ทำรายการเด็ก ไม่ใช่เรื่องเล็ก…แต่รู้จักเด็กก็ทำได้

การแถลงผลการสำรวจเนื้อหารายการโทรทัศน์ช่องเด็ก เยาวชน และครอบครัวบนทีวีดิจิทัล ของ3สถานี ได้แก่ 1. ช่อง3 Family 2. MCOT Family และ 3.LOCA ของ เครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว โดยการสนับสนุนของสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน(สสย.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เมื่อวันที่ 10 มีนาคม ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ กรุงเทพฯ

ผังรายการช่องเด็กมีแต่เรต”ท”แนะยกระดับการเรียนรู้

นางอัญญาอร พานิชพึ่งรัถ ประธานเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ กล่าวว่า เป็นการสำรวจตามอัธยาศัยและบันทึกข้อมูลที่พบเห็นลงในเครื่องมือระหว่าง เดือนตุลาคม -พฤศจิกายน 2557 พบว่า ช่อง 3 Family จำนวน 66 รายการ มีรายการที่จัดเรตก่อนออกอากาศ 57 รายการ และไม่จัดเรต 9 รายการ ,MCOT Family 62 รายการ จัดเรต 58 รายการ ไม่จัดเรต 4 รายการ และ LOCA 47 รายการ จัดเรต 22รายการ ไม่จัดเรต 25รายการ โดย ช่อง3 Family และ MCOT Family มีการจัดเรต “ท” มากที่สุด ส่วน LOCA พบว่ารายการไม่จัดเรตมากที่สุด และเป็นช่องที่จัดเรตเนื้อหารายการไม่ตรงกับเกณฑ์มากที่สุด

นอกจากนั้นเมื่อวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายและเนื้อหารายการตามทฤษฏี+6-3 โดยพิจารณาประเด็นการส่งเสริม หรือบวก6ด้าน คือ ด้านระบบคิด ด้านวิชาการ คุณธรรมจริยธรรม ทักษะการใช้ชีวิต การยอมรับความแตกต่างและหลากหลาย และด้านสัมพันธภาพในครอบครัว ส่วนลบ 3 ด้านไม่เหมาะสมในเรื่องพฤติกรรม ได้แก่ ความรุนแรง เพศ และภาษา พบว่า ช่อง3 Family และ MCOT Family จะมุ่งเน้นการส่งเสริมด้านทักษะการใช้ชีวิตมากที่สุด รองลงมาส่งเสริมด้านวิชาการ และระบบความคิด คุณธรรมจริยธรรม การยอมรับความแตกต่างและหลากหลาย และส่งเสริมความสัมพันธภาพ ตามลำดับ ขณะที่ LOCA มุ่งส่งเสริมด้านคุณธรรมจริยธรรม รองลงมาเรื่องระบบคิด วิชาการ การยอมรับความแตกต่างและหลากหลาย ทักษะการใช้ชีวิต และสัมพันธภาพในครอบครัว ตามลำดับ

สถานีโทรทัศน์ ทั้ง3ช่อง มีรายการสำหรับกลุ่มผู้ชมอายุ3-5ปี(ป3+)น้อยมาก หรือแทบจะไม่มี มีเพียงของช่อง3 Family 1รายการ ส่วนรายการสำหรับกลุ่มผู้ชมอายุ 6-12 ปี(ด6+) ช่อง3 Family มี9รายการ MCOT Familyมี14รายการ และLOCAมี 14รายการ อย่างไรก็ตาม ในการสำรวจดังกล่าว ทางเครือข่ายจะนำเสนอผลไปยังกสทช. และจะมีการดำเนินการสำรวจอีก3ครั้งเพื่อให้ได้สัดส่วนรายการโทรทัศน์ช่อง เด็กฯที่เหมาะสม

พื้นที่สื่อสำหรับเด็กมีน้อย…เท่าเดิม

น.ส.เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน กล่าวว่ารายการเด็ก พื้นที่สื่อสำหรับเด็กนั้น ได้มีการผลักดันเรื่องนี้มานาน แต่สุดท้ายก็มีเพียงไม่กี่ช่อง หรือแถบจะไม่มีเลย เพราะด้วยกลไกทางธุรกิจ ขณะเดียวกันการทำรายการเด็กให้เหมาะสมกับเด็กจริงๆ ยิ่งเด็กเล็กก็ยิ่งทำรายการยาก เรื่องรายการเด็ก พื้นที่สื่อสำหรับเด็กแม้จะมีการพูดถึงกันบ่อย พยายามให้มีให้มากแต่ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทย เพราะสังคมไทยไม่มีบทเรียน ไม่มีอุดมการณ์ในการส่งเสริมการจัดรายการเด็ก

“การจัดทำรายการเด็กไม่ใช่เรื่องง่ายของสถานี แต่ก็ใช่ว่าสถานีต่างๆจะไม่สามารถจัดรายการเด็กได้ เพียงแต่ต้องปรับเปลี่ยนรสนิยมในการช่องโทรทัศน์ของเด็ก ลดการเสพติดรายการโทรทัศน์ของผู้ใหญ่ เพราะเมื่อก่อน ไม่มีรายการเด็กให้ดู เด็กจึงดูแต่รายการผู้ใหญ่ ทำให้รสนิยมในการดูรายการของเด็กจึงเป็นรสนิยมแบบผู้ใหญ่ ดังนั้น การจะจัดรายการเด็กต้องเปลี่ยนรสนิยมของเด็ก ควบคู่ยกระดับการเรียนรู้ของเด็ก รวมถึงต้องมีการดึงนักวิชาการ ผู้มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องเด็ก มาช่วยในการจัดรายการ พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ที่มีเทคนิคในการเลี้ยงดู ดูแลเด็กเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดเนื้อหาของรายการ เป็นรูปแบบการแลกเปลี่ยน เรียนรู้และบูรณาการโดยที่ทุกรายการยังคงยึดความสนุกสนาน เพื่อให้เข้าถึงเด็ก เกิดการเรียนรู้ พัฒนาอย่างแท้จริง อีกทั้งรายการเด็กต้องเป็นเสมือนคู่มือในการเลี้ยงลูกให้แก่พ่อแม่อีกด้วย” น.ส.เข็มพร กล่าว

ทำรายการเด็ก คุณรู้จักเด็กๆ ดีแค่ไหน?

เด็กๆ มีพัฒนาการทางธรรมชาติแตกต่างกันไปตามช่วงอายุ ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ และสังคม ซึ่งผู้ทำรายการจำเป็นต้องเข้าใจลักษณะเฉพาะของพัฒนาการเด็กในวัยที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้สามารถสร้างสรรค์เนื้อหาและรูปแบบของรายการให้สอดคล้องเหมาะสม และตอบสนองได้ตรงจุดกับความต้องการที่ต่างกันของเด็กแต่ละช่วงวัย

เด็กเล็ก 0 – 3 ปี

ร่างกาย: เรียนรู้สิ่งรอบตัวด้วยการเคลื่อนไหวให้ร่างกายสัมผัสกับสิ่งต่างๆ
สติปัญญา: เรียนรู้จากผู้เลี้ยงดู และกระทำการเรียนรู้ซ้ำๆ จนเกิดการบันทึกจดจำ
อารมณ์จิตใจ: แสดงออกตามที่รู้สึก ต้องการความรักความเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด
สังคม: ผู้เลี้ยงดูเปรียบเหมือนโลกทั้งใบของเด็ก
ระวัง!: โทรทัศน์ไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีเลยสำหรับการเลี้ยงดูเด็กเล็ก เพราะแสงวูบวาบและภาพเคลื่อนไหวในจออาจรบกวนการมองเห็น และยังดึงความสนใจ ทำให้เด็กวัยนี้ขาดโอกาสในการเรียนรู้แบบโต้ตอบ และขาดการเคลื่อนไหวของร่างกาย
สิ่งที่หนู Like: สื่อที่เหมาะกับวัยนี้คือนิทาน อ่านนิทานให้เด็กๆฟัง

เด็กก่อนวัยเรียน 3 – 5 ปี

ร่างกาย: เป็นวัยฝึกฝนการใช้ร่างกายให้คล่องเพื่อช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวัน
สติปัญญา: เริ่มมีพัฒนาการทางด้านภาษา และเรียนรู้จากการเล่นสมมติ แต่ระบบคิดยังไม่สามารถแยกความจริงออกจากจินตนาการได้
อารมณ์และจิตใจ: รับรู้อารมณ์คนรอบข้างได้ เอาตนเองเป็นศูนย์กลาง เล่นคนเดียวได้โดยไม่ต้องมีเพื่อน สังคม: ชอบทดลอง และเลียนแบบพฤติกรรมที่เห็น โดยไม่อาจแยกแยะอันตรายที่จะเกิดตามมา
ระวัง! : เด็กวัยนี้จะรับรู้ข้อมูลจากสื่อโดยซึมซับว่าเป็นความจริง การรับชมภาพที่น่ากลัวอาจทำให้เด็กตื่นตระหนกและคิดว่าสิ่งแวดล้อมน่ากลัว ไม่ควรให้เด็กวัยนี้ดูโทรทัศน์มากกว่าวันละ 1 ชั่วโมง การชมโทรทัศน์มากไปทำให้เด็กขาดการใช้จินตนาการ ทั้งยังรบกวนการพัฒนาสมาธิและการใช้ภาษาของเด็กด้วย
สิ่งนี้ที่หนู Like!: อยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบตัว ชอบเล่นสมมติ และชอบเรื่องราวแนวจินตนาการเหนือจริง (Fantasy) อย่างเทพนิยาย

แนวทางของรายการสำหรับเด็กก่อนวัยเรียน

เนื้อหาง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ไม่ยาวเกินไปนัก เน้นการเรียนรู้ด้านภาษาและเปิดช่องสำหรับการเติบโตจินตนาการ อาจใช้ทั้งนิทาน / หุ่น / การ์ตูน / เพื่อสร้างเสริมให้กล้าแสดงออก

เด็กวัยเรียน 6 – 12 ปี

ร่างกาย: เริ่มใช้ทักษะทางร่างกายหลายด้านประสานกัน พัฒนาได้ด้วยการเล่นกีฬา
สติปัญญา: เป็นช่วงที่ระบบความคิดกำลังพัฒนาความเป็นเหตุเป็นผลและการแยกแยะความหมาย เป็นวัยที่สนใจหาความรู้ด้วยการอ่านหนังสือ
อารมณ์และจิตใจ: อยากรู้อยากเห็น และยังมีการเลียนแบบสูง โดยอาจไม่เข้าใจความหมายของพฤติกรรมที่ตนเองเลียนแบบ
สังคม: มีประสบการณ์ทางสังคมมากขึ้น สามารถแบ่งเวลาสำหรับการเล่นและเรียนรู้ เริ่มเรียนรู้การมีวินัยและความรับผิดชอบ
ระวัง! : เด็กวัยเรียนมีแนวโน้มสูงที่จะคล้อยตามและลอกเลียนแบบพฤติกรรมที่ตนเองเห็นในสื่อ เพราะคิดว่าเป็นค่านิยมที่ได้รับการยอมรับในสังคม
สิ่งนี้ที่หนู Like! : เริ่มสนใจสังคมรอบตัวที่กว้างกว่าพ่อแม่ และเริ่มสนใจโลกที่เป็นจริงมากขึ้น ความชอบอาจแตกต่างกันตามเพศ ของโปรดของเด็กชายอาจเป็นเรื่องผจญภัย ลึกลับ การประดิษฐ์ทดลองวิทยาศาสตร์ และเครื่องยนต์ สำหรับเด็กหญิงอาจเป็นชีวิตในบ้าน เรื่องรักๆใคร่ๆ และงานประดิษฐ์

แนวทางของรายการสำหรับเด็กวัยเรียน

เนื้อหาซับซ้อนขึ้น ใกล้เคียงกับชีวิตจริงหรือสังคมจริงๆ มากขึ้น และมีกลวิธีในการนำเสนอที่ดึงดูดความสนใจ และได้ลงมือทดลองและปฏิบัติด้วยตัวเอง หรือทำไปพร้อมๆกับรายการ โดยใช้ได้ทั้ง นิทาน / หุ่น / การ์ตูน / การแสดงออก / ละคร

เด็กวัยรุ่น 13 – 18 ปี

ร่างกายและอารมณ์: ร่างกายเปลี่ยนแปลงรวดเร็วจากการหลั่งฮอร์โมนในการเจริญเติบโตและฮอร์โมนเพศ ส่งผลให้อารมณ์ปั่นป่วนเปลี่ยนแปลงง่าย
สติปัญญา: มีการพัฒนาระบบความคิด สามารถแยกแยะและวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับ
จิตใจ: อยากเป็นผู้ใหญ่และมีพฤติกรรมเลียนแบบผู้ใหญ่เพื่อแสดงออกว่าโตแล้ว
สังคม: ต้องการการยอมรับในสังคม และเลือกรับสิ่งที่เป็นกระแสหลักได้ง่าย
ระวัง! : วัยรุ่นเป็นวัยแห่งการแสวงหาต้นแบบในอุดมคติ เหล่าดารานักร้องขวัญใจวัยรุ่น (Idol) จึงมีอิทธิพลอย่างสูงต่อความคิดและพฤติกรรมของวัยรุ่น ทั้งเรื่องภาพลักษณ์และการสร้างอารมณ์ร่วม
สิ่งนี้ที่เรา Like! : เพื่อนและความรักคือความสนใจหลักของวัยรุ่น ร่วมไปกับสิ่งทั้งหลายที่กำลังอยู่ในกระแส ไม่ว่าจะเป็นดารานักร้อง ภาพยนตร์ ดนตรี แฟชั่น หรือเทคโนโลยีการสื่อสาร

แนวทางของรายการสำหรับเด็กวัยรุ่น

นำเสนอเนื้อหาที่วัยรุ่นสนใจจริงๆ รวมถึงเรื่องการเข้าใจตัวเองทั้งด้านการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย อารมณ์ จิตใจ ความสัมพันธ์กับเพศตรงข้าม โดยมีความบันเทิงควบคู่ไปกับสาระ ช่วยส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพในด้านต่างๆ (เช่น กีฬา ดนตรี การเรียน ฯลฯ) และเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้วัยรุ่นได้แสดงความสามารถ

หมายเหตุ การผลิตรายการแต่ละช่วงวัยนั้นควรจะกระตุ้นจินตนาการ ส่งเสริมให้เด็ก เยาวชนเกิดการเรียนรู้ต่อยอด ค้นคว้า และทดลองทำต่อ ด้วยตัวเอง