมก็ถือว่าเป็นวัคซีน เป็นภูมิคุ้มกันให้กับเขาอีกเข็มหนึ่ง

อาจกล่าวได้ว่าแกนนำเยาวชน และผู้ใหญ่ในชุมชนน้อมเกล้า เป็นกลุ่มหนึ่งที่มีความเข้มแข็งในการทำงาน และความสัมพันธ์ของคนระหว่างวัยเป็นอย่างดี เหมือนสิ่งที่ขาดได้เติมเต็ม ทำให้เด็กและเยาวชนมีภูมิคุ้มกันตนเองจากสิ่งที่รุมล้อมอยู่รอบด้าน โดยมีอาหารและองค์ความรู้เป็นสิ่งสานใจชาวชุมชนไว้ด้วยกัน


ที่มา : หนังสือ YOUNG food : เยาวชนกับอาหาร สร้างสรรค์ชุมชน https://www.childmedia.net/archives/2391