หนุนกองทุนสื่อฯต้องเป็นอิสระ

ในเวทีสัมมนาเชิงปฏิบัติการ”สถานการณ์พรบ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์: โอกาสและพื้นที่ในการพัฒนาเด็กและเยาวชน” วันที่ 9 มีนาคม 2558 ณ ห้องวอลลุ่ม (Volume) โรงแรมฮิป ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ ซึ่งจัดโดยสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน เครือข่ายสื่อเด็กเปลี่ยนโลก

การจัดเวทีครั้งนี้เพื่อสร้างความเข้าใจสถานการณ์ของพ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์และระดมความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะของเครือข่ายเพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอเพื่อส่งต่อให้กับคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่จะเกิดขึ้นต่อไป

นางสาวเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน กล่าวถึงความคืบหน้าของ พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ว่า ขณะนี้ได้ผ่านการพิจารณาของ ภานิติบัญญัติ (สนช.)แล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 58 ที่ผ่านมา อยู่ระหว่างการรอลงพระปรมาภิไธยและรอประกาศใช้ภายใน 180 วัน

ในช่วงนี้จะมีการจัดตั้งสำนักงานชั่วคราว รวมถึงสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามกฎหมาย 9 ด้าน โดยประกาศให้เสนอชื่อเข้าไป ซึ่งประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมโดยการสมัครเข้าไปได้ เพื่อความหลากหลายและเหมาะสม ซึ่งกรรมการสรรหา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒินั้นกฎหมายได้กำหนดไว้แล้ว จึงต้องค้นหาผู้เหมาะสมอย่างแท้จริง บทบาทหน้าที่ของกรรมการนั้นจะเข้ามาร่วมกันออกระเบียบ ประกาศ วางแผนนโยบายและแผนปฏิบัติการต่างๆ ตามกฎหมายต่อไป

“ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ทั้งการออกระเบียบต่างๆ เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ที่ควรจะเปิดโอกาสให้ทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาชน ภาคสังคม เข้ามามีส่วนร่วมเสนอแนะต่อแผน หรือมาตรการๆ นโยบายจัดสรรหรือการเข้าถึงกองทุนได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งอยากให้กรรมการตระหนักถึงการมีส่วนร่วม รวมถึงเปิดเผยกระบวนการสรรหาต่างๆ ให้ภาคประชาคม และสังคมได้มีส่วนรับรู้อย่างต่อเนื่อง”

นอกจากข้อกังวลดังกล่าวแล้ว ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชนยังกล่าวต่อว่าขณะนี้ได้มีการยกร่างกฎหมายที่จะจัดตั้งคณะกรรมการดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมถึงการจัดตั้งกระทรวงดิจิตอล และจะนำกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ไปอยู่ใต้กระทรวงใหม่

“การปรับเปลี่ยนโครงสร้างของกองทุนแหล่งที่มาของรายได้ ซึ่งแต่เดิมได้จากกองทุนวิจัยและพัฒนา ซึ่งกองทุนนี้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรทัศน์กิจการวิทยุและกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ว่าจะมีการจัดสรรเงินสนับสนุนให้กับกองทุนฯ นี้ ซึ่งหากมีการยกร่างกฎหมายดังกล่าวและบังคับใช้จริง การนำกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ไปอยู่ใต้กระทรวงใหม่ ทำให้อยู่ภายใต้หน่วยงานราชการ ทำให้ลดความเป็นอิสระในการจัดสรรเงินให้กับกองทุนลดลงไป และหากการทำงานของกระทรวงให้ความสำคัญกับสื่อดิจิตอล และสื่อใหม่ อาจจะมีผลต่อการจัดสรรเงินเข้าสู่กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยฯได้ หากเป็นไปได้อยากให้กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ คงความเป็นอิสระจากหน่วยงานราชการ และให้ความสำคัญกับการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพราะกองทุนนี้จะช่วยส่งเสริมทั้งสื่อสร้างสรรค์ และสร้างกระบวนการเท่าทันสื่อ รวมถึงสร้างนโยบายเชิงบวกซึ่ง กสทช.เองอาจจะไม่ได้ทำในส่วนงานประจำ แต่การสนับสนุนเงินผ่านกองทุนนี้จะทำให้ภารกิจหลายอย่างของ กสทช.เกิดขึ้นในการสร้างความเข็มแข็งให้กับประชาชน สังคม และผู้บริโภคในอีกมิติหนึ่ง”

ด้านเครือข่ายสื่อเด็กเปลี่ยนโลกจะเดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อรัฐสภาในวันที่ 11 มีนาคมนี้ เพื่อให้มีการพิจารณาให้กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์คงความเป็นอิสระของกองทุน ไม่อยู่ภายใต้หน่วยงานราชการ

อนึ่งการจัดเวทีสัมมนาเชิงปฏิบัติการ”สถานการณ์พรบ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์: โอกาสและพื้นที่ในการพัฒนาเด็กและเยาวชน” นั้นจะจัดทั่วทุกภาคของประเทศไทยนั่นคือเวทีภาคเหนือ เมื่อวันที่ ภาคตะวันออก ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา วันที่ 12-13 มีนาคม ภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 16-17 มีนาคม และ ภาคใต้ ที่จังหวัดสงขลา วันที่ 26-27 มีนา เพื่อรวบรวมข้อเสนอต่างๆ ส่งต่อให้กับคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่จะเกิดขึ้นต่อไป